วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นโยบายโรงเรียนขนาดเล็ก

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมทางไกล (Video Conference) กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เรื่อง มอบนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ DOC ชั้น ๙ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1. เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียน โดย ศธ.จะให้การดูแลและอบรมเด็กเหมือนลูกหลานของตนเอง เพื่อให้เด็กมีการศึกษาและมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ 2. เปลี่ยนครูผู้สอนให้เป็นผู้อำนวยการหรือควบคุมการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีจินตนาการมากขึ้น ให้มันสมองของเด็กบินได้ (Fly) โดยไม่มีขอบเขตจำกัด 3. ปรับการเรียนการสอนในแต่ละวิชา จากเรียนเนื้อหาทั้ง ๑ ชั่วโมง เป็นการเรียนเนื้อหาเพียง ๑/๒ ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือให้เป็นการถกเถียง แสดงความคิดเห็น สนทนาร่วมกันระหว่างเด็กกับครู เพื่อให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก อันเป็นการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก หรืออาจมีเวลาเหลือให้เด็กมีกิจกรรมค้นคว้าผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 4. การเรียนรู้แบบองค์รวม (Mind Map) เพื่อต้องการให้เด็กได้ใช้สมองได้คิด ได้ใช้สมองทำงาน เพราะเด็กในวัยเรียน มีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีความรวดเร็วต่อการเรียนรู้ เมื่อได้คิด ได้จินตนาการ ก็จะทำให้สมองได้รับการพัฒนาและแตกสาขาออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ ศธ. จะต้องจัดการศึกษาที่กระตุ้นการพัฒนาสมอง และเชื่อว่าการสอนเช่นนี้จะดีกว่าการสอนเป็นเรื่องๆ แบบเดิม ซึ่งจะทำให้เด็กขาดจินตนาการ 5. หนี้สินครูและการเรียกรับเงินจากครูทุกระดับ รวมทั้งการสอบต่างๆ ขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจ เพื่อป้องกันการคอรัปชัน รมว.ศธ.ได้มอบนโยบาย "การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก" ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. ต้องการให้โรงเรียนขนาดเล็กจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีอนาคต ไม่ได้ต้องการยุบโรงเรียน เพียงแต่เสนอแนะให้ไปร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ เพื่อต้องการเน้นให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ซึ่งต้องทำความเข้าใจครูผู้สอน รวมทั้งผู้ปกครอง และชุมชนด้วย 2. กรณีตัวอย่าง แก่งจันทร์โมเดล ซึ่งเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดเลย จำนวน ๔ แห่งไว้ด้วยกัน มีนักเรียนเพียง ๑๒๐ คน โดยแก่งจันทร์โมเดล (Kangjan Model) เริ่มจากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง ผู้อำนวยการบ้านนาโม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาด และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคกเว้า จังหวัดเลย ร่วมกับรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต ๑ ประชุมหารือเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาในอนาคตของโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมารับทราบ ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กทั้ง ๔ แห่ง รวมทั้งได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยการจัดประชุมชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนา ซึ่งผู้ปกครองก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้ชื่อโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลหาดคัมภีร์ เครือข่ายแก่งจันทร์ ซึ่งได้ใช้รูปแบบร่วมกันเป็นเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนบ้านนาโม้สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ รวมเป็น ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๑-๒ จำนวน ๒ ห้องเรียน โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ รวมเป็น ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๔ จำนวน ๑ ห้องเรียน โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ สอนชั้น ป.๕-๖ จำนวน ๒ ห้องเรียน และโรงเรียนบ้านคกเว้า สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ จำนวน ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๓ จำนวน ๑ ห้องเรียน สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนทั้ง ๔ โรงเรียน ได้ดำเนินการร่วมกันในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร กิจกรรมพัฒนานักเรียน กิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมผูกเสี่ยว รวมทั้งการพัฒนาครูร่วมกันด้วย เช่น การอบรมครู การศึกษาดูงาน การประชุมวิชาการร่วมกันเดือนละ ๒ ครั้ง และการร่วมบริหารงานสนับสนุนอื่นๆ ทั้งงานวิชาการ งานบริหารบุคคล งานบริหารงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป 3. กรณีตัวอย่าง โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการควบรวม ๓ โรงเรียน มาร่วมพัฒนาจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้ง ๓ โรงเรียน จนถึงขณะนี้โรงเรียนทั้ง ๓ โรงเรียน ก็ยังไม่มีโรงเรียนใดถูกยุบ ในขณะเดียวกันประชาชนได้รับความพึงพอใจและมีความศรัทธาต่อผู้บริหารและครูมากขึ้น 4. ในการควบรวมโรงเรียน อาจจะขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อรถยนต์ หรือจะนำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล มาซื้อรถยนต์ปรับอากาศ ๑๖ ที่นั่ง พร้อมทั้งมีโทรทัศน์ เพื่อให้บริการรับ-ส่งนักเรียน/ครู ทั้งยังสามารถที่จะใช้รถยนต์ในการรับ-ส่งนักเรียนและครูไปทัศนศึกษาในช่วงวันหยุดได้ด้วย 5. หากโรงเรียนใดที่ยังไม่สามารถจะควบรวมได้ เช่น โรงเรียนบนดอย หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเน้นการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม หรือเรียนจากคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากขึ้น พร้อมทั้งให้ผู้ปกครอง ชุมชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: