วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

One Tablet One per Child

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย ๑ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ ๑ นักเรียน (One Tablet One per Child) เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าวว่า คาดว่าในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ นี้ อาจจะยังได้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่ครบทั้งหมด เพราะจะต้องใช้เวลาผลิตถึง ๔ เดือน จึงต้องทยอยแจกนักเรียนตามความพร้อม ถ้านักเรียนคนใดที่ยังไม่ได้รับ ก็ต้องเรียนกับหนังสือไปก่อน สำหรับหลักการในการแจก รมว.ศธ.คาดว่า จะมอบให้กับนักเรียนไปเลย โดยไม่ต้องนำมาคืนเมื่อหมดปีการศึกษา เพราะคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตที่จะซื้อมีราคาเพียง ๒,๔๐๐ บาท ใช้เพียง ๓ ปีก็จะกลายเป็นแค่พลาสติกแล้ว และถ้าจะต้องจัดซื้อใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณอีก ๓,๐๐๐ ล้านบาท ก็ถือเป็นงบประมาณเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการซื้อเรือรบ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.ได้กำหนดเนื้อหา (Content) เพื่อบรรจุในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแล้ว ซึ่งจะเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ (ป.๑) ซึ่งประกอบด้วย ๑. หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ใน ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน ๘ เล่ม ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ๑ เล่ม รายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ ๑ เล่ม รายวิชาพื้นฐานคณิตศาสตร์, ภาษาไทย ๒ เล่ม รายวิชาพื้นฐานชุดภาษาเพื่อชีวิต “วรรณคดีลำนำ” และ “ภาษาพาที”, ภาษาอังกฤษ ๑ เล่ม PROJECTS : Play and Learn Student’s Book และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ๓ เล่ม รายวิชาพื้นฐานพระพุทธศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์และภูมิศาสตร์ ๒. Learning Object อีกจำนวน ๓๕๐ หน่วย ซึ่ง ศธ.ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้ทำการคัดเลือก Learning Object ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนชั้น ป.๑ และขณะนี้ ศธ.ได้จัดส่งเนื้อหาทั้งหมดไปให้ SIPA แล้ว ซึ่งจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 4GB ฉะนั้นในภาพรวมหน่วยความจำที่จะใช้อยู่ที่ 8GB จึงยังมีพื้นที่สำหรับให้นักเรียนได้ทำการบ้าน หรือบรรจุหลักสูตรทางจริยธรรม เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การสอนให้เด็กรักและหวงแหนของตนเอง สำหรับการเตรียมการรองรับของสถานศึกษา โดย สพฐ. และ กศน.กำลังเตรียมการเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะต้องสำรวจเส้นรุ้ง เส้นแวง ของทุกโรงเรียนในประเทศไทย รวมทั้งสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์ กศน.ตำบลด้วย เพื่อสำรวจสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยแบ่งสถานศึกษาเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่สีเขียว - มีความพร้อมที่สุด มีห้องเรียน มีไฟฟ้า และมีระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานอยู่เป็นประจำ กลุ่มนี้จะสามารถติดตั้งกล่องสัญญาณได้ทันที โรงเรียนในพื้นที่นี้อาจจะได้รับคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในล็อตแรก เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด กลุ่มพื้นที่สีเหลือง - มีไฟฟ้า มีห้องเรียน มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแต่ไม่แรงมาก หรือยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต จะต้องทำการเพิ่มสัญญาณให้ก่อน กลุ่มพื้นที่สีแดง - อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ซึ่งจะต้องจัดหาและเตรียมความพร้อมให้ต่อไป ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: