วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ครูสอบตกเลื่อนชั้น'รอง-ผอ.'ร.ร. ผ่านไม่ถึง10%-หวั่นขาดผู้บริหาร

วิกฤตผู้บริหารโรงเรียน สอบคัด'ผอ.-รอง'ไม่เข้าเป้า ผ่านไม่ถึง 10% ทำให้เหลืออัตราว่าง 800 ตำแหน่ง สพฐ.เร่งถกหาทางออก เหตุกระทบสถานศึกษาขาดผู้นำติดหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ.ที่สอบใหม่มีผลให้ยกเลิกบัญชี หวั่นทำให้ฟ้องร้องตามมาได้ชี้ไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาก่อน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศรับสมัครสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า มียอดผู้สมัครประมาณ 15,000 คน และได้มีการจัดให้สอบข้อเขียนแบบปรนัยเมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเมื่อ วันที่ 30 พฤษาคมที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์และรอการอบรมและบรรจุแต่งตั้ง จำนวน1,300 คน คิดเป็นผู้สอบผ่านไม่ถึง 10% ขณะที่มีอัตราว่างที่บรรจุได้ 2,170 กว่าตำแหน่ง ดังนั้นจึงทำให้อัตราที่ว่างประมาณ 800 ตำแหน่งไม่สามารถหาผู้ไปบรรจุและแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.กำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ว่าจะใช้วิธีการใด เพราะ สพฐ.ไม่สามารถเปิดสอบบรรจุใหม่ได้เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)กำหนดไว้ว่า หากมีการเปิดสอบบรรจุและแต่งตั้งใหม่ จะมีผลทำให้บัญชีที่เปิดสอบไว้ทั้งหมดจะต้องยกเลิกไปในทันที ฉะนั้น สพฐ.เกรงว่าจะเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาอย่างแน่นอนหากเปิดสอบบรรจุใหม่ ทั้งนี้ สพฐ.กำลังเร่งหารือกับ ก.ค.ศ.ในเรื่องนี้ว่า จะหาทางออกได้อย่างไร เพราะหากไม่เร่งแก้ไข จะเกิดปัญหาทำให้โรงเรียนที่มีอัตราว่าง 800 อัตรา ไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาประมาณ 1 ปีซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างแน่นอน "การที่มีผู้สอบบรรจุและแต่งตั้งผ่านกันน้อย สพฐ.ได้วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าข้อสอบที่ออกโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นอาจมีความยากเกินไปจนทำให้มีผู้สอบผ่านกันน้อยมาก ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ยังไม่เคยมีปัญหาในลักษณะนี้" แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ.กล่าว ด้านนายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าจุฬาฯออกตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ด้วยเหตุที่เป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง โดยภายหลังจุฬาฯได้กรอบหลักสูตรจาก ก.ค.ศ. จุฬาฯ ได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาฯ วิเคราะห์ข้อสอบว่าผู้ที่จะเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ควรต้องรู้อะไรบ้าง ซึ่งยืนยันว่า ข้อสอบที่จุฬาฯออกครอบคลุมทั้งกรอบแนวคิด ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยเฉพาะภาคปฏิบัตินั้น ศธ.ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมออกข้อสอบกับจุฬาฯด้วย ส่วนที่ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาทำข้อสอบผ่านได้น้อยนั้น ส่วนตัวไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง ฉะนั้นอาจมีเปอร์เซ็นต์ผู้ผ่านไม่สูงมากนัก แต่ยืนยันว่าข้อสอบของจุฬาฯได้มาตรฐานตามกรอบหลักสูตรของ ก.ค.ศ. "การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสอบผ่านไม่เต็มตามอัตราที่เปิดรับ 2,170 กว่าตำแหน่งนั้น อาจประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยข้อสอบ โดยเป็นข้อสอบแข่งขัน จึงต้องมีความยากระดับหนึ่งเพื่อคัดผู้ที่มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะถึงจริงๆ 2.การทำข้อสอบได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้สอบ โดยผู้สอบต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ส่วนตัวที่มีอยู่ ซึ่งกรอบหลักสูตร กำหนดให้มีทั้งแนวคิด ทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และ 3.ทราบว่าการสอบครั้งนี้ มีการติวและกวดวิชากันมาก ฉะนั้นเมื่อติวไม่ตรงกับข้อสอบก็อาจจะต้องผิดหวัง การที่สอบผ่านไม่ผ่านสะท้อนว่าผู้บริหารหวังพึ่งกวดวิชากันมากทั้งที่ควรศึกษาด้วยตนเอง เพราะการพึ่งกวดวิชาผมก็ไม่รู้ว่าจะติวกันถูกทิศถูกทางหรือไม่" คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว ขณะที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สพฐ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถานศึกษาใน2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์หลังจากนี้ผู้ผ่านการสรรหาทุกคน จะต้องเข้ารับการอบรมผ่านหลักสูตรการพัฒนาไม่น้อยกว่า180 ชั่วโมง ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ สมรรถนะทางการบริหารเจตคติที่ดี รวมถึงได้รับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพก่อนเข้ารับราชการ "วันที่ 26-27 มิถุนายนนี้ จะเป็นมหกรรมที่จะให้ผู้ผ่านการสรรหาได้เลือกโรงเรียนที่จะบรรจุและแต่งตั้ง โดยจะเรียงลำดับตามคะแนนจากผู้ที่ได้คะแนนมากไปหาน้อย ทั้งนี้ จะให้ผู้ที่ได้ลำดับคะแนนที่สูงสุดเป็นผู้มีสิทธิได้เลือกโรงเรียนก่อนการเรียงลำดับคะแนน จะเรียงเท่ากับตำแหน่งที่ว่างในปัจจุบัน และจำนวนที่คาดว่า จะว่างจากการเกษียณอายุราชการใน 2 ปีงบประมาณ โดยการขึ้นบัญชีจะมีอายุไม่เกิน 2 ปีนับจากวันที่ประกาศ เว้นแต่จะมีการประกาศขึ้นบัญชีผู้ผ่านการสรรหาครั้งใหม่ ถึงจะยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการสรรหาทุกบัญชี" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าจุฬาไม่ออกมาเฉลย คนสอบก็คงไม่หมดความสงสัยว่าสิงที่ตอบไปผิดหรือถูก ถ้า คิดว่าโปร่งใส ก็ต้องตรวจสอบได้ ตรามหลักธรรมาภิบาลงัยครับ แต่ไม่รู้ว่า จุฬา เค้าจะรู้จักกับเราไหมครับ ว่าธรรมาภิบาลคืออะไร

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างย่ง ควรเฉลยข้อสอบ..ตรวจสอบได้..ดปร่งใสที่สุด...และควรประกาศเพิ่มถ้ามีผู้สอบผ่าน 60%

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อะไรที่ผ่านแล้วช่างเถอะ เป็นคนหนึ่งที่สอบไม่ติดเหมือนกัน
สำรวจตนเองพบว่าหลายข้อที่พลาด แต่นั่นเพราะความไม่พร้อมของเราเอง ไม่ใช่เพราะข้อสอบ ถ้าเราพร้อมเต็มที่ไม่ว่าข้อสอบจะยากหรือง่ายมันคงไม่มีปัญหา ถ้าคราวหน้าเปลี่ยนสถาบันออกข้อสอบ
แล้วเราไม่ติดอีก จะต้องมานั่งโทษสถาบันเหล่านั้นอีกกี่สถาบัน
ตอนนี้ให้กำลังใจตัวเองดีที่สุด สู้ๆๆๆๆ ต่อไป