วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ก.ค.ศ.เห็นชอบหลักเกณฑ์การสอบ รองผอ/ผอ.สถานศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งเปิดกว้างให้ข้าราชการครูตั้งแต่ระดับชำนาญการ สามารถสอบข้ามสายงานประถมและมัธยมศึกษาได้ แต่ข้อสอบสายประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งจะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นผู้ออกข้อสอบนั้น จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นการให้โอกาส ไม่แบ่งแยก เป็นรั้วเตี้ยๆ ที่สามารถข้ามไปมาได้ และการขึ้นบัญชีผู้สอบได้ จะขึ้นบัญชีไว้ในจำนวนที่เหมาะสมที่จะเรียกลำดับถึงภายใน ๒ ปีเท่านั้น เพื่อให้รับรู้แต่แรกโดยเร็วที่สุด ถือเป็นการให้โอกาสและความจริงแก่ครูได้ตัดสินใจอนาคตในแต่ละวันได้เลย หลักเกณฑ์ ๑. กลุ่มทั่วไป คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก - รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา และดำรงตำแหน่งครูไม่น้อยกว่า ๔ ปีสำหรับปริญญาตรี และ ๒ ปีสำหรับปริญญาโทขึ้นไป และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา - ผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา และดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ๑) รอง ผอ.สถานศึกษา ๒) รอง ผอ.สพท. ๓) ผช.ผอ.สพท. ๔) จนท.บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๕) ศึกษานิเทศก์หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าหน่วย หรือ ผอ.กลุ่ม มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี ๖) ครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการ ๗) ดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า คือ ก) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีหรือเคยมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการ ข) รอง ผอ.สถานศึกษา และผู้ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์บริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม เป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้การบรรจุแต่งตั้งต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ที่ ก.ค.ศ.กำหนด รวมทั้งต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ๒. กลุ่มประสบการณ์ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก - รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา และดำรงตำแหน่งครูไม่น้อยกว่า ๔ ปีสำหรับปริญญาตรี และ ๒ ปีสำหรับปริญญาโทขึ้นไป และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา - ผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา และดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ๑) รอง ผอ.สถานศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารอง ผอ.ชำนาญการ ๒) รอง ผอ.สถานศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารอง ผอ.ชำนาญการพิเศษ ๓) รอง ผอ.สพท.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารอง ผอ.สพท.ชำนาญการพิเศษ ๔) ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นฯ ระดับชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หรือหัวหน้าหน่วย หรือ ผอ.กลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี ๕) ครู มาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับวุฒิปริญญาตรี และ ๒ ปีสำหรับปริญญาโท และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกกว่า ๓ ปี ๖) ครูชำนาญการ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการให้เป็นผู้บริหารติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปี รวมทั้งต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งนี้ กรณีที่ผู้สมัครมีคุณสมบัติครบทั้ง ๒ กลุ่ม ให้สมัครได้เพียงกลุ่มเดียว สำหรับตำแหน่งว่าง ให้ส่วนราชการทั้ง สพฐ. สอศ. กศน. และวิทยาลัยชุมชน กำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุแต่งตั้งสำหรับกลุ่มทั่วไปและกลุ่มประสบการณ์ ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ ๕๐:๕๐ หลักสูตรการประเมิน กลุ่มทั่วไป ๒๐๐ คะแนน โดยการสอบข้อเขียนคือ ๑) ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๕๐ คะแนน ๒) ความสามารถในการบริหารงาน ๑๐๐ คะแนน ๓) สมรรถนะทางการบริหาร ๕๐ คะแนน ส่วนกลุ่มประสบการณ์ ๓๐๐ คะแนน แยกเป็นความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๒๐๐ คะแนน แยกเป็นความรู้ทั่วไปฯ ๕๐ คะแนน ความสามารถในการบริหารงาน ๑๐๐ คะแนน สมรรถนะทางการบริหาร ๕๐ คะแนน และประเมินประสบการณ์และผลงานอีก ๑๐๐ คะแนน การรับสมัคร ผู้สมัครสังกัด สพฐ.ต้องสมัครเป็นผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพป. สพม. หรือสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้ามีคุณสมบัติครบทั้ง ๒ กลุ่มให้สมัครได้กลุ่มเดียว โดยให้เลือกสมัครในเขตพื้นที่การศึกษาที่ประสงค์จะบรรจุแต่งตั้งได้ไม่เกิน ๕ เขตพื้นที่การศึกษา ผู้ผ่านเกณฑ์ผ่านการประเมิน ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ การบรรจุและแต่งตั้ง ให้บรรจุแต่งตั้งผู้ขึ้นบัญชีจากบัญชีเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มประสบการณ์และกลุ่มทั่วไปในสัดส่วนที่เท่ากัน กรณีมีตำแหน่งว่าง ๑ ตำแหน่ง ให้บรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีกลุ่มประสบการณ์ก่อน ครั้งต่อไปให้บรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีกลุ่มทั่วไปสลับกันไป กรณีบัญชีในกลุ่มประสบการณ์ หรือกลุ่มทั่วไป กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหมดบัญชีเขตพื้นที่การศึกษาก่อน และบัญชียังไม่ครบอายุการขึ้นบัญชี ให้บรรจุและแต่งตั้งจากบัญชีรวมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีผู้ขึ้นบัญชีผู้ใดที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพื้นที่การศึกษาใดแล้ว ให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีในเขตพื้นที่การศึกษาทุกบัญชี และหากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในบัญชีรวมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีเขตพื้นที่การศึกษาทุกบัญชีด้วย สำหรับสังกัดส่วนราชการอื่น การบรรจุและแต่งตั้งผู้ขึ้นบัญชีตามลำดับที่ และมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง และผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ผู้ที่ขึ้นบัญชีที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ ๔ อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๔ ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ วิธีการ ๑. ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน/ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้ ๑) ประกาศรับสมัครและดำเนินการสรรหา โดยระบุคุณสมบัติ หลักสูตร วิธีการคัดเลือก เกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชี และข้อความอื่นๆ ที่จำเป็นให้ผู้สมัครทราบ ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนวันรับสมัคร และมีระยะเวลารับสมัครไม่น้อยกว่า ๗ วัน ๒) พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ๒. ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา/อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ บรรจุและแต่งตั้งผู้ขึ้นบัญชีตามลำดับที่ ที่ผ่านการพัฒนาแล้ว และมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนด ๓. เมื่อบรรจุและแต่งตั้งผู้ขึ้นบัญชีแล้ว ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/ส่วนราชการ ส่งสำเนาคำสั่ง จำนวน ๑ ชุด ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ภายใน ๗ วัน นับแต่วันออกคำสั่ง ๔. ให้ส่วนราชการกำหนดนโยบาย หรือแนวทางในการบริหารจัดการในการดำเนินการสอบคัดเลือกให้มีมาตรฐาน ประสิทธิภาพ และคุ้มค่า ๕. ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ได้ ให้เสนอ ก.ค.ศ.พิจารณา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: