วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับความหลากหลายในประชาคมเดียว

นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรร่วมกับ นางสาวจันทร์สุดา รักษ์พลเมือง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา เรื่อง “อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับความหลากหลายในประชาคมเดียว” เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ อาคารพฤกษชาติพระทรงชัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

การสัมมนาในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับโอกาสและท้าทายของอาเซียนที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ในประเด็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนและการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างการตระหนักรู้และจิตสำนึกในการเป็นประชาชนของอาเซียนสำหรับเยาวชนและคนยุคใหม่
ทั้งนี้ในเวทีสัมมนาได้เสนอแนวคิดและประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
๑. กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องอาเซียนให้กับเยาวชนไทย ผ่านทางบทเรียน และกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ให้กับเยาวชน ในทักษะวิชาพื้นฐาน การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การคำนวณ ภาษา และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกได้
๒. การสร้างคนเข้าสู่อาเซียน ต้องเริ่มจากการสร้างความตื่นตัว เรียนรู้เพื่อก้าวสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่าน ๔ ปัจจัย โดยเริ่มจาก ๑. การเปิดรับ (Expose) โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ของเยาวชนผ่านรายกรโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ๒. การใช้ตัวแทน (Representative) คือ การดึงสัญลักษณ์ สิ่งที่แปลกใหม่ ประเพณีของอาเซียนมานำเสนอ เพื่อสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน ๓. การส่งเสริม (Promotion) คือ การส่งเสริมลักษณะเด่นของแต่ละประเทศมาเป็นลักษณะเด่นของอาเซียน และ ๔. การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) การเริ่มสร้างความเป็นอาเซียน โดยเริ่มจากสิงที่สำคัญ หรือทำได้ง่ายก่อน
๓. การใช้สื่อประชาสัมพันธ์เป็นตัวกลางในการสร้างความรับรู้เรื่องอาเซียนแก่ประชาชน ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะการรับรู้ผ่านการเห็น ฟัง และสัมผัสเอง จะเรียนรู้และจดจำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
๔. การแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง คือ การผสมผสานความเหมือนของแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะที่รักษาความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ของแต่ละชาติไว้ด้วย
๕. มองข้ามประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ก่อเกิดความขัดแย้ง โดยดึงความภูมิใจร่วมกันมาส่งเสริมความเข้าใจและผูกพันกัน
๖. การตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการเป็นสมาชิกอาเซียน และไม่เพิกเฉยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลังการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นต้น
๗. ส่งเสริมให้มีการเจรจา ร่วมมือพัฒนาแบบทวิภาคี หรืออนุภูมิภาค ไปพร้อมกับการบูรณาการของสามเสาหลักร่วมกับกับสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศ
๘. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ
๙. สร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทุกมิติ และสร้างเข้าใจถึงการรวมตัวกันเป็นอาเซียนอย่างถ่องแท้และถูกต้อง
๑๐. ต้องพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน ให้สามารถสื่อสาร ติดต่อกันได้
๑๑. การสร้างความเป็นคนไทย กล่าวคือ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ส่งผลให้มีการเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและการลักลอบเข้ามามาทำงานในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยไม่สามารถผลักดันคนเหล่านี้ให้ออกจากประเทศไทยได้ ต้องมองคนเหล่านี้ให้เป็นทุนมนุษย์ พัฒนาให้เขาสามารถทำงานให้กับประเทศได้ เช่นการให้การศึกษา การพัฒนาความรู้ทักษะ นอกจากนั้นต้องสร้างความตระหนักถึงความเป็นไทยให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาและอยู่ร่วมในสังคมไทยได้

ดังนั้นแล้ว การสร้างคนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความเป็นอาเซียนอย่างแท้จริง โดยมองถึงจุดร่วมของผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน พร้อมทั้งยึดวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างของชาติสมาชิก ไม่มองข้ามลักษณะเด่นหรือความแตกต่างแต่ใช้ความแตกต่างของ ๑๐ ชาติสมาชิกนั้นมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียนนั่นเอง

กลุ่มสารนิเทศ สอ. สป.

ไม่มีความคิดเห็น: