วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.ชงครม.ไฟเขียวเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว

         เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2556 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งงบจ้างอัตราจ้างในสังกัด สพฐ.ไว้ 8,674 ล้านบาท จำนวน 72,794 อัตรา อาทิ งบจ้างครูอัตราจ้างเพื่อแก้ปัญหาครูขาดขั้นวิกฤต 8,180 อัตรา เจ้าหน้าที่ธุรการ 14,532 อัตรา นักการภารโรง 8,745 อัตรา ครูภูมิปัญญา 7,000 อัตรา และอัตราจ้างอื่นๆ ที่มีวุฒิต่ำกว่าระดับปริญญาตรี เป็นต้น ซึ่งงบที่เสนอนั้นจะให้ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท สำหรับผู้ที่มีวุฒิระดับปริญญาตรีตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว เรื่องนี้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นความสำคัญของการมีครูอัตราจ้าง และครูธุรการมาเสริมในโรงเรียน เพราะเป็นประโยชน์และจำเป็นในช่วงนี้ เนื่องจาก สพฐ.มีปัญหาขาดแคลนข้าราชการครูประมาณ 22,000 อัตรา ฉะนั้น โครงการไทยเข้มแข็งของ ศธ.ในปีที่ผ่านมา จึงได้จ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ และครูในสาขาที่ขาดแคลนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในสภาวะที่ สพฐ.ไม่ได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการเพิ่ม ทำให้การเรียนการสอนขับเคลื่อนไปได้ ทั้งนี้ โดยหลักการนายสุชาติต้องการให้คงอัตราจ้างเหล่านี้ต่อไปตามปกติ
          "ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานด้านงบและรายละเอียดต่างๆ เป็นหน้าที่ของสำนักที่เกี่ยวข้องใน สพฐ.ต้องไปดูแล เช่น การดำเนินการในเรื่องของกฎกติกา เป็นต้น โดยสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) รายงานว่าส่วนที่เป็นอัตราจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ ได้ตั้งงบไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วเพื่อจ้างต่อ แต่ครูอัตราจ้างสาขาขาดแคลน 5,290 อัตรา ถูกตัดไปในการพิจารณางบชั้นต้น แต่ขณะนี้ สพฐ.ได้เสนอขอแปรญัติงบและได้รับความเห็นชอบให้ตั้งงบส่วนนี้กลับมาแล้ว แต่ยังต้องรอว่าท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร" นายชินภัทรกล่าว
          แหล่งข่าวจาก สพฐ.กล่าวว่า กรณีที่กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สพฐ.ว่าครูอัตราจ้างประมาณ 65,712 อัตรา ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเพื่อให้มีรายได้รวม 15,000 บาท หากท้ายที่สุดแล้ว เมื่อ สพฐ.เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติงบ อัตราจ้างของปีงบ 2556 ตามที่ สพฐ.เสนอตั้งงบไว้ 8,674 ล้านบาทนั้น จะต้องส่งคืนงบบางส่วนไป โดยอัตราจ้างของ สพฐ.ระดับปริญญาตรีจะต้องรับอัตราค่าจ้างตามเดิมประมาณ 9,000 กว่าบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

'คุรุสภา'เดินหน้ายกเครื่องตั๋วครูเสียงแตกมองต่างมุม'หนุน-ค้าน'
      นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูปฐมวัย ครูประถม ครูมัธยม รวมถึงแบ่งออกเป็นใบอนุญาตตามรายวิชา อาทิ ครูสอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ส่วนครูอาชีวศึกษา จะแยกออกเป็นใบอนุญาตครูผู้สอนตามสาขาวิชา เช่น วิชาช่าง เกษตร บริหาร ว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่ได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ โดยเบื้องต้นพบว่าความคิดเห็นยังแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีใบอนุญาตฯใบเดียวตามเดิม เพราะหากแยกเป็นรายวิชาจะสร้างปัญหาให้โรงเรียน เป็นเงื่อนไขให้ครูไม่ยอมสอน ทั้งที่เรามีปัญหาขาดครูมากอยู่แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายเห็นด้วยเพื่อจะได้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้ครูเฉพาะทาง ซึ่งหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วครูจะมีใบอนุญาตฯเฉพาะทางเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ เรื่องนี้คงต้องหารือร่วมกันต่อไป เพราะหากจะปรับเปลี่ยนจริงๆ จะต้องไปแก้ข้อบังคับมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน และปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่
          ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใบอนุญาตฯปัจจุบันเหมาะสำหรับครูระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงของการปูพื้นฐานวิชาต่างๆ แต่เมื่อถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตนเห็นด้วยว่าควรจะแยกออกเป็นรายวิชา เพราะโลกในอนาคตต้องการครูที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ที่สำคัญต่อไปการขอใบอนุญาตฯมีความชัดเจนมากขึ้น คนที่เรียนครูสามารถเลือกเรียนในวิชาที่สนใจมากขึ้น ขณะที่สถาบันฝ่ายผลิตครูก็จะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนในแต่ละวิชาให้เข้มขึ้นเพื่อผลิตครูให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้าน เพราะกังวลว่าหากแยกใบอนุญาตฯเป็นรายวิชา จะทำให้ครูไปสอนวิชาอื่นไม่ได้และกลัวจะขาดแคลนครูมากขึ้นนั้น ตนเห็นว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนครูอยู่แล้ว เชื่อว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เบาบางลง ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองที่ปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่อยากให้มองถึงอนาคตมากกว่า
          "การปรับเปลี่ยนการขอใบอนุญาตฯจะทำให้สถาบันฝ่ายผลิตครูต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไร ที่จะพาครูไปสู่วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่หากเราไปกังวลและคิดถึงปัญหาเป็นที่ตั้ง จะทำให้ก้าวไปไหนไม่ได้เหมือนถูกบล็อก" นายสมพงษ์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: