วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

TDRI หารือกับ ศธ.ในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่

ศึกษาธิการ - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หารือกับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน TDRI และนางอุทุมพร จามรมาน ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๓๐-๑๘.๓๐ น. ที่ห้องประชุม MOC โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้ TDRI ได้นำเสนอข้อมูลและแนวโน้มด้านการศึกษาของไทยในประเด็นต่างๆ อาทิ งบประมาณด้านการศึกษาไทยได้เพิ่มมากขึ้นเป็น ๒ เท่า และไม่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ส่วนเงินเดือนของครูไทยไม่ได้ต่ำเหมือนเมื่อก่อน เฉลี่ยข้าราชการครูได้รับเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ในขณะที่ผลการวิจัยกลับพบว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนครู ยังไม่ทำให้ผลสัมฤทธิ์นักเรียนดีขึ้นมากนัก สำหรับนักเรียนไทยใช้เวลาเรียนมาก แต่สัมฤทธิ์ผลต่ำ เป็นลำดับท้ายๆ ของโลก โดยคะแนนผลสอบทุกแห่ง เช่น TIMSS, PISA, O-Net มีแนวโน้มลดลง และมีคะแนนต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง แค่สูงกว่าอินโดนีเซียเท่านั้น ในส่วนของสถานศึกษาแต่ละสังกัดก็ยังมีความแตกต่างกันมากในด้านคุณภาพการจัดการศึกษา ที่สำคัญการแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อคุณภาพการศึกษาในทุกระดับยังคงมีน้อยมาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการประเมินคุณภาพ ได้เน้นตรวจสถานศึกษามากกว่าดูผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้สถานศึกษาแม้จะผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้น แต่ผลการเรียนแย่ลง และในการทดสอบ O-Net พบว่ามีผลส่วนหนึ่งต่อนักเรียน ม.๖ ในการเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่มีผลใดๆ ต่อโรงเรียน หรือมีผลต่อนักเรียนชั้นอื่นๆ เลย ทำให้ไม่เกิดความรับผิดชอบใดๆ ต่อคุณภาพการศึกษา ในเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชน พบว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกับโรงเรียนของรัฐ ทั้งที่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของโรงเรียนเอกชนที่ต้องประสบบ่อยๆ คือ มีครูเอกชนลาออกไปสอบบรรจุเป็นจำนวนมาก โดยในปี ๒๕๕๔ มีครูเอกชนถึง ๒,๐๐๐ คน ลาออกไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ข้อเสนอเชิงนโยบาย TDRI ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น ควรจัดสอบมาตรฐานทุกชั้นเรียน หรืออย่างน้อยทุกระดับ เป็นเกณฑ์ในการให้ขึ้นชั้น (Exit Exam) ใช้การเพิ่มคะแนนสอบมาตรฐานในการประเมินผลโรงเรียนและครู และมีผลกับการจัดสรรงบประมาณให้ รวมทั้งมีผลต่อค่าตอบแทนครูและผู้บริหาร สร้างความสามารถให้แก่โรงเรียนในการปรับตัว เพิ่มอิสระของโรงเรียนในการบริหารครู เช่น การสรรหาครูตามความต้องการ ปรับน้ำหนักเงินอุดหนุนรายหัวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เน้น Supply Side ให้เงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนรัฐและเอกชน อย่างเสมอภาค ความคาดหวังของ TDRI เมื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ๑. วางระบบตรวจสอบและสร้างความรับผิดชอบ (Accountability) ของโรงเรียน โดยจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน มีระบบที่ผูกการประเมินครู ผู้บริหาร โดยดูที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นหลัก การจัดการศึกษามีระบบกลไกตรวจสอบโดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ พร้อมทั้งมีหน่วยงานส่วนกลางติดตามผลสัมฤทธิ์นักเรียน ๒. เพิ่มความมีอิสระ (Autonomy) ของโรงเรียน เช่น มีกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณ และเพิ่มความมีอิสระด้านหลักสูตร ทั้งนี้ เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพโีรงเรียนเพิ่มขึ้นจาก ๗๓% เป็น ๗๘% และคะแนนการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (PISA) เพิ่มขึ้นจาก ๔๒๑ เป็น ๔๔๔ คะแนน รวมทั้งอันดับของไทยขยับเพิ่มขึ้นจาก ๔๖ เป็น ๔๑ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศธ. กล่าวในที่ประชุมว่า TDRI ถือเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียง ที่ผ่านมาได้ทำวิจัยตามข้อเท็จจริง โดยไม่เกรงใจใคร จึงต้องการให้มาช่วยพัฒนาการศึกษาร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้หารือในเบื้องต้นที่จะทำงานกับ ศธ. ใน ๒ ส่วน คือ ๑) เป็นที่ปรึกษาองค์กรหลัก ศธ. ตาม Time Frame เป็นระยะๆ ๒) ให้นำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ของ TDRI นี้ ปรับเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. โดยมอบให้เลขาธิการ กพฐ.รับไปดำเนินการตามมาตรการเชิงนโยบายให้เป็นรูปธรรม และรายละเอียดการทำงานที่ชัดเจนร่วมกับองค์กรหลักอื่นๆ ต่อไป พร้อมทั้งให้มีการกำหนด TOR การทำงานร่วมกันให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อหวังจะให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน แม้เปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐมนตรี โดยเน้น Focus การทำงานบางเรื่องที่มีผลกระทบกับการศึกษาก่อน เช่น รายวิชาต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ การจัดทำข้อสอบมาตรฐาน ฯลฯ ทั้งนี้ขอให้แต่ละองค์กรหลักตั้งงบประมาณปีนี้และปีหน้าในการทำงานร่วมกันต่อไปด้วย นางอุทุมพร จามรมาน ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม* โดยกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยเห็นตรงกันว่าเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน เพราะข้อมูลการสอบต่างๆ พบว่าเด็กไทยมีคะแนนตกต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็นคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) แบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ที่สำคัญการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (PISA) ซึ่งผลปรากฏว่าเด็กไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายและตกต่ำลงเรื่อยๆ สาเหตุที่ต้องพัฒนาให้คะแนน PISA ของเด็กไทยดีขึ้น เพราะคะแนนดังกล่าวมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่างประเทศจะลงทุนประเทศใดก็จะดูว่าประเทศนี้มีคะแนน PISA เท่าใด และควรจะมาลงทุนหรือไม่ ดังนั้นจะพัฒนาเพียงคะแนนการสอบในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องดูระดับนานาชาติด้วย การสอบ PISA เป็นการสอบวัดทักษะพื้นฐานที่เน้นการอ่าน การแก้โจทย์ปัญหาเชิงตัวเลข และการคิดอย่างเป็นระบบ เบื้องต้นครูจะต้องนำข้อสอบนี้มาวิเคราะห์และดูว่าเด็กยังอ่อนเรื่องใด เพราะการจะทำให้คะแนนดีขึ้นต้องดูเขาดูเรา ซึ่งวิธีนี้สิงคโปร์ มาเลเซีย และแคนาดา เคยทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว นอกจากนี้ จะเสนอ รมว.ศธ.ให้ปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จากภายใต้การกำกับของ ศธ. ไปอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อความเป็นอิสระ และโปร่งใส เพราะหน่วยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินและจัดการทดสอบ ไม่ควรอยู่ภายใต้สังกัดที่มีสถานศึกษาที่ต้องเข้ารับการทดสอบ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำได้โดยแก้พระราชกฤษฎีกาของ สทศ. ซึ่งหาก รมว.ศธ.เห็นชอบก็ควรเร่งทำทันที เพราะขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กำลังรวบรวมการแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: