วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศธ.เร่งดันเด็กไทย รู้เท่าทันประชาคมอาเซียน

         การเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" ในปี 2558 มีความหมายมากกว่าการเตรียมตัวเข้าสู่กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ที่เมื่อลงมือทำแล้วก็ถือว่าจบ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีผลต่อเนื่องไปในอนาคต ทั้งในด้านวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมการทำงาน สังคม การใช้ชีวิต และการศึกษาของคนไทย ซึ่งก็ถือว่าเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยเช่นกัน เพราะสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของการเปิดเสรีการบริการ ว่าด้วยการผ่อนปรนในบางเรื่อง และหนึ่งในนั้นได้รวมเรื่องการศึกษาและการประกอบอาชีพเข้าไว้ด้วย
          ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องต้องกันที่จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม โดยที่การขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคในทุกมิตินี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกหลัก ถือเป็นหลักการที่สำคัญ
          คุณจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงบทบาทและภารกิจสาคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในอาเซียนเพื่อพัฒนาการศึกษาทุกระดับให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ สร้างกระแสความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น
เยาวชนไทย.. รู้จักอาเซียน
รู้จักประเทศตัวเองแค่ไหน?

          รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อเยาวชนว่า ในปี 2558 ที่จะถึงนี้มีความสาคัญมาก เด็กบางคนยังไม่รู้ว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่อะไร? จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย? ซึ่งถ้าไม่มีใครบอกว่า "ประชาคมอาเซียน" คืออะไร เด็กจะไปไม่ถูกทาง
          "เด็กๆ ต้องทราบว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป จะเกิดการรวมตัวเป็นตลาดเดียวในเรื่องการเปิดเสรีการบริการ มีการผ่อนปรนในบางเรื่อง เช่น การประกอบวิชาชีพ เขาอาจต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัว หรือสักวันหากต้องไปทางานในประเทศเหล่านั้น ก็ต้องรู้ตัวว่าจะมีแค่ทักษะเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เพราะมี 7 วิชาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในประเทศสมาชิก ดังนั้นเรื่องอาเซียนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว จึงอยากให้เด็กๆ ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย"

เร่งพัฒนาทักษะของตนเอง
          ในฐานะผู้ใหญ่ซึ่งทำงานด้านการศึกษาของเยาวชนไทยโดยตรง คุณจุไรรัตน์ มองว่า ทักษะทางด้านภาษา เทคโนโลยี ทักษะชีวิตและการทำงาน คืออาวุธสำคัญที่จะทำให้เด็กไทยผงาดได้ในยุคการเปิดเสรีทางการศึกษา   "ปัจจุบันเด็กไทยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเด็กที่มีความสามารถ และมีพรสรรค์ กลุ่มที่ 2 เป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เนื่องจากขาดโอกาส และกลุ่มที่ 3 คือเด็กซึ่งอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ซึ่งอาจจะต้องใช้ทั้งโอกาสและระยะเวลาในการพัฒนา จุดนี้มองว่าเด็กไทยต้องพัฒนาใน 3 ทักษะคือ 1.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) เด็กไทยยังมีจุดอ่อนโดยเฉพาะทักษะด้านภาษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน ในส่วนภาษาจีนก็มีครูอาสาสมัครจีน นักศึกษาช่วยสอนจากประเทศจีนเข้ามาช่วยเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากเรียน แต่เด็กเองก็ต้องขยัน ครูก็ต้องกระตุ้นให้เด็กลดความขี้เกียจ เพิ่มความขยัน เพราะการเรียนภาษาต้องท่องจำและเอาใจใส่อย่างจริงจัง 2.ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายแจกแทบเลต เรื่องไอที ถ้าเด็กได้เรียนไอทีเขาจะมีพัฒนาการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นรอบโลกได้อย่างเท่าทัน ส่วนที่ 3. ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) เด็กไทย จะต้องค้นหาว่าตนเองถนัดด้านใดเพื่อไปประกอบวิชาชีพ เพราะถ้าเด็กค้นหาตัวเองได้เร็วเท่าไร จะเป็นกำไร ชีวิตในการมุ่งสู่เป้าหมายของตน และสามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างมีความสุขเร็วขึ้นเท่านั้น นั่นคือมีอาชีพ
          การงานที่ตรงความสามารถและทำอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นทักษะที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ที่หลายประเทศพยายามบ่มเพาะเด็กของตนเองให้มีทักษะทั้ง 3 ด้าน นอกจากนี้ในส่วนของทัศนคติด้านอารมณ์และการเรียนรู้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กไทยจะต้องได้รับการพัฒนาให้เคียงคู่กันไป"
นอกจากการพัฒนาทักษะต่างๆ แล้ว การค้นพบความถนัดของตัวเองก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
คุณจุไรรัตน์ แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันเด็กไทยสนใจเรียนสายสามัญมาก คิดเป็น 60 ต่อ 40 ถ้าเทียบกับสายอาชีวะ แต่บางครั้งการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ถ้าจบไปแล้วไม่มีงานทำ จะประสบความยากลำบากในการดารงชีวิต แต่ถ้าเด็กพร้อมจะไปเรียนสายอาชีพ เมื่อจบออกมาแล้วเด็กๆ ยังมีโอกาสทำงานในสายอาชีพที่สำคัญ ในตลาดอาเซียนได้ เพราะความต้องการของตลาดแรงงานอาเซียนในด้านทักษะวิชาชีพนั้นมีอยู่มาก แต่เด็กมองข้ามตรงจุดนี้ไป

          คุณจุไรรัตน์เน้นว่า อย่าดูถูกอาชีพที่ใช้แรงงาน หรือใช้ทักษะ ใช้ฝีมือ ว่าสาคัญน้อยกว่าการเรียนให้ได้ปริญญา เพราะปริญญาอาจไม่ใช่คาตอบของการได้งานทา หากแต่สิ่งที่ถูกต้องคือ เมื่อเรียนจบแล้วจะไปประกอบวิชาชีพอะไรมากกว่า
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวเสริมถึงประเด็นเรื่องทักษะในสายอาชีพว่ามีความสำคัญ ดังจะเห็น ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นเรื่องทักษะฝีมือ ผ่านโครงการพระราชดำริหลายๆ โครงการ อาทิ โครงการพระดาบส ซึ่งสอดรับกับเรื่องวิชาชีพ หรือโครงการเกี่ยวกับการเกษตร จึงอยากให้เด็กหันมาสนใจเรื่องนี้มากกว่าที่จะมุ่งไปนั่งเรียนในห้องเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา แต่เมื่อจบแล้วไม่มีงานทำ


         
อาเซียนสัญจรฯ.. นำความรู้สู่ทุกภูมิภาค
          เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงเกิดเป็นโครงการ "อาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร" โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการต่างประเทศ และ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
คุณจุไรรัตน์ กล่าวถึงโครงการอาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานครว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างความตื่นตัวให้เด็กและเยาวชนต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น   "กิจกรรมครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและอยากรู้จักสมาชิกในชาติอาเซียน ว่าเขารู้จักไปบ้างแล้วเท่าไหร่ รู้จักประเทศอาเซียนทั้ง 9 ประเทศอย่างไร รวมถึงรู้จักประเทศตัวเองแค่ไหน ขณะเดียวกันเขาจะได้แสดงออกถึงศักยภาพความสามารถของเขาที่จะผูกความ เป็นมิตรทั้ง 9 ประเทศได้อย่างไร รวมทั้งศักยภาพเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยมีการศึกษาเป็นพื้นฐาน นี่คือจุดเริ่มของอาเซียนสัญจรในแต่ละภูมิภาค และทำในลักษณะของการปูพรมทุกภูมิภาค
กิจกรรมอาเซียนสัญจร ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การเสวนาทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงศึกษาธิการ, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากภาคเอกชน เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียน และประชาชนทั่วไป ได้เห็นภาพของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนชัดเจนขึ้น 2. การแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษ (ASEAN Quiz) ของนักเรียนในเขตการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ 3.เวทีสร้างสรรค์สู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Smart Teens) เป็นการนำนาฏศิลป์ของประเทศสมาชิกอาเซียนมาประยุกต์เพื่อสะท้อนคำขวัญอาเซียน "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)" 4. นิทรรศการความรู้พื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ของประเทศสมาชิกอาเซียน

          การดำเนินโครงการ อาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ นอกจากคาดหวังให้เด็กไทยเกิดความตระหนักรู้ในความเป็นอาเซียน เกิดความเข้าใจในความเป็นพลเมืองไทย เป็นพลเมืองอาเซียน และเป็นพลเมืองโลกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว คุณจุไรรัตน์ยังหวังอยู่ลึกๆ ว่า เด็กไทยจะมีความกระตือรือร้นสนใจการเรียนมากขึ้น สนใจสิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัว ทั้งยังอยากเห็นโครงการนี้ดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ถึงปี 2558 หรือยาวนานกว่านั้น เพราะการศึกษาเป็นภารกิจที่ต้องต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด
          'มุ่งหวังว่าจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและอยากรู้จักสมาชิกในชาติอาเซียน ว่าเขารู้จักไปบ้างแล้วเท่าไหร่รู้จักประเทศอาเซียนทั้ง 9 ประเทศอย่างไร รวมถึงรู้จักประเทศตัวเองแค่ไหน ขณะเดียวกันเด็กจะได้แสดงออกถึงศักยภาพความสามารถของเขาที่จะผูกพันความเป็นมิตรทั้ง 9 ประเทศได้อย่างไร'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: