วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาพิจารณ์ สพฐ.ยังไม่พบข้อยุติสพม.-สพป.ยังมีความต้องการต่างกัน

ผลจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชาพิจารณ์การศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยนำเสนอรูปแบบเพื่อการพิจารณาใน 2 กรณี คือกรณีแรก แบ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ออกเป็น 82 เขตสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)186 เขต รวมเป็น 268 เขต และกรณีที่ 2 แบ่ง สพม. 77 เขต สพป. 148 เขต รวม 225 เขตทำให้เกิดความเห็นแตกต่างกันในหลายประการ

นายวิทยา บริบูรณ์ทรัพย์ นายกสมาคมโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สพม.ที่ตั้งขึ้นมา 42 เขตนั้นทำงานมาประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว ซึ่งการทำงานก็พบว่าใน สพม.บางเขตที่ต้องดูแลครอบคลุมหลายจังหวัดนั้น ก็ค่อนข้างประสบปัญหา เช่น สพม. 10 ที่ต้องดูแลจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ซึ่งแม้จะมีเส้นทางเชื่อมต่อกันแต่ระยะทางก็ห่างไกลกันมาก การดูแลจึงไม่ทั่วถึงรวมทั้งความแตกต่างของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ก็มีผลต่อการทำงาน ดังนั้น ทางเขตมัธยมฯได้พูดคุยกันนั้นยืนยันตรงกันว่าควรแบ่งเขตมัธยมศึกษาจังหวัดละ 1 เขต เป็น 77 เขตและคงจำนวน สพป.ไว้ที่183 เขตเท่าเดิมไม่ต้องไปลดไปเพิ่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในบริหารโรงเรียนมากกว่าเพราะดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่ไม่เห็นด้วยกับการจะแบ่งเขตมัธยมเป็น 2 เขต ในจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครราชสีมาและนครศรีธรรมราช เพราะเชื่อมั่นว่าการมีเพียงเขตเดียวในจังหวัดจะทำให้การทำงานมีความเป็นเอกภาพมากกว่า โดยการทำงานสามารถดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยได้

ด้าน นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร ผู้แทนผอ./รองผอ.สพท. ในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องของอัตรากำลังที่อาจจะไม่เพียงพอและจะหามาจากไหน อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ก็ไม่ให้เพิ่มอัตรากำลัง เพราะฉะนั้นอยากเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ หรือให้วางระบบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีเพราะทุกวันนี้เขตพื้นที่แต่ละแห่งอัตรากำลังก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตพื้นที่นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียและต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้การศึกษาไทยลืมเรื่องการพัฒนาคุณภาพของเด็กเพราะมัวแต่มุ่งกันแต่ทำโครงสร้างแค่นั้น

นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 4 กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับมี สพม. 77 เขตและคงจำนวนสพป.ไว้เท่าเดิม ส่วนปัญหาเรื่องอัตรากำลังนั้น ในเขตพื้นที่ตนนั้นแก้ไขปัญหาด้วยการใช้อัตราจ้าง และมองว่าเขตพื้นที่การศึกษานั้นไม่จำเป็นต้องมีกำลังคนมากแต่กำลังคนที่มีต้องมีคุณภาพ หากยังขาดคุณภาพก็เป็นหน้าที่ของผอ.สพท.ที่ต้องพัฒนาคนของตนเองให้มีคุณภาพให้ได้แต่ที่ขาดกำลังคนไม่ได้ก็คือโรงเรียนที่เราต้องสนับสนุนให้เต็มจำนวน เพราะกรณี สพท.นั้นหากขาดแคลนก็สามารถอาศัยความช่วยเหลือจากท้องถิ่น หรือผู้แทนราษฎรในพื้นที่มาช่วยกันพัฒนาแก้ไขหรือให้การสนับสนุน

สำหรับ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)กล่าวว่า แนวคิดของแต่ละท่านในครั้งนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปแต่จะเป็นเพียงการรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะซึ่งจะไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป จากที่รับฟังส่วนใหญ่นั้น สพป.ยืนยันที่จำนวนเดิม 183 เขต หากมีปัญหาว่าการดูแลของเขตไหนกว้างยาวไม่เท่ากันก็ให้ทำแผนบริหารภายใน แต่จะไม่มีการเพิ่มเขตเพราะกำลังคนของ สพป.นิ่งอยู่แล้วส่วน สพม.นั้นก็ต้องการให้มีจังหวัดละ 1 เขต เป็น77 เขต เพื่อให้การทำงานคล่องตัวและอิสระในการทำงานส่วนอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอก็คงไม่น่ากังวลเพราะจะมีอัตราจ้างส่วนหนึ่งที่ สพฐ.จัดส่งไปให้ และเขตพื้นที่เองก็มีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นดีก็จะทำให้มีทรัพยากรและบุคลากรเพิ่มในการทำงาน และเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศเขตพื้นที่มีคนแค่ 7 คน ก็ยังสามารถทำงานได้ดังนั้น ถ้าเราคิดในเชิงว่าเราทำได้ ก็จะทำได้ แต่ถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้ ขาดเงิน ขาดคน เราก็จะทำไม่ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แทบทุกเขตพื้นที่ฯ คนแทบเดินชนกันตาย ส่วนงานไม่ไปไหนเลย มาสาย กลับก่อน ลองแอบมาดูซิครับ อย่ามาแบบเอิกเกริก แล้วท่านจะรู้ความจริง