วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติการศึกษาไทย ไร้ระบบรับผิดชอบ

“สกู๊ปหน้า 1” ฉบับเมื่อวานนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นคุณภาพการศึกษาของไทยนับวันตกต่ำถอยหลังลงคลอง ยิ่งนำผลทดสอบระดับนานาชาติมาเปรียบเทียบ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัด คุณภาพ “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” เพราะเรียนหนัก จำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่า...แต่ผลสอบกลับแพ้ประเทศที่เรียนน้อยกว่าซะอีก หลายคนอาจจะเห็นต่าง...เป็นไปได้อย่างไรที่การศึกษาไทยแย่ถึงขนาดนั้น ในเมื่อที่ผ่านมา มีการสอบแข่งขันระดับโลก แข่งขันโอลิมปิกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยจากโรงเรียนมีชื่อเสียง คว้าเหรียญทอง เหรียญเงินกลับมาอวดคนไทยได้ทุกปี...จะหาว่าคุณภาพการศึกษาไทยไม่ดีได้อย่างไร ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หนึ่งในทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ อดีตเคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทยเมื่อปี 2526 และ 2527 กลับมองว่า ปรากฏการณ์เด็กไทยได้เหรียญทองโอลิมปิก เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนไทย เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ลูกคนรวย เรียนโรงเรียนดัง คุณภาพสูง...ในขณะที่ลูกชาวบ้านทั่วไป ลูกคนจน เรียนในโรงเรียนทั่วไป ได้คุณภาพการศึกษาอีกระดับ เรื่องแบบนี้มีมาช้านานและปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองไทยไม่มีเรื่องเช่นนี้ เพราะนี่คือต้นตอของแป๊ะเจี๊ย ที่ยังไม่มีรัฐมนตรี ด็อกเตอร์คนไหนแก้ได้ และที่บอกว่า...เมืองไทยได้ขยายโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ที่ผ่านมามีการตั้งกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่มัธยมปลายจนถึงปริญญาตรี แทนที่จะช่วยให้เด็กไทยมีการศึกษาอย่างเท่าเทียมมากขึ้นตามความรู้สึก...แต่ผลที่ออกมาหาได้เป็นเหมือนที่สังคมไทยรู้สึกไม่ เพราะการวิจัยที่นำอัตราการเข้าเรียนต่อของเด็ก มาแบ่งแยกตามฐานะของครอบครัว ตั้งแต่กลุ่มที่จนสุด ไปจนถึงกลุ่มรวยสุด ปรากฏว่า เด็กกลุ่มจนสุด มีอัตราการเข้าเรียนต่อ ม.ปลาย สูงขึ้นจากเดิมปี 2529 มีอัตราเข้าเรียนต่อ 6.7% ได้เพิ่มเป็น 53.7% ในปี 2552...ขณะเดียวกัน กลุ่มรวยสุด จากเดิมมีอัตราเข้าเรียนต่ออยู่ที่ 44.8% ได้เพิ่มมาเป็น 79.2% ตัวเลขนี้ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ อีกหนึ่งในทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า ช่วยให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าเรียนต่อ ม.ปลาย ของคนจนกับคนรวยลดลงจาก 38.1% เหลือเพียง 25.5% “แต่ตัวเลขการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาหรือปริญญาตรี กลับมีทิศทางตรงข้าม จากเดิมปี 2529 ช่องว่างการเข้าเรียนต่อของคนจนกับคนรวย อยู่ที่ 18.5% มาปี 2552 ช่องว่างถ่างมาเป็น 42.5%” นับแต่มีการจัดตั้ง กยศ. ช่องว่างความเหลื่อมล้ำตรงนี้ เพิ่มมากขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว สะท้อนให้เห็นว่า การช่วยเหลือด้วยเงินเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยให้ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างคนจนกับคนรวยดีขึ้นแต่อย่างใด ดร.ดิลกะ ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้ลูกคนจนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียม นั่นคือ...เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบมีคุณภาพอย่างทั่วถึงด้วย ลูกคนจนถึงจะสามารถเข้าศึกษาต่อได้เหมือนลูกคนรวย เพราะถ้าการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ดี คุณภาพไม่พอ เด็กยากที่จะเข้าศึกษาต่อได้...เรียนไปก็ไม่รอด ไม่จบ ไม่เรียนดีกว่า คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างหากเป็นวิกฤติของการศึกษาไทย ที่จำเป็นจะต้องเร่งรีบกอบกู้แก้ไข “บ้านเราไม่มีระบบตรวจสอบได้ว่า โรงเรียนไหนสอนเด็กมีคุณภาพ พ่อแม่จะเลือกโรงเรียนให้ลูก ไม่มีอะไรมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย ทำได้แค่ดูยี่ห้อโรงเรียนดังเท่านั้นเอง เชื่อตามที่เขาว่าๆ กันมา โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า โรงเรียนนั้นจะสอนได้ดีเหมือนเก่าหรือเปล่า ระบบตรวจสอบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ศมส.หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา เน้นประเมินไปที่ตัวโรงเรียน ครู อาจารย์เป็นหลัก แต่ไม่มีการประเมินเลยว่า เด็กเรียนแล้วจะได้ความรู้ขนาดไหน การประเมินคุณภาพครูก็เช่นกัน เน้นแต่เรื่องนามธรรม ความประพฤติ คุณธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ การประเมินสอนแล้วเด็กจะได้ความรู้มีคุณภาพหรือเปล่า ไม่มีตัวชี้วัด แม้แต่ผลการสอบ O-NET ที่พอจะนำมาใช้ประเมินได้ว่า โรงเรียนแต่ละแห่งสอนแล้วได้ผลยังไง กลับไม่มีการนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นข้อมูลเลือกโรงเรียนให้ลูกหลาน กลับไม่นำมาใช้ประโยชน์ให้กับสังคมแต่อย่างใด เพราะโรงเรียนยี่ห้อดังบางแห่งโวย ผู้บริหารอับอาย รับไม่ได้ผลการสอบตกต่ำกว่ามาตรฐาน” ถ้าเปรียบโรงเรียนเป็นโรงงาน ระบบตรวจสอบที่ใช้กันอยู่ ตรวจกันแค่ดูว่าโรงงานสะอาดแค่ไหน เครื่องไม้เครื่องมือได้มาตรฐาน พนักงานแต่งกายเรียบร้อยหรือไม่เท่านั้นเอง ไม่เคยมีการตรวจดูเลยว่า สินค้าที่ออกจากโรงงาน หรือเด็กที่จบจากโรงเรียนได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานหรือเปล่า ผลที่ได้จากการวิจัย ถ้าจะให้ลูกหลานไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบการประเมินผลใหม่...หันมาใช้ระบบความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ยกเลิกระบบรับรองมาตรฐานของ ศมส.ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แล้วหันมาใช้คะแนนสอบมาตรฐานของนักเรียนมาเป็นตัวประเมินผลโรงเรียนและครูแทน กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดให้มีการสอบมาตรฐานในทุกระดับชั้นเรียน เพื่อเป็นฐานการสร้างระบบความรับผิดชอบทางการศึกษา และต้องเปิดเผยข้อมูลผลการสอบของโรงเรียนแต่ละแห่งให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วย โรงเรียนไหนผลการสอบมาตรฐานของเด็กออกมาดี ต้องได้ความดี ความชอบ ให้รางวัลแก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูตามความสามารถ ในการยกระดับผลการเรียนของเด็ก เพื่อจะได้เป็นแรงกระตุ้นให้โรงเรียนและครูปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน สรุปแล้ว คุณภาพโรงเรียนและครูวัดให้จากคุณภาพคะแนนสอบมาตรฐานของเด็กเป็นหลัก...โรงเรียนใหญ่มีตึกสูง ครูสวยหล่อ ครูใหญ่ใส่สูทพูดจาไพเราะหรือเปล่า ไม่สน ส่วนเรื่องจะปฏิรูปโรงเรียนให้อยู่กับกระทรวงศึกษา หรือไปอยู่กับ อปท. จะให้โรงเรียนมีความอิสระแค่ไหน ผู้บริหารมีอิสระที่จะคิดทำอะไรเองก็ได้ ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้กำหนดหลักสูตรหรือเปล่า ไม่ต้องพูดถึง เพราะต่อให้อิสระแค่ไหน สังกัดอยู่กับหน่วยงานเลอเลิศปานใดก็ตาม...ถ้าไม่มีระบบวัดผลจากความรับผิดชอบในผลการเรียนการสอน ผลงานที่ออกมา อีหรอบเดิม...ยิ่งเรียนยิ่งโง่ แถมพ่อแม่ต้องพลอยโง่เสียตังค์แพงอีกต่างหาก. ที่มา: http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: