วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ครูคืนถิ่น'ป่วน!เขตพท.ไม่ตัดโอนอัตรา

        จากการที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี นโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการครูคืนถิ่น โดยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งในส่วนของ สพฐ.ได้รับการอนุมัติย้ายคืนถิ่น จำนวน 10,174 คน จากผู้ยื่นขอย้าย 20,717 คน คิดเป็นสัดส่วน 50.34% แต่ข้อเท็จจริงพบว่าการย้ายคืนถิ่นกรณีการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน ดำเนินการได้น้อยมาก เนื่องจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา หลายแห่งไม่ยอมอนุมัติตัดโอน เนื่องจากหวั่นว่าจะส่งผลให้โรงเรียนที่เดิมขาดแคลนอัตราครูอยู่แล้ว เกิดปัญหาขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ขณะนี้เริ่มมี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาร้องเรียนว่า สพฐ.กำลังก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพราะผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติย้ายครูในเขตพื้นที่การศึกษา ตามกฎหมายระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่ สพฐ.
       "ขณะนี้มีบางเขตพื้นที่ฯไม่อนุมัติให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราไปยังเขตพื้นที่ฯปลายทาง อาทิ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 4 ได้พิจารณาเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วมีมติว่าไม่เห็นควรให้มีการอนุมัติตัดโอนตำแหน่งและอัตรา ไปยังเขตพื้นที่ฯปลายทาง เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดก็ขาดแคลนครูต่ำกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 (นนทบุรี อยุธยา) ที่ไม่อนุมัติให้มีการตัดโอนในบางอัตราโดยให้เหตุผลว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งเมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไม่อนุมัติ ครูผู้ยื่นเรื่องก็ไม่สามารถย้ายไปยังโรงเรียนปลายทางได้ นอกจากนี้ มีบาง สพม.รับตัดโอนตำแหน่งและอัตราจาก สพป.อื่น แต่ไม่ยอมตัดโอนในส่วนของตนเองให้กับ สพป. และบางเขตพื้นที่ฯชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเอกสารไม่พร้อม" แหล่งข่าวจาก สพท.กล่าว และว่า เรื่องการย้ายครูในเขตพื้นที่ฯเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ขณะนี้เริ่มมีการร้องเรียนแล้วว่า สพฐ. กำลังก้าวก่ายอำนาจหน้าที่
        นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เคยได้รับแจ้งปัญหาที่บางเขตพื้นที่การศึกษายังไม่ตัดโอนตำแหน่งและอัตราข้าราชการครูในโครงการครูคืนถิ่นไปยังโรงเรียนปลายทาง แต่ สพฐ.ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากเรื่องการตัดโอนตำแหน่งและอัตราข้าราชการครูเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และ สพฐ.ไม่มีอำนาจสั่งการได้ ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือและความกรุณาให้มีการอนุมัติให้ข้าราชการครูได้ย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่อความต้องการของเพื่อนข้าราชการครู อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่ยอมตัดโอนตำแหน่งและอัตราครูคืนถิ่น ทราบว่าเป็นเพราะปัญหาความขาดแคลนข้าราชการครูเนื่องจากบางโรงเรียนมีครูขอย้ายหลายคนและหากให้ย้ายไป ก็จะไม่มีครูสอนแทน อีกทั้ง สพฐ.ยังไม่ได้จัดสรรอัตราไปทดแทนให้
       "ปัญหาที่เขตพื้นที่ฯไม่ให้ครูย้ายคืนถิ่นมีอยู่ไม่มากและไม่กี่เขตพื้นที่ฯ เพราะหลายเขตพื้นที่ฯได้ตัดโอนอัตราตามที่ สพฐ.ได้อนุมัติให้ครูย้ายคืนถิ่น บางเขตพื้นที่ฯอาจจะให้ย้ายได้บางส่วนก็มี" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนกรณีขอให้ครูไปช่วยราชการ เพื่อให้ครูได้กลับภูมิลำเนานั้น ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา จะได้รับการย้ายทั้งหมด เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของ สพฐ.โดยตรง อย่างไรก็ตาม กรณีเขตพื้นที่ฯไม่ให้ครูย้ายครูคืนถิ่นเพราะขาดอัตรากำลังนั้น อยากให้ทำเป็นบันทึกเสนอมาที่ สพฐ.จะได้พิจารณาจัดสรรอัตราทดแทนให้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


                     แจง'เกณฑ์วิทยฐานะใหม่'ยังไม่ยุติ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสุบรรณ ไชยศิริโชติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล ในฐานะหัวหน้าโครงการยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.พิจารณาปรับแก้กรอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะด้วยข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement) โดยเสนอให้ใช้ฟาสต์แทรก (Fast Track ) เลื่อนวิทยฐานะ 1 ปีถ้าหากผลคะแนนประเมินของคณะกรรมการ 3 คนเป็นเอกฉันท์และได้คะแนนสูง โดยวิทยฐานะชำนาญการ (ชก.) ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ชกพ.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75, วิทยฐานะเชี่ยวชาญ (ชช.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ (ชชพ.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 สามารถเสนอให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา หรือ ก.ค.ศ.แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติได้ เมื่อสามารถพัฒนางานภายในปีเดียวนั้น ปรากฏว่าหลังจากมีข่าวนี้ออกมา มีผู้สอบถามมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. จำนวนมากว่า ก.ค.ศ. มีมติเช่นนั้นแล้วหรือไม่ จะขอได้วันนี้หรือไม่ ดังนั้น ขอชี้แจงว่าขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. กำลังประชุมสัมมนาเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ตามมติ ก.ค.ศ. โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพิจารณา โดยยึดหลักต้องพัฒนางานตามข้อตกลงอย่างน้อย 2 ปีทุกวิทยฐานะ ไม่มีการฟาสต์แทรก
       "ส่วนที่มีข่าวว่ามีการเสนอฟาสต์แทรกที่จะให้พัฒนางาน 1 ปี และอนุมัติได้เลยนั้น คงจะเป็นเรื่องที่พิจารณาในส่วนของ สพฐ.เอง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจาก ก.ค.ศ. ก่อน ดังนั้น หาก ก.ค.ศ. พิจารณาเป็นอย่างไรแล้วจะแจ้งให้เพื่อนข้าราชการครูได้ทราบต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและจะได้ถือปฏิบัติได้ถูกต้องด้วย" นายสุบรรณกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: