วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กุญแจ 5 ดอก ในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเข้าสู่อาเซียน

ในสนามแข่งขัน ผู้ชนะคือผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้น เครื่องมือที่ใช้พัฒนามนุษย์ในโลกยุคนี้ใช้คือ การศึกษา การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยพัฒนามนุษย์ธรรมดาให้เป็นคนวิเศษได้ ทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงถอยหลัง ทั้งๆ ที่เราเพิ่มทุนสูงขึ้นทุกปี มีอะไรผิดปกติหรือ ถ้าเราปรารถนาจะให้เด็กไทยได้ก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีอาเซียนในแถวหน้า เราจะทำอย่างไร คำตอบอยู่ที่การศึกษาเท่านั้น การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 เป็นต้นมา นับว่าทุกรัฐบาลได้พยายามปฏิรูปมาอย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจังมาตลอด แต่ก็ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ เหมือนคนเดินหลงเข้าไปในป่าลึก หรือเดินในที่มืด ไม่รู้แน่ว่าจะไปทางไหน ปัญหาที่จะแก้ไขคืออะไรยังไม่รู้ ได้แต่คลำทางไปเรื่อยๆ แบบใช้จินตนาการเอา มองไม่เห็นเป้าหมาย เหมือนคนหลงป่า หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะพบแต่หายนะแน่นอน ความจริงปัญหาการปฏิรูปการศึกษาเหมือนหญ้าปากคอก ที่ทุกคนมองข้าม คำตอบมันอยู่ที่ปากคอกนั้นแหละ แต่ทุกคนมองไม่เห็น นักวิชาการจากหลายสำนักต่างใช้จินตนาการไปต่างๆ นานา ไกลจากตัวปัญหาออกไปเรื่อยๆ เกาไม่ถูกที่คันเหนื่อยเปล่า คำตอบที่ถูกต้องอยู่ในโรงเรียน อยู่ใกล้ๆ ท่านนั้นเอง มีครูผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งบอกรัฐบาลของเขาว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องอยู่ในห้องเรียน จะต้องอยู่ในโรงเรียน จะต้องอยู่ระหว่างครูกับนักเรียนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับวิธีสอนที่ถูกต้องของครู ขึ้นอยู่กับวิธีเรียนของนักเรียน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูมอบหมายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการกระทำ ขึ้นอยู่กับการจัดเนื้อหาหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียน ขึ้นอยู่กับวิธีทดสอบวัดผลความรู้ของผู้เรียนที่ถูกต้อง เท่านั้น มีอยู่เพียง 5 ตัวปัญหาเท่านั้นเองที่จะต้องแก้ไข อินเดียใช้เวลาปฏิรูปการศึกษาเพียง 10 ปี ก็ประสบผลสำเร็จ ไทยเราปฏิรูปมาถึงรอบที่ 2 เกือบ 15 ปีแล้ว ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เราทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หลายประเทศ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ่งที่ได้มาแทนที่จะเป็นคุณภาพการศึกษา กลับได้ผลรับข้างเคียง คือ โรงเรียนสวยขึ้น มีอาคารเรียนดีขึ้น สวยกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ ครูอาจารย์ได้เป็น อาจารย์ 3 เพิ่มมากขึ้น แต่ผลการศึกษาลดลง ตรวจสอบดูหรือยังครับว่าเราไปหมุนน็อตผิดตัวหรือเปล่า แก้ไม่ถูกปัญหาหรือเปล่า เกาไม่ถูกที่คันหรือเปล่า ตั้งโจทย์ถูกก็แก้ปัญหาได้ถูก ตั้งโจทย์ผิดก็แก้ปัญหาได้ผิด ปัญหาที่ผู้เขียน ซึ่งเป็นครูเก่าเคยพบมาก็ไม่ได้ต่างไปจากที่ครูผู้หญิงอินเดียพบ การศึกษาไทยที่คุณภาพถดถอยลงทุกวันๆ นี้ มีสาเหตุพอประมวลได้ 5 ประการ เพื่อเป็นกุญแจเปิดไปสู่ทางแก้ปัญหา ได้ดังนี้ 1.ปัญหาที่เกิดจากวิธีการสอนที่ผิดพลาดของครู 2.ปัญหาที่เกิดจากวิธีเรียนที่ผิดพลาดของนักเรียน 3.ปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะวิชา 4.ปัญหาที่เกิดจากการวัดผลการศึกษา ที่ใช้เครื่องมือวัดผลที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะวิชา เลิกใช้ข้อสอบปรนัยแบบฟุ่มเฟือย การไม่ใช้ข้อสอบอัตนัย และใช้เกณฑ์การให้คะแนนที่ไม่เหมาะสมกับวัยและช่วงชั้นของผู้เรียน 5.ปัญหาที่เกิดจากหลักสูตรการศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน และสัมพันธ์กับวิทยาการในอนาคต การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง คือ การปฏิรูปครั้งที่ 1 พ.ศ.2542-2552 และการปฏิรูปครั้งที่ 2 พ.ศ.2552-2562 ไม่ได้นำปัญหาทั้ง 5 ข้อนี้ มาพูดถึงเลย กลับไปปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ยุบรวมกระทรวงศึกษาเสีย แล้วให้เกิดเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมาแทน การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนแทบไม่ได้สัมผัส การปฏิรูปครั้งที่ 2 พอประกาศข่าวปฏิรูปเสร็จรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาก็เปลี่ยนคน ไปปฏิรูปครูแทน ทำผลงานอาจารย์ 3 ซื้อแท็บเล็ตแจกเด็ก แล้วก็ยังมองไม่เห็นทางคำตอบ แถมยังมีสถาบันทดสอบมาตรฐานการศึกษาระดับชาติเข้าไปวัดผลโอเน็ต ให้วุ่นวายไปทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ได้กระตุ้นให้นักเรียนเก่งขึ้น ไม่ได้มีคุณภาพขึ้น แก้ไม่ถูกปัญหา เกาไม่ถูกที่คัน ยิ่งขยันแก้ขยันปฏิรูปก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งเมื่อย เหมือนคนโง่ขยัน มีแต่จะสร้างความปั่นป่วนให้โรงเรียน โบราณบอกว่า คนโง่ขยันมีแต่สร้างปัญหา ให้เอาไปฆ่าทิ้ง หรือไม่ก็ให้ไปทำงานที่เสร็จไม่เป็น เช่น ไปรีดขน...ให้ตรงเป็นต้น ปัญหาทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นปัญหาที่รวบรวมมาจากข้อเสนอของครูผู้หญิงอินเดีย 3 ข้อ และรวบรวมจากปัญหาที่พบในระบบการศึกษาไทย 2 ข้อ เพื่อนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ต่อผู้ปกครองนักเรียน ต่อสาธารณะ และต่อคณะรัฐบาล เพื่อนำไปเป็นโจทย์ปฏิรูปการศึกษาให้ทันในปี 2558 ที่กำลังก้าวเข้าสู่อาเซียนได้ทัน กระทรวงศึกษาอินเดีย รัฐบาลอินเดีย ปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จเพราะเขารู้จักเลือกฟังผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริง จึงเป็นการใช้กุญแจที่ไขได้ตรงปัญหา ถ้าหากประเทศชาติไทยโชคดีมีผู้นำที่เข้าใจปัญหาการศึกษาชาติอย่างแท้จริง แก้ไม่ยากเลย ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็แก้ไขได้แล้ว คำตอบอยู่ในโรงเรียน แก้ไขอยู่ในโรงเรียน แก้อยู่ในห้องเรียน แก้ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเท่านั้น คือการให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการกระทำ Learning By Doing ตามปรัชญาของบรมครูทางจิตวิยาคือ John Dewy ครูพูดให้น้อย ให้นักเรียนได้ฝึกให้มาก เหมือนการสอนเรียนว่ายน้ำ ครูไม่ต้องอธิบายมาก แนะนำเบื้องต้นแล้วปล่อยลงน้ำเลย ครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ฝึกเก่งแล้วปล่อยเลย ให้ว่ายน้ำให้ดูเลย ให้ทำจริง การสอบวัดผลไม่ต้องใช้ข้อสอบปรนัยแบบฟุ่มเฟือย ให้ใช้สอบเป็นแบบอัตนัย ที่ใช้วัดได้จริง ผลเป็นที่พอใจก็ให้ผ่าน ถ้าไม่เป็นที่พอใจก็ให้เรียนซ้ำชั้น นักเรียนที่มีความรู้ไม่เพียงพอต้องให้สอบตก เรียนซ้ำได้ หรือให้ไปเรียนวิชาอื่น ระบบการวัดผล การตัดสินผลการเรียน การตัดเกรด การแก้ 0, ร, มส. ควรทบทวน รายละเอียดทั้ง 5 ปัญหานี้ สามารถอธิบายได้อย่างละเอียด และนำไปสู่การแก้ปัญหาการศึกษาได้ถูกต้องจริง ลงมือทำใหม่ได้แล้ว ใช้เวลาไม่นาน ลงทุนน้อย เพราะครูทุกคน โรงเรียนทุกโรงเรียนมีต้นทุนอยู่แล้ว. "การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 เป็นต้นมา นับว่า ทุกรัฐบาลได้พยายามปฏิรูปมาอย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจังมาตลอด แต่ก็ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ เหมือนคนเดินหลงเข้าไปในป่าลึก หรือเดินในที่มืด ไม่รู้แน่ว่าจะไปทางไหน ปัญหาที่จะแก้ไขคืออะไรยังไม่รู้ ได้แต่คลำทางไปเรื่อยๆ แบบใช้จินตนาการเอา มองไม่เห็นเป้าหมาย เหมือนคนหลงป่า หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะพบแต่หายนะแน่นอน" เพชร เหมือนพันธุ์ มติชน ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: