วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ร.ร.ทางเลือก - ร.ร.เป้าหมายเฉพาะ ขอยกเว้นไม่สอบโอเน็ต

        กลุ่มร.ร.เป้าหมายเฉพาะ /ร.ร.ทางเลือก ส่วนใหญ่ไม่ต้องการสอบ O-Net “ชินภัทร” รับพร้อมหาช่องยกเลิกให้สำหรับกลุ่มดังกล่าว หรือออกเป็นประกาศเพิ่มเติม ระบุเด็กที่เรียนในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จบการศึกษาพื้นฐานแล้วออกไปทำงานมากกว่าจะเรียนต่อ เล็งตั้งคณะกรรมการฯ ร่วมศึกษาวิจัยข้อมูลเพื่อนำไปหารือส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังมีการคุยในวงเสวนาว่าจำเป็นต้องสอบ O-Net ทั้ง 8 กลุ่มสาระหรือไม่
        ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเสวนาการใช้ O-Net เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา พุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการ GPA สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.,โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี,โรงเรียนเตรียมทหาร,โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น
        โดย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้เชิญกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายเฉพาะ เช่น โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ โรงที่ตั้งขึ้นตามความต้องการพิเศษ เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส และโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทั้งนี้ หลังจากที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นแล้วนั้น ได้ข้อสรุปว่า การสอบ O-Net จำเป็นจะต้องมีอยู่เพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษาของชาติ แต่ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องสอบทุกคน เพราะการจัดการศึกษาทางเลือกนั้น จัดตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นให้เด็กมาสอบ O-Net เพราะเด็กกลุ่มนี้มีเปอร์เซ็นต์การเรียนต่อน้อย ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะไปประกอบอาชีพทันที อีกทั้ง การจัดการเรียนการสอน ก็มีความแตกต่างจากโรงเรียนในระบบ สพฐ.จึงจะกำหนดให้สำหรับโรงเรียนทางเลือกไม่บังคับให้เด็กต้องสอบ O-Net ทุกคน จึงจะไม่มีการนำคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนักกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX เหมือนกันโรงเรียนทั่วไป
        อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะไปทบทวนดูว่าประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนการของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 นั้นเปิดช่องให้มีการยกเว้นสำหรับโรงเรียนกลุ่มนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะไม่ต้องนำ O-Net ไปถ่วงน้ำหนัก GPAX
        เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องการสอบ O-Net มาหารือว่าจำเป็นต้องสอบ O-Net ครบทุกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาหรือไม่ หรือน่าจะลดลงไปสอบเฉพาะวิชาที่เป็นทักษะจำเป็น ซึ่งน่าจะสามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาสอบทุกกลุ่มสาระวิชา เหมือนอย่างการสอบ PISA ที่เป็นการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับนานาชาตินั้น จะมีการประเมินแค่ 3 ด้าน คือ ความสามารถทางภาษา ความสามารถในการคิดคำนวณ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา นอกจากนั้น ยังมีการพูดกันอีกว่า หลักสูตรของแต่ละช่วงชั้นที่กำหนดเป็น 8 กลุ่มสาระวิชาเหมือน ๆ กันนั้นอาจจะหนักเกินไป สำหรับเด็กบางช่วงชั้นไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระวิชา ดั้งนั้น สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นดึงทุกฝ่ายมาร่วมเป็นกรรมการ และศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
         นายไมตรี ศรีสกุลไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนของตนไม่ขอสอบ O-Net เนื่องจากเด็กนักเรียนของโรงเรียนนั้นมีความหลากหลายมีทั้งเด็กที่อยู่กับโรงเรียน และเด็กที่มีปัญหาและไม่ได้อยู่กับที่โรงเรียนจึงเป็นข้อจำกัด และมองว่าควรจะเน้นส่งเสริมเรื่องทักษะชีวิตให้แก่เด็กจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยหากจะจัดสอบ O-Net แต่ควรสอบกับนักเรียนในกลุ่มที่เรียนอยู่กับที่และติดตามตัวได้ ขณะเดียวกัน ตนเสนอว่าเมื่อ สพฐ.ประกาศใช้นโยบายดังกล่าวแล้วควรจะทำวิจัยควบคู่ไปด้วยเพื่อจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าการใช้นโยบายนี้ในแต่กลุ่มนั้นได้ผลเหมาะสมเพียงใด
       ด้าน น.อ.หญิง เรณู จิรสัทธรรม ร.น. อาจารย์ที่ปรึกษา โรงเรียนเตรียมทหาร กล่าวว่า ทางโรงเรียนเตรียมทหาร มีความต้องการสอบ O-Net เพราะเราก็ต้องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเช่นกัน เพียงแต่ว่าการจะนำคะแนนไปใช้ให้มีผลกับการจบการศึกษานั้นเป็นปัญหาสำหรับโรงเรียน เพราะห้วงเวลาประกาศคะแนน O-Net นั้นไม่ทันต่อการนำไปใช้ และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นช่วงที่นักเรียนจะต้องถูกส่งตัวขึ้นประจำเหล่า และแม้จะมีเด็กที่หลุดจากเหล่าก็มีเพียงปีละ 2-3 คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากจะใช้ก็สามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามส่งเสริมให้แต่ละเหล่าพิจารณานำคะแนน O-Net ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกเด็กได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจในการสอบ O-Net
        นางรัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กล่าวว่า เด็กที่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจะเน้นการวิชาการครึ่งวันเช้าและครึ่งวันบ่ายจะสอนวิชาชีพ และการสอนจะเป็นแบบบูรณาการโดยเน้นว่าหากเด็กจบออกไปจะมีทักษะวิชาชีพเพื่อออกไปทำงานได้ ทำให้หากจะสอบ O-Net ทำได้ลำบากบางคนสามารถเรียนได้ บางคนไม่ได้ที่ผ่านมาทางโรงเรียนจะให้เด็กเป็นผู้เลือก หากใครเลือกจะเรียนต่อที่สูงขึ้นและเลือกสอบโรรงเรียนจะเพิ่มเวลาสอนเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน ส่วนตัวมองว่าการสอบ O-Net เป็นการบีบคั้นเด็ก ดังนั้น ทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจึงไม่อยากจะสอบ
        ขณะที่ นางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ถ้าเอาคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนัก GPAX แล้วคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงสูง เช่น จากเดิม 4.00 เหลือ 3.50 ทปอ.จะหนักใจว่าจะใช้ค่าคะแนนไหนดี ขณะที่ตัวเด็กเองอาจจะออกมาโวยได้ เพราะเด็กที่ได้ 4.00 ในประเทศไทยมีกว่า 10,000 คน ถ้าคะแนน GPAX เขาถูกลดคงไม่ยอมแน่ เพราะฉะนั้น อยากให้ สพฐ.มีการจำลองทดลองทำดูก่อนที่จะประกาศใช้จริง
        ด้าน ดร.ทรายทอง พวกสันเทียะ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและบริหารการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สทศ. กล่าวว่า เมื่อนำคะแนน O-Net มาใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมนจบช่วงชั้นปีการศึกษา 2555 นักเรียนไม่ต้องกังวลจะทำให้คะแนน GPA ต่ำลง เพราะสัดส่วนนำมาใช้แค่ 20% อีกทั้งคะแนน O-net จะต้องนำคะแนนมาแปลงก่อนจึงจะนำไปใช้ โดยเบื้องต้น สทศ.จะแปลงคะแนน O-Net ออกเป็น 7 ช่วง และให้จุดตัดคะแนนขั้นต่ำไม่ได้ฟิกที่ 50:50 แต่จะดูจากคะแนนสูง-ต่ำในแต่ละปี เช่นปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมาวิชาภาษาอังกฤษ ม.6 สทศ.กำหนดจุดตัดที่ 25 คะแนน และคะแนนระดับที่ 1 จะเริ่มจากที่ 25-30 คะแนน ระดับอื่นก็ไล่ขึ้นไป


ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: