วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เครือข่ายแก่งจันทร์ "นวัตกรรมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก"

ตัวแทนเครือข่ายแก่งจันทร์ (Kangjan Model) ได้รายงานผลการดำเนินงาน “แก่งจันทร์โมเดล” โดยกล่าวว่า สพฐ.ได้มีแนวทางพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก 5 รูปแบบ คือ 1) สอนแบบคละชั้น 2) สอนแบบบูรณาการ 3) ยุบรวมทั้งโรงเรียน 4) จัดครูเวียนสอนระหว่างโรงเรียนในกลุ่มสาระที่ขาดแคลน 5) รวมกันเป็นศูนย์เครือข่ายประมาณ 3-5 โรงเรียน การดำเนินงานของ “แก่งจันทร์โมเดล” ได้เลือกรูปแบบที่ 5 ในการแก้ปัญหา ซึ่งได้ผลดีมาตามลำดับ จนได้รับความสนใจเผยแพร่ผ่านสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตจำนวนมากในรอบปีที่ผ่านมา เพราะเป็นการร่วมกันจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กใกล้เคียงกัน 4 โรง มีนักเรียนรวมกันทั้งสิ้น 250 คน ครู 16 คน แต่ละโรงเรียนห่างกันประมาณ 3-5 กม. ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก โดย - รร.บ้านหาดคัมภีร์ มีนักเรียน 68 คน ครู/ผู้บริหาร 4 คน - รร.บ้านปากมั่งห้วยทับช้าง มีนักเรียน 65 คน ครู/ผู้บริหาร 4 คน - รร.บ้านนาโม้ มีนักเรียน 83 คน ครู/ผู้บริหาร 4 คน - รร.บ้านคกเว้า มีนักเรียน 34 คน ครู/ผู้บริหาร 4 คน การวางแผนการดำเนินการ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 โดยผู้บริหารและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาได้หารือร่วมกันก่อน จากนั้นได้มีการประชุมครู และประชุมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนทรัพยากร แก่กรรมการสถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ทั้ง 4 หมู่บ้าน รวมทั้งเขตพื้นที่การศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแก่งจันทร์โมเดล ได้ร่วมจัดการเรียนการสอน โดยให้ รร. บ้านคกเว้า สอนชั้น ป.3-4 รร.บ้านหาดคัมภีร์ สอนชั้น ป.5-6 รร.บ้านปากมั่งฯ สอนชั้น อ.2,ป.2 และ รร.บ้านนาโม้ สอนชั้น อ.1,ป.1 ทำให้อัตราส่วนครูผู้สอนต่อนักเรียนเพิ่มขึ้น ไม่ขาดแคลนครู และสามารถจัดการสอน ดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรับส่งนักเรียน ได้ดำเนินการจัดรถรับส่งนักเรียนเดินทางเช้าไปเย็นกลับทุกวัน พร้อมทั้งจัดให้ครู 4 โรงเรียนเดินทางไปสอนตามความถนัด/ความสามารถ โดยขอให้ อบต.หาดคัมภีร์ อุดหนุนค่าน้ำมันรถทั้งระบบไปก่อน ส่วนรถยนต์รับส่งนั้น ได้วางแผนเป็นระยะๆ คือ - ระยะที่ 1 ได้รับการสนับสนุนจาก รร.บ้านห้วยขอบห้วยเหียม - ระยะที่ 2 ยืมรถปิ๊กอัพส่วนตัวของภารโรง รร.บ้านนาโม้ และยืมรถ รร.บ้านโพนทอ - ระยะที่ 3 ยืมรถตู้ สพป.เลย - ระยะที่ 4 ขอซื้อรถตู้เพิ่ม 1 คัน และค่าน้ำมันรถรับส่ง 2 ภาคเรียนๆ ละ 64,000 บาท หลังจากร่วมกันจัดการศึกษา พบว่าคุณภาพจัดการศึกษาสูงขึ้น โดยได้เปรียบเทียบผลสอบ O-NET ป.6 ในรายวิชาต่างๆ พบว่าในปี 2554 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาทุกรายวิชา ดังนี้ วิชา ปี 2553 ปี 2554 เพิ่ม/ลด ภาษาไทย 29.76 49.15 19.39 คณิตศาสตร์ 26.51 53.92 27.41 วิทยาศาสตร์ 38.81 43.57 4.76 สังคมศึกษา 42.06 47.87 5.81 สุขศึกษา 51.45 51.94 0.49 ศิลปศึกษา 33.14 44.81 11.67 การงานฯ 46.59 53.85 7.26 อังกฤษ 13.91 41.47 27.56 ผศ.ดร.มัณฑนา อินทุสมิต คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด โดยมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้นอกจากจะพัฒนาครูผู้สอนในแก่งจันทร์โมเดลแล้ว ต้องการให้นักศึกษาครูไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เนื่องจากติดขัดเกณฑ์การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ซึ่งคุรุสภาระบุให้นักศึกษาครูต้องไปฝึกสอนในโรงเรียนที่ผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ.เท่านั้น มิฉะนั้นจะไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพครู ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินภายนอกของ สมศ. จึงทำให้ไม่สามารถส่งนักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นได้ จึงต้องการให้คุรุสภาปลดล็อกเงื่อนไขดังกล่าว และยืนยันว่าไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพการสอน เพราะ มรภ.จะเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลการสอนของนักศึกษาครู ในขณะเดียวกันจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ด้วย โดยจะได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายให้ สพฐ.ดำเนินการและรายงานผลเป็นระยะๆ ดังนี้ 1. ให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก 14,000 โรงทั่วประเทศ โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กรวมกันเป็นศูนย์เครือข่าย ซึ่ง สพฐ.จะต้องลงไปช่วยเขตพื้นที่การศึกษาวางแผนดำเนินการร่วมกัน ภายในช่วงเปิดเทอมคาดว่าอย่างน้อยจะมีประมาณ 1,000 เครือข่าย 2. ศธ.จะสนับสนุนพาหนะในการเดินทางมาเรียนของครูและนักเรียน โดยจะให้ สพฐ.ตั้งงบประมาณให้ทุกศูนย์เครือข่ายประมาณ 2,000 คันๆ ละประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อให้แต่ละศูนย์เครือข่ายเลือกซื้อรถยนต์รับส่งนักเรียนและครูเอง แต่ไม่ใช่ประมูลจากส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้โรงเรียน 3. ให้ สพฐ.จัดหาครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ไปสอนในโรงเรียนศูนย์เครือข่าย 4. ให้ สพฐ.หารือกับคุรุสภาในการแก้ไขเกณฑ์การได้ใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ครูฝึกสอนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเข้าไปฝึกสอนในโรงเรียนขนาดเล็กได้ทุกแห่ง แม้จะยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินจาก สมศ.ก็ตาม เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่ผลิตครู ต้องรับผิดชอบมาตรฐานของตนเองอยู่แล้ว 5. ให้ ผอ.สพป.มีบทบาทสำคัญที่จะต้องลงไปใส่ใจในนโยบายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กครั้งนี้ โดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรง ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: