วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มติ ครม. ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕

ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.๒๕๕๑ รวม ๔ ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
๑) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือภาคีเครือข่าย
- กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกตามอัธยาศัยของสำนักงาน สำนักงาน กศน. กทม. สำนักงาน กศน. จังหวัด และสถานศึกษา
๒) ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนอนุกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของประธานและอนุกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการภาคีเครือข่าย พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการภาคีเครือข่ายจำนวน ๑๒ คน โดยมาจากภาคีเครือข่ายตามที่กำหนด และข้าราชการในสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
- กำหนดให้ภาคีเครือข่ายที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นอนุกรรมการต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
- กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์ การได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง การแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง และอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
๓) ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด พ.ศ. .… มีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง การแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- กำหนดองค์ประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด
๔) ร่างกฎกระทรวงกำหนดระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพภายใน สำหรับสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับกับการศึกษานอกระบบซึ่งประกอบด้วยการศึกษาพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่อง
- กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และการประเมินคุณภาพภายใน
- กำหนดให้สถานศึกษาดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายในตามที่กำหนด
- กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดหรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการประกันคุณภาพภายในของศูนย์การศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบตามที่กำหนด
- กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาตามที่กำหนด

การแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ

ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางวาทินี ธีระตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลการ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สพฐ. ตามที่ ศธ.เสนอ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


ชงบอร์ด กพฐ.ถกทิศทางปรับหลักสูตร - โครงสร้างเวลาเรียน

           สพฐ.เล็งทบทวนทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต โฟกัสที่การปรับหลักสูตร และโครงสร้างเวลาเรียน ชงเข้าถกในบอร์ด กพฐ.วันที่ 15 ส.ค.นี้

           นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในวันที่ 15 ส.ค.นี้ และ สพฐ.เตรียมเสนอให้บอร์ดหารือเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.เล็งเห็นว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้น จะเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเพื่อสร้างบุคลากรที่ลักษณะอันพึงประสงค์ โดยเฉพาะการสร้างคนเก่งให้คิดวิเคราะห์เป็น มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของระบบการจัดการศึกษาในปัจจุบันอยู่

           อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษานั้น จะต้องมีการปรับองค์ประกอบต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะการปรับหลักสูตร ซึ่ง สพฐ.จะได้รวบรวมโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน แล้วนำเสนอในบอร์ด กพฐ.เพื่อให้ได้คำตอบที่สำคัญๆ เกี่ยวกับหลักสูตร อาทิเช่น หลักสูตรปัจจุบันมีเนื้อหาสาระให้เด็กเรียนมากเกินไปหรือไม่ จำนวนชั่วโมงเรียนในแต่ละวันมากเกินไปหรือไม่ โดยจะมีการเปรียบเทียบข้อมูลกับประเทศอื่นๆ ในประเด็นต่างๆ ด้วย เช่น จำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียนกับเวลาทำกิจกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือระดับความเข้มข้นของการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

          “ทั้งหมดนี้ จะนำมาถกใน กพฐ.เพื่อขอให้ กพฐ.กำหนดทิศทางมา สพฐ.จะได้นำข้อเสนอแนะของ กพฐ.มาเป็นพื้นฐานในการปรับหลักสูตร โดยเป้าหมาย คือ หลักสูตรที่ปรับใหม่จะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นอกจากนั้น จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการด้วย ที่ผ่านมา เป็นช่วงของการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา มีความพยายามทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ก็ต้องมาทบทวนว่า การกระจายอำนาจดังกล่าวมีจุดอ่อนหรือไม่ และในส่วนของ สพฐ.เอง ก็ต้องการเสนอรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนที่เป็นอิสระในรูปแบบใหม่ๆ นอกจากให้ ร.ร.เป็นนิติบุคคล เช่น โรงเรียนในกำกับ” นายชินภัทร กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: