วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔

๑. ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ .. พ.ศ. ....) ตามที่ ศธ.เสนอ และเห็นชอบในหลักการให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับการกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งตามระบบบริหารงานบุคคลใหม่ให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนเงิน ๙๔๐,๐๐๐ บาท

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารตามที่กำหนดให้ได้รับตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.๒๕๓๘

กำหนดให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด

กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการชีพเฉพาะ (วช.) เฉพาะตำแหน่งที่กำหนด และประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) เฉพาะบุคคลที่ปฏิบัติงานโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามที่กำหนด

กำหนดให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ได้รับเงินประจำตำแหน่งผู้บริหาร

กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนสามัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ของตำแหน่งดังกล่าว ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนด

๒. ครม.อนุมัติให้ ศธ.ดำเนินการโครงการเครือข่ายเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (NEdNet) ภายในกรอบวงเงิน ๒,๙๘๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้ใช้จ่ายจากวงเงินเหลือจ่ายของโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๕๒ แผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย สาขาการศึกษา โครงการพัฒนาและขยายเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เพื่อรองรับการศึกษาทั้งระบบ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ และผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.๒๕๕๖ โดยดำเนินการ แบ่งตามพื้นที่ ๕ พื้นที่/โซน ดังนี้

พื้นที่/โซนที่ ๑ ภาคเหนือ (N) ครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดภาคเหนือ จำนวน ๑,๓๑๖ แห่ง ในวงเงิน ๕๘๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท

พื้นที่/โซนที่ ๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (NEN) ครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จำนวน ๑,๖๑๐ แห่ง ในวงเงิน ๕๙๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

พื้นที่/โซนที่ ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (NES) ครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน ๑,๕๔๐ แห่ง ในวงเงิน ๕๖๖,๑๐๐,๐๐๐ บาท

พื้นที่/โซนที่ ๔ ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก (C-E-W) ครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก จำนวน ๑,๙๑๒ แห่ง ในวงเงิน ๗๐๓,๔๐๐,๐๐๐ บาท

พื้นที่/โซนที่ ๕ ภาคใต้ (S) ครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดภาคใต้ จำนวน ๑,๒๒๘ แห่ง ในวงเงิน ๕๔๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท

๓. ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๙๖/๒๕๕๔ ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบาย ๑ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ต่อ ๑ นักเรียน โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

องค์ประกอบ ที่ปรึกษา ประกอบด้วยนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษา/กรรมการ คณะกรรมการ มีดังนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอธิบดีกรมบัญชีกลาง นายอรพงศ์ เทียนเงิน นางอาภัททรา ศฤงคารินกุล นางสาวอรุณภรณ์ ลิ่มสกุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นาวาอากาศเอก สุรพล นะวะมวัฒน์

อำนาจหน้าที่
๑) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ สำหรับนโยบายคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อใช้ในโรงเรียนที่รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการเครือข่ายไร้สายสนับสนุน การใช้งานคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในโรงเรียนตามนโยบายของรัฐบาล

๒) ดำเนินการบูรณาการงบประมาณและประสานการดำเนินงานร่วมกับส่วนราชการและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อนำนโยบายคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องไปสู่การปฏิบัติในระดับชาติ

๓) วางกรอบนโยบายเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๔) ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเอกสารหลักฐานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้

๕) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

คณะอนุกรรมการ ให้มีคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑) คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ มีนายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีนายชินภัทร ภูมิรัตน นายวิรัตน์ พึ่งสาระ และนางสาวอรุณภรณ์ ลิ่มสกุล เป็นอนุกรรมการ

๒) คณะอนุกรรมการด้านการสรรหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต มีนายสุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีนาวาอากาศเอก สุรพล นะวะมวัฒน์ และผู้แทนศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ

๓) คณะอนุกรรมการประสานงานโครงข่าย เทคโนโลยี และการสื่อสารสารสนเทศ มีนายสุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีนายศักดิ์ เสกขุนทด นางอาภัททรา ศฤงคารินกุล เป็นอนุกรรมการ

๔) คณะอนุกรรมการด้านความเหมาะสมและความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล มีนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีพลตำรวจตรี ประวุฒิ ถาวรศิริ และพันตำรวจเอก ญาณพล ยั่งยืน เป็นอนุกรรมการ

นอกจากนี้ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานตามนโยบายของคณะกรรมการฯ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นโดยให้เบิกจ่ายจาก ศธ. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: