วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ก.ค.ศ.ปลดล็อกเกณฑ์ย้ายครูคืนถิ่น

          เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบเกี่ยวกับตำแหน่ง ที่ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นชอบเกณฑ์การพิจารณาย้ายข้าราชการครูฯ ในโครงการครูคืนถิ่นให้ข้าราชการครูฯ ย้ายกลับภูมิลำเนาเพิ่ม โดยเห็นชอบให้ตัดโอนตำแหน่ง และอัตราของข้าราชการครูฯ ที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายตามโครงการครูคืนถิ่นไปยังโรงเรียนปลายทางได้ในทุกกรณี เพื่อให้ครูสามารถย้ายคืนถิ่นให้เพิ่มมากขึ้น อาทิ กรณีครูที่ขอย้ายเป็น กลุ่มสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้ตัดโอนตำแหน่งไปได้หากโรงเรียนปลายทางที่ขอย้ายขาดแคลนครูในสาขาวิชาดังกล่าว เป็นต้น เนื่องจากเกณฑ์การย้ายตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดไว้เดิม มีอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่สามารถย้ายข้าราชการครูฯ ตามโครงการนี้ได้ ขั้นตอนจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรอหนังสือแจ้งมติที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.ระบบฯ ก่อน จากนั้นได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งการอนุมัติย้ายครูในโครงการครูคืนถิ่นเป็นอำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่จะพิจารณาอนุมัติย้ายอีกครั้ง ตามรายชื่อที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรอง 7 คณะของ ศธ.เสนอไปให้ในแต่ละเขตพื้นที่ฯ โดยมีข้าราชการครูฯ ได้รับอนุมัติย้าย 10,174 คน หรือประมาณ 50.34% จากทั้งหมด 20,717 คนที่ยื่นขอย้าย
          "สำหรับความคืบหน้าการจัดทำกรอบอัตรากำลังตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตาม มาตรา 38 ค (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 225 เขตทั่วประเทศ ที่ สพฐ.เสนอให้ปรับอัตรากำลังใหม่นั้น ได้นำเสนอ อ.ก.ค.ศ.ระบบที่ดูแลเรื่องนี้แล้ว และมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สพฐ.และ ก.ค.ศ.ลงไปในเขตพื้นที่ฯ เพื่อดูว่ามีความจำเป็นที่จะปรับกรอบอัตรากำลังตามที่เสนอหรือไม่" นายอนันต์กล่าว


          นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ในการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวิทยฐานะข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ.เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติอนุมัติให้ข้าราชการครูฯ เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ทั้งหมด 8 ราย ดังนี้ 1.ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ ได้แก่ นายพงษ์พิศาล ชินสำราญ สพป.ปราจีนบุรี เขต 1, 2.ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ 4 ราย ได้แก่ นายสุทัศน์ ใจคำปัน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี จ.ลำปาง นางเตือนใจ รักษาพงศ์ โรงเรียนวัดศรีอุปลาราม สพป.กาญจนบุรี เขต 1 นายสามารถ วิเศษสิงห์ โรงเรียนวัดทุ่งสมอ สพป.กาญจนบุรี เขต 2 และนายไพฑูรย์ ลอยแก้ว โรงเรียนวัดโภคาราม สพป.สุพรรณบุรี เขต 2, 3.ครูเชี่ยวชาญ 3 ราย ได้แก่ นายส่ง ค้าไม้ โรงเรียนลองวิทยา สพม.เขต 37 นายธีรพจน์ เครือพานิช วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร และนางสายสมร แคฝอย วิทยาลัยการอาชีพนครสวรรค์
"เมื่อเร็วๆ นี้ ก.ค.ศ.ยังได้อนุมัติให้ข้าราช การครู และบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ 3 ราย คือ น.ส.ญาณิศา บุญจิตร์ สพป.ชุมพร เขต 2 นายภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ และ น.ส.ปาณิสรา พูลสุข สพป.ยโสธร เขต 2" นางศิริพรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ชี้คุรุสภาไม่รู้หน้าที่แนะเน้นคุณภาพไม่ยึดเวลากำหนด

        รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ทางคุรุสภาไม่รับรองปริญญาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2552 (หลักสูตร 5 ปี) ในส่วนของนิติสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลา 4 ปีครึ่ง หรือไม่ต่ำกว่า 9 ภาคการศึกษาและกำหนดให้นิสิตออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในชั้นปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2  รวมทั้งเวลาการศึกษาจบได้ภายในไม่ต่ำกว่า 5 ปีหรือ 10 ภาคการศึกษา ว่า คุรุสภา ไม่ควรเอาเรื่องของเวลามาเป็นตัวกำหนดระบบการศึกษา แต่ต้องเน้นคุณภาพและเปิดให้มีความหลากหลาย ในการผลิตครูโดยเฉพาะเด็กเก่ง มีความรู้ ความสามารถ ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้จบเร็ว เพื่อได้ออกไปช่วยพัฒนาชาติ ไม่ใช่มาดึงเด็กไว้ และการนำเรื่องของเวลามากำกับเด็กจบการศึกษาครูจะยิ่งทำให้คนอื่นดูถูกครูและล้าหลังมาก

          รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ยังเห็นว่าคุรุสภาไม่รู้หน้าที่และบทบาทของตนเองอีกทั้งยังทำให้เกิดการแตกแยก และพยายามที่จะทำให้ตัวเองสำคัญที่จะมากำหนดหรือบังคับฝ่ายผลิต แทนที่จะมาดูเรื่องคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนอย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีเวทีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้คุยกันถึงเรื่องนี้ เพื่อหาทางออกต่อไป
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่าส่วนเรื่องที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีมติเห็นชอบหลักการตามที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เสนอขอให้ทบทวนมติ กกอ. เกี่ยวกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการจัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญษตรีต่อเนื่องของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2553 นั้นเห็นด้วยที่จะให้มทร.สามารถเปิดสอนปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาอื่นๆ มากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้สายวิชาชีพแต่ต้องเน้นเฉพาะสายปฏิบัติการจริงๆ ไม่ใช่สาขาทั่วไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: