วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประตูสู่ความเป็น "ครูสอนดี" ยุคใหม่กับ "ไอซีที"

"ครูต้องพยายามดึงตัวเองเช้าหาไอซีทีให้มากขึ้น เพราะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนของลูกศิษย์และใช้ในการพัฒนาศักยภาพครูเองด้วย" สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดฝึกอบรม "การใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 2/2555" ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เครือข่ายสสค.จำนวน 29 คน ตั้งแต่หลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์ขึ้นพื้นฐาน, หลักสูตรเชื่อมโยงการใช้งานอีเมลและโซเซียลมีเดีย ก่อนจะยกระดับเป็นหลักสูตรสื่อการสอนมัลติมีเดียในครั้งต่อไป โดยเชื่อมโยงกับวิทยากรที่มาจากศูนย์ไอซีทีชุมชนนำร่อง 25 แห่งทั่วประเทศ โดยมีนายสรวี บรรลืทรัพย์ ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนตำกบลบ้านเพรียง จ.สมุทรปราการและน.ส.สายสุณีย์ แสงก่ำ ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนบ้านศาลเจ้าพ่อ จ.นครราชสีมา ร่วมเป็นวิทยากร หลังจากที่สสค.ได้เซ็นสัญญาทำความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค.ได้กล่าวว่า งานของสสค.เป็นการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ประเด็นสำคัญคือ การเชื่อมโยงภาคธุรกิจมาช่วยพัฒนาการศึกษา เน้นทักษะวิชาชีพ ซึ่งมีต้นแบบที่ดีทั้งไต้หวัน เยอรมัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ที่ลงทุนใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน "มีคนทักว่า หากเราพัฒนา ICT เร็ว จนทำให้คนที่เข้าถึง ICT อยู่แล้วได้เปรียบ ก็จะสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องทบทวนว่า ทำอย่างไรให้ ICT ไม่เป็นตัวขยายความเหลื่อมล้ำ สสค.จึงเชื่อมโยงงานที่แต่ละหน่วยงานที่ทำอยู่แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายครูสอนดี ที่เข้าไปช่วยเด็กผู้ขาดโอกาสในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับวิทยาการและศูนย์ไอซีทีนำร่องที่เข้มแข้งจากกระทรวงไอซีที ร่วมกับองค์ความรู้ของสกว.และสวทช. ในการทดลองพัฒนาต้นแบบ ICT ซึ่งอยู่ในช่วง Develop & Research (D&R) เป็นตัวนำรองเพื่อพัฒนาตัวต้นแบบไว้ทดลองในโรงเรียนเพื่อให้ครูและเด็กใช้ได้จริงก่อนขยายไปทั่วประเทศ" ผู้จัดการสสค.กล่าว และเพิ่มเติมว่า "กระทรวงไอซีทีมีนโยบายยก ICT ชุมชนให้เข้าถึงชาวบ้านได้จริง โดยเริ่มต้นที่ 25 แห่งที่เป็น ICT ชุมชนแนวหน้า เข้ามาช่วยดำเนินการร่วมกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ ICT เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงเด็กได้จริง คือ "คน" และถ้าเป็นประตูไปถึงเด็กเยาวชนก็อาจจะได้เฉพาะบริเวณเด็กที่ใกล้โรงเรียน แต่ถ้าติดอาวุธให้ครู ก็จะได้เด็กจำนวนมาก และทำให้เกิดความยั่งยืนได้ด้วยการสร้างเครือข่ายครูและเด็กที่สสค.มีอยู่ไว้กับศูนย์ไอซีทีชุมชนที่กระจายตัวทั่วประเทศ" ครูลักขณา เครือวัลล์ ครูนาฏศิลป์โรงเรียนอนุบาลชุมชนบางบ่อ (คุภพิพัฒน์รังสรรค์) จ.สมุทรปราการ หนึ่งใน "ว่าที่ครูสอนดี" เปิดใจถึงการเรียนไอซีทีว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูยุคศตวรรษที่ 21 แม้กระทั่งการเรียนการสอนนาฏศิลป์ที่ใครอาจเข้าใจว่าเป็นศาสตร์ยุคโบราณ แต่ลืมนึกไปว่า "ดนตรี" เป็นภาษาสากลทำให้เป็นจุดแข็งในการเรียนรู้ร่วมกันบนโลกออนไลน์ "นาฏศิลป์ดนตรีอาจพิเศษกว่าการเรียนรู้แบบอื่นเพราะมีความเป็นสากล ไม่ได้ยึดติดอยู่กับกระดาษเพียงแผ่นเดียว การเรียนจึงเริ่มจากการประยุกต์ใช้รูปแบบการฝึกสอน เทคนิคท่วงทำนอง และการนำเสนอที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กและครูผู้สอน ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ฉะนั้นครูต้องพยายามดึงตัวเองเข้าหาไอซีทีให้มากขึ้น เพราะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนของลูกศิษย์ และใช้ในการพัฒนาศักยภาพครูเองด้วย" ครูลักขณาเล่า การมาร่วมอบรมครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ตัวเอง เหมือนเราก้าวขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีคนเปิดประตูรับ มันก็ไม่ได้ ครูลักขณา ยังกล่าวด้วยว่า "ตัวเองเคยลงทุนซื้อโน๊ตบุ๊คไว้ที่บ้านเป็นปีแล้วแต่ไม่เคยเปิด รู้สึกกลัวไม่ค่อยกล้าสัมผัส แต่พอได้มาเรียนพื้นฐานกับเพื่อนครูที่ไม่เป็นเหมือนกัน แล้วทำได้ มีอีเมล อีเฟสบุ๊คของตัวเองก็เริ่มรู้สึกสนุก ต่อไปจากที่เคยให้เพื่อนครูรุ่นใหม่เปิดหาข้อมูลอัพเดตในอินเตอร์เน็ตก็มั่นใจว่า ต้องทำเองได้" ส่วนครูวิชิต คำหย่อน วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา อีกหนึ่ง "ว่าที่ครูสอนดี" ผู้สอนเด็กขาดโอกาส จ.นครราชสีมา กล่าวถึงการสมัครมาอบรมไอซีทีครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะเปิดโลกตัวเองในห้องเรียนออนไลน์ อยากจะรู้ว่าสังคมของครูออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อกลับไปพัฒนาตัวเอง และยกระดับการเรียนการสอนทั้งในห้อง และนอกห้องที่มักได้จากประสบการณ์ตรง "ผมสอนวิชาโยธา ก่อสร้างและสถาปัตยกรรมในระดับ ปวช.และปวส. ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุ อุปกรณ์ การคำนวนความคุ้มค่าราคา ฉะนั้นการค้นหาข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งแต่ก่อนจะมีหนังสือที่ประมวลราคาพื้นฐานในแต่ละปีออกมา แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สงคราม การเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบทั้งสิ้น ในฐานะครูผู้สอนจึงต้องเรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้ไอซีทีให้เป็นประโยชน์" ครูวิชิตกล่าว และสรุปว่า "หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผมรู้สึกคิดตรงกันกับ ดร.กฤษณพงษ์ (กีรติกร) ประธานกรรมการสสค.คนที่ 2 ที่ให้เกียรติกล่าวขอบคุณพวกเราแทนเด็กว่าเราเปรียบเหมือนครูแม่ข่ายที่จะช่วยขยายงานในพื้นที่ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนั้น ผมก็คิดว่า เป็นโอกาสดีที่ครูผ่านการฝึกอบรม ต้องกลับไปทำงานกันต่อเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะการเรียนการสอนยุคใหม่ที่แม้จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาอยู่บ้างแต่ให้ขอคิดว่า แม้ลูกศิษย์หรือครูจะจนเงิน แต่ต้องไม่จบปัญญาในการพัฒนาตัวเอง!" ครูท่านไหนสนใจสามารถติดตามการเปิดอบรมครั้งต่อไปได้ที่ www.QLF.or.th และที่ทวิตเตอร์@QLFthailand หรือที่ Facebook http://www.facebook.com/QLFthailand ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: