วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย (ค.อ.ท.) เข้าพบ รมว.ศธ.

สนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ - ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย (ค.อ.ท.) ประกอบด้วยสหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูภาคกลาง สมาพันธ์ครูใต้ ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๒๕๐ คน ที่เดินทางมาเพื่อสนับสนุนโครงการกระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด พร้อมให้กำลังใจและสนับสนุนนโยบายการทำงาน เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕

รมว.ศธ.ได้กล่าวแสดงความขอบคุณที่ตัวแทนสมาคมได้เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมทั้งยืนยันว่า ศธ.มีนโยบายและแนวทางการทำงานให้เป็น "กระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด" พร้อมทั้งกล่าวถึงแนวทางการทำงานที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น
ความโปร่งใส
- การบรรจุแต่งตั้งผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๗๒๔ คน ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่ได้ระบุไว้ในใบสมัคร และห่างไกลภูมิลำเนา จะพยายามให้ สพฐ.แก้ไขเยียวยา แต่จะไม่ให้ขัดกับระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ
- การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีผู้เข้าสอบมากกว่า ๙๐,๐๐๐ คน จะต้องตรวจด้วยมือเพื่อให้ความยุติธรรมเต็มที่กับผู้เข้าสอบทุกคน ส่วนกรณีการแจกข้อสอบผิดหรือจัดส่งข้อสอบสลับวิชากันนั้น ได้มีแนวทางดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยให้มีการสอบแข่งขันใน ๓ เขตพื้นที่การศึกษาใหม่ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตจะทำการออกข้อสอบใหม่ทั้งหมด ไม่มีข้อสอบเก่าแม้แต่ข้อเดียว เพื่อเป็นการป้องกันข้อสอบรั่ว และให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตยังจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสอบของผู้เข้าสอบทุกรายด้วย
- การโยกย้าย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่มีการเสียเงินทองวิ่งเต้น ทุกคนสามารถแข่งขันได้บนความยุติธรรม
- การเลื่อนวิทยฐานะของครูผู้สอน เน้นความโปร่งใสที่เชื่อมกับการเรียนการสอน ซึ่งหากครูผู้สอนสามารถสอนเด็กให้มีคุณภาพหรือได้คะแนนดีขึ้นตามลำดับ ก็ต้องให้ถือเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้เลื่อนวิทยฐานะได้ โดยไม่ต้องทำเอกสารงานวิจัยมากมาย เพราะถือว่าภาระหน้าที่หลักของครูจะต้องยุ่งกับการสอนนักเรียนอยู่แล้ว
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ซึ่งเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทยได้เสนอแนวทางแก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๖๓ ที่กำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินบำนาญที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ พ.ศ.๒๔๙๔ ที่ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งเรื่องนี้ ศธ.ได้เสนอให้กระทรวงการคลังทราบแล้ว ซึ่งเห็นว่าควรพิจารณาให้กองทุน กบข.มีความยุติธรรมแก่ข้าราชการโดยรวมทั้งระบบ
โครงการครูคืนถิ่น
ศธ.สามารถดำเนินการย้ายครูคืนถิ่นได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนผู้ยื่นความประสงค์กว่า ๒๐,๐๐๐ ราย แยกเป็น สพฐ. มีผู้ยื่นความประสงค์ ๒๐,๒๐๙ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น ๑๐,๑๗๔ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๔, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีผู้ยื่นความประสงค์ ๑,๐๐๒ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น ๒๘๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๗๒, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีผู้ยื่นความประสงค์ ๑๕๑ ราย ได้ย้ายคืนถิ่น ๗๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๙๙ อย่างไรก็ตามได้รับข้อร้องเรียนจากครูจำนวนหนึ่งว่า ยังไม่ได้ตัดโอนตำแหน่ง จึงฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
การจัดสอบ O-Net

ขณะนี้ ศธ.ได้อนุมัติงบประมาณให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท เพื่อจัดทำคลังข้อสอบ ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล เพื่อใช้ในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) แล้ว สำหรับการออกข้อสอบ O-Net ในปัจจุบัน ทาง สทศ.จะเชิญครูจำนวนหนึ่งประมาณ ๕๐-๖๐ คน มาเก็บตัวและร่วมกันออกข้อสอบ ทำให้มีจำนวนข้อสอบน้อย ไม่เพียงพอต่อการจัดทำคลังข้อสอบ จึงเสนอแนวคิดว่า สทศ.อาจจะให้ครูผู้สอนทุกวิชาร่วมทำการออกข้อสอบ จะออกมาคนละกี่ข้อก็ได้ แล้วจัดส่งรวบรวมเก็บไว้ในคลังข้อสอบ ดังนั้นเมื่อมีการจัดสอบ O-Net หรือการทดสอบระดับชาติ (National Test : NT) ของ สพฐ. ก็สามารถนำข้อสอบเหล่านี้มาใช้ได้ โดยเชิญให้ครูที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้คัดเลือกข้อสอบเหล่านั้น หากข้อสอบของครูคนใดที่ได้รับการคัดเลือกมาใช้ก็จะได้รับค่าตอบแทนด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เรามีข้อสอบใช้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานของข้อสอบ สามารถอบรมให้ครูก่อนได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบให้ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.ไปศึกษาและให้เริ่มดำเนินการในปีนี้
ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก
ไม่มีนโยบายยุบโรงเรียน หรือยุบอัตราตำแหน่งผู้บริหาร แต่หากโรงเรียนใดที่มีนักเรียนต่ำกว่า ๖๐ คน และเมื่อมีอัตราว่างลง อาจจะไม่บรรจุเพิ่ม แต่จะให้โรงเรียนใกล้เคียงเข้ามาช่วยดูแล ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ๑๔,๐๐๐ โรงทั่วประเทศไปแล้ว โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กรวมกันเป็นศูนย์เครือข่าย ซึ่ง ศธ.จะสนับสนุนพาหนะในการเดินทางมาเรียนของครูและนักเรียน โดยจะให้ สพฐ.ตั้งงบประมาณให้ทุกศูนย์เครือข่ายประมาณ ๒,๐๐๐ คัน เพื่อให้แต่ละศูนย์เครือข่ายเลือกซื้อรถยนต์รับส่งนักเรียนและครูเอง นอกจากนี้ให้ สพฐ.จัดหาครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ไปสอนในโรงเรียนศูนย์เครือข่ายด้วย

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: