วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนางบุญรื่น ศรีธเรศรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลัก องค์การมหาชน และองค์กรในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

•ให้ ๕ องค์กรหลัก + ๗ องค์กรในกำกับ ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก
รมว.ศธ.กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักตั้งแต่ครั้งนี้เป็นต้นไป ได้ขอให้ผู้บริหาร ๕ องค์กรหลัก และ ๗ องค์กรในกำกับ คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ฯ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และตัวแทนจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวแทนจากบอร์ดต่างๆ เข้าร่วมประชุมพร้อมกันด้วย เพื่อให้ทิศทางขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายเป็นไปด้วยความเข้าใจถูกต้องตรงกัน

•เตรียมประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ๒๕๕๕ ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ศธ.จะประกาศ "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ๒๕๕๕" ในวันที่ ๑-๒ กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้งขอให้มีเรื่องข้อมูลของหลักสูตร ๗ กลุ่มอาชีพที่จะประกาศใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยดำเนินการร่ีวมกับ สพฐ. พร้อมทั้งขอให้กลุ่มงานวิจัยประสานกับนักวิจัยมาเปิดแสดงด้วย พร้อมทั้งกำชับว่ามหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับหลักสูตรการมีงานทำของนักเรียน เพราะจะเป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ ศธ.

•ย้ำให้ประสาน ๘ หน่วยงานในการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ศธ.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ๘ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการจัดทำแผนการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยกว่า ๕ ล้านคน ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องในแต่ละช่วงอายุ โดย รมว.ศธ.ได้ย้ำในที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พิจารณาได้ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕

•การเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเป็น ๒๖๘ เขต

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายความเหมาะสมและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอว่า ได้รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย รูปแบบการบริหารจัดการเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว พบว่าเห็นควรเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเป็น ๒๖๘ เขต แยกเป็นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ๘๒ เขต (๗๗ จังหวัดละ ๑ เขต ยกเว้น กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ ๒ เขต) และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑๘๖ เขต หลังจากนี้ สพฐ.จะนำเสนอสภาการศึกษาเพื่อพิจารณาประกาศปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ ภายในเดือนมกราคมนี้

•ศธ.ออกประกาศแนวทางการดำเนินงานสำหรับ "พ.ศ.๒๕๕๕ ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ"

เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ รมว.ศธ.ได้ลงนามในประกาศนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสำหรับ "พ.ศ.๒๕๕๕ ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ" (English-Speaking Year 2012) โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ๕ ข้อคือ

๑. ส่งเสริมให้สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการกำหนดวันภาษาอังกฤษ สัปดาห์ละ ๑ วัน เพื่อใช้เป็นวันที่จัดกิจกรรมภาษาอังกฤษ เช่น จัดมุมภาษาอังกฤษ หรือ English Speaking Zone ภาษาอังกฤษวันละคำ การประกวดแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ การจัดค่ายภาษาอังกฤษ เป็นต้น
๒. ส่งเสริมให้สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำสื่อ และเผยแพร่ความรู้ภาษาอังกฤษที่มีความหลากหลายให้แก่ประชาชนให้มากขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร แผ่นพับต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการจัดรายการภาคภาษาอังกฤษ เพื่อให้บุคลากรได้รับโอกาสในการพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อโทรคมนาคมต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) สถานีวิทยุของสถานศึกษาต่างๆ เช่น R-radio สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
๓. ส่งเสริมการจัดอบรมเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา โดยจะร่วมมือกับสถาบันทางภาษาและหน่วยงานต่างๆ ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับครู อาจารย์ การประชุมทางวิชาการ เป็นต้น
๔. ส่งเสริมให้สถานทูต องค์กรระหว่างประเทศ สมาคมโรงเรียนนานาชาติ และหน่วยงานต่างๆ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เช่น การจัดโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง การจัดค่ายเยาวชนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
๕. ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษของประชาชน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะผนึกความร่วมมือกับสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนเครือข่ายที่มีอยู่ เช่น โรงเรียนนานาชาติ สถาบันสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา/ฝึกอบรมให้แก่นักเรียน ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาความรู้ภาษาอังกฤษ รวมถึงการจัดโครงการ/กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ศธ.ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเช่นกัน โดยในการประชุมครั้งนี้ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ.ได้รายงานสรุปผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการครั้งที่ผ่านมาเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งจัดทำเป็นรายงานการประชุม (Summary of the Meeting) เป็นเอกสารภาษาอังกฤษเช่นกันด้วย

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: