วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หวั่นยุบกองทุนอาหารกลางวัน สพฐ.ชงแผนใหม่ชู 5 กลยุทธ์ - หลังตกประเมิน

          นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.มอบหมายให้รับผิดชอบกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักนโยบายและแผน หลังจากบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ประเมินผลย้อนหลังปีงบประมาณ 2554 ใน 4 ด้าน คือ ผลการดำเนินงานด้านการเงิน ผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการบริหารพัฒนาทุนหมุมเวียน โดยมีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่ 3 จากคะแนนเต็ม 5 จนพบว่า กองทุนดังกล่าวมีผลประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ คือ 2.1596 คณะกรรมการประเมินจึงเรียกตัวแทน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าหารือเพื่อทบทวนประสิทธิภาพของกองทุนว่าจะคงไว้หรือยุบทิ้ง โดยเบื้องต้นได้ให้ สพฐ.กลับมาทำแผนยุทธศาสตร์ที่แสดงแผนรองรับการใช้จ่ายเงิน มีแผนการติดตามประเมินผลที่ชัดเจน และแผนรองรับในอนาคต 3-4 ปี เพื่อผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลการจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันกับเด็กอย่างทั่วถึงเพราะเงินมีจำกัด


         รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หลังจากกลับมาประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มี น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ขณะนี้ได้จัดทำร่างกรอบแผนยุทธศาสตร์ฯ ปีงบประมาณ 2556-2559 เสร็จแล้ว มีกลยุทธ์ 5 ด้าน 1.จัดระบบบริหารจัดการองค์กร 2.ปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน 3.เพิ่มพูนทุนสู่เด็ก 4.พัฒนาการประชาสัมพันธ์ และ 5.อาหารกลางวันเพื่อการเรียนรู้ โดยระหว่างวันที่ 20-24 ส.ค.คณะทำงานจะทำกรอบแผนให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อเสนอกลับให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในสิ้นเดือน

        สพฐ.จะนำเงินสะสม 2,500 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 400 กว่าล้านบาทต่อปีของเงินในกองทุน 6,000 ล้านบาท มาส่งเสริมกลุ่มทุพโภชนาการ และมื้อเช้า เย็น สำหรับกลุ่มที่ต้องกินนอนในโรงเรียน ส่วนมื้อกลางวัน 13 บาท อปท.ยังดูแลเช่นเดิมนายพิษณุกล่าว

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod


สพฐ.เล็งคัดเลือก 12 ร.ร.ราชประชาฯ พัฒนาคนดีสู่สังคม

         นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษาเพื่อผลักคนดีเข้าสู่สังคม ซึ่งส่วนหนึ่งจะมองถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษา ทั้งวิชาการ และวิชาชีพด้วย โดยขณะนี้ สพฐ.กำลังดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 12 แห่ง เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในการกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมของโรงเรียน

        เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ สพฐ.ยังเตรียมจัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำของเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส(Special Education Exhibition) ใน 4 ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ ได้แสดงศักยภาพด้านอาชีพ ซึ่งภายในงานจะรวบรวมผลงานและผลิตภัณฑ์ของนักเรียนเพื่อนำมาจำหน่าย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสร้างโอกาสด้วย โดยเริ่มที่ ภาคกลาง รร.ศึกษาสงเคราะห์ จ.เพชรบุรี วันที่ 22-24 ส.ค. ภาคเหนือ รร.ศึกษาสงเคราะห์ จ.เพชรบูรณ์ วันที่ 24-26 ส.ค. ภาคใต้ รร.ราชประชานุเคราะห์19 จ.นครศรีธรรมราช และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานีวันที่ 13-15 ก.ย.นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: