วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.ลุยแก้ปัญหารร.ขนาดเล็ก ชี้หากคลายปมได้มีผลดึงค่าเฉลี่ยการศึกษาชาติดีขึ้น

          สพฐ.เตรียมทำวิจัยกำหนดอนาคตโรงเรียนขนาดเล็ก หวังคลอดแผนจัดการและแก้ปัญหาทุกทางให้เป็นรูปธรรม รับยอดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่สอดคล้องยอดประชากรวัยเรียนที่อยู่ในระดับคงที่ แต่วิธีแก้ปัญหาที่ดี คือจัดการเรียนรวมจากเขตพื้นที่ ไม่ใช่นโยบายยุบโรงเรียนจากส่วนกลาง
          นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบเครือข่ายแก่งจันทร์โมเดล จ.เลย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมา จำนวน 14,638 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.83 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาจากผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาระดับชาติ และการประเมินผลสัมฤทธิ์นักเรียนระดับชาติ ได้สะท้อนว่าโรงเรียนขนาดเล็กคือปัญหาที่ฉุดค่าเฉลี่ยระดับหน่วยงานและระดับชาติให้ต่ำลง ขณะเดียวกันก็ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในหลายรูปแบบ เพื่อให้โอกาสนักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

          รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าทุกวันนี้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในทางกลับกันจำนวนประชากรวัยเรียนกลับคงที่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณและคุณภาพการจัดการเรียนการสอน จึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงการแก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดโรงเรียนขนาดเล็ก แต่คิดว่าการทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพนั้น คงต้องมาจากความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง ในการส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาในพื้นที่ของตัวเอง อย่างรูปแบบการเรียนรวมของเครือข่ายแก่งจันทร์ จ.เลย ซึ่งตนถือว่าเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ดี   โดยอย่างรูปแบบแก่งจันทร์นั้นเป็นการคิดขึ้นจากฝ่ายปฏิบัติการทั้งครู ผู้บริหาร และเขตพื้นที่การศึกษา ในการใช้วิธีหมุนเวียนนักเรียน 4 โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ไม่ห่างไกลกันมากให้มาเรียนรวมในชั้นเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน แบ่งตามศักยภาพของโรงเรียน อาทิ โรงเรียนหนึ่งเปิดสอนระดับชั้น ป.3-ป.4 โรงเรียนสองเปิดสอนระดับชั้น ป.5-ป.6 ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถรวมนักเรียนแต่ละชั้นในโรงเรียนเครือข่ายให้มาเรียนรวมกันได้ ทำให้มีนักเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันครูที่ถนัดสอนชั้นดังกล่าวก็สามารถย้ายมาสอนได้ตรงระดับชั้น ไม่มีภาระงานสอนควบหลายชั้นเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวเคยเสนอไปที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้ว และนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ได้เห็นชอบและสั่งขยายผล นอกจากนี้ให้ไปสำรวจการจัดรูปแบบเครือข่ายดังกล่าวในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศด้วย เพื่อจะสนับสนุนรถตู้รับส่งนักเรียนในการเคลื่อนย้ายไปเรียนรวม1 คันต่อ 1 เครือข่าย
          นายพิษณุกล่าวต่ออีกว่า ซึ่งจากที่ตนได้ไปสำรวจพบว่า ทั่วประเทศมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 6,000 โรง ที่สามารถรวมเป็นเครือข่ายคล้ายๆ แก่งจันทร์โมเดลได้ 2,000 เครือข่าย ดังนั้นการสนับสนุนรถตู้ตามนโยบายจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 3,200 ล้านบาท ทั้งใช้จัดซื้อรถตู้ ค่าน้ำมัน ค่าประกันอุบัติเหตุให้แก่นักเรียน ซึ่งได้เสนอขอในปีงบประมาณ 2556 แล้ว หากได้รับการอนุมัติจะสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างไรก็ตาม อยากให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศได้ลองคิดหาวิธีในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของตัวเองตามบริบททางสังคมศาสตร์และภูมิศาสตร์ เนื่องจากตนเชื่อว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งคงไม่สามารถไปปรับใช้กับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศได้ ดังนั้นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหากจะแก้อย่างตรงจุดจะต้องเริ่มจากเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่นโยบายจากส่วนกลาง
          "ผมได้เสนอเลขาธิการ กพฐ.ทำวิจัยเพื่อกำหนดอนาคตโรงเรียนขนาดเล็กทั่วของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 16 หัวข้อ ครอบคลุมทุกปัญหาที่จะเป็นเมื่อมีการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบต่างๆ อาทิ หากมีนโยบายยุบโรงเรียน อาคารสถานที่ที่ถูกยุบจะไปทำอะไร ความสำเร็จของการยุบคืออะไร เป็นต้น ขณะเดียวกันเป็นการหาวิธีแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกรายละเอียด อาทิ แก้ปัญหา ก. ข. ค. ได้แล้ว แต่จะเกิดปัญหา abc จะแก้อย่างไร แก้ปัญหา abc แล้ว ยังมีปัญหา 123 แก้อะไรจะเกิดประโยชน์กว่ากัน ทั้งนี้ เชื่อว่าผลการวิจัยจะเห็นภาพชัดในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และเพื่อเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป" นายพิษณุกล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: