วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศธ.ประชุมเตรียมแถลงผลงานของรัฐบาลด้านการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ


         รมว.ศธ.กล่าวในที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้แต่ละกระทรวงแถลงผลงานในรอบปี แต่ รมว.ศธ.ทำงานได้ ๖ เดือนกว่าๆ จึงจะเน้นการแถลงผลงานด้านการศึกษาของรัฐบาลในรอบ ๖ เดือนที่ผ่านมาเป็นหลัก โดย ศธ.จะแถลงผลงานในวันที่ ๕-๖ กันยายน ๒๕๕๕ ที่ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี พร้อมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดการแถลงผลงานของ ศธ. ในวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ทางสถานีโทรทัศน์ สทท. ช่อง ๑๑
        การประชุมในครั้งนี้ จึงได้แจ้งต่อที่ประชุม เพื่อให้ ๕ องค์กรหลัก และ ๗ หน่วยงานในกำกับ ได้เตรียมการแถลงผลงาน ๓๑ นโยบายหลักด้านการศึกษา ซึ่งจะมีการออกบูธแต่ละนโยบาย โดยเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ให้เห็นถึงปรัชญาและอุดมการณ์การจัดการศึกษาและการบริหารงานของ ศธ. โดยทุกนโยบายเป็นสิ่งที่นักเรียนนักศึกษา ครู ผู้ปกครอง และทุกๆ คนในสังคมจับต้องได้ เป็นเรื่องจริงตามที่พ่อแม่ผู้ปกครองใฝ่ฝันที่จะได้เห็นลูกหลานของเขามีความเท่าเทียม สร้า้งโอกาสทางการศึกษา และจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยรูปแบบการจัดงานจะเน้นการสื่อสารระหว่าง ศธ.กับนักเรียนนักศึกษา ครู ผู้ปกครอง และประชาชนโดยตรง ทุกคนสามารถตั้งคำถามกลับมาได้
       การแถลงนโยบายของ ศธ.ทั้งหมดนี้ เพื่อต้องการบอกว่า ศธ.มีวิธีการและแนวทางอย่างไรที่จะพลิกแผ่นดินของประเทศ ให้กลับมามีคุณงามความดีตามเดิม และบอกกับพี่น้องประชาชนได้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไร  ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ฝากให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เช่น

คุรุสภา ไม่ควรออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมจนมากมายเกินมาตรฐานของอาเซียน ให้มองว่าพ่อแม่ยังไม่ออกกฎระเบียบต่างๆ มากมาย เพื่อควบคุมลูกของตนเอง

สกสค. ฝากพิจารณาว่าไม่ควรเพิ่มภาระหนี้สินครู เช่น เงินกู้ ช.พ.ค. ๓ ล้านบาท เพราะปัจจุบันมีครูที่มีหนี้สินหนักๆ เพียง ๑ หมื่นกว่าคน จาก ๖ แสนคน ดังนั้นนโยบาย ศธ.จะไม่หาแหล่งเงินทุนอื่นมาให้ครูกู้เพิ่มอีก

สทศ. ขอให้เน้นเรื่องการออกข้อสอบ O-Net ควรถามตรงๆ ไม่ควรพลิกแพลงมากเกินไป ต้องการให้ครูทุกคนในชั้นที่จะสอบ O-Net เช่น ครูผู้สอนชั้น ม.๖ สามารถออกข้อสอบเองและส่งข้อสอบทางออนไลน์มาให้ สทศ.ไปจัดทำเป็นคลังข้อสอบ (Item Bank) หากข้อสอบของครูคนใดได้รับคัดเลือกให้เป็นข้อสอบ O-Net ก็ควรมีกระบวนการตอบแทนให้ครูรายนั้นด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีคลังข้อสอบจำนวนมากที่สามารถคัดเลือกเป็นข้อสอบในแต่ละครั้งได้ โดย สทศ.อาจจะจัดแคมเปญรณรงค์ให้ครูได้รับทราบประเด็นนี้อย่างทั่วถึงด้วย รวมทั้งร่วมกับ สพฐ.และสำนักงาน ก.ค.ศ.จัดอบรมครูเกี่ยวกับวิธีการวัดประเมินผลและการออกข้อสอบด้วย สำหรับชั้นอื่นๆ ที่ไม่มีการสอบ O-Net ก็จะมีการสอบ National Test ในสัดส่วนร้อยละ ๒๐ ด้วย

สสวท.และ สพฐ. ต้องการให้เน้นหลักสูตรลดการท่องจำลง นักเรียนมีเวลาสันทนาการหรือกิจกรรมด้านอื่นๆ มากขึ้น เช่น ศิลปะ กีฬา

รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ฝากพิจารณาการส่งเสริมเด็กเก่งที่ยากจนได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้มากขึ้น

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


     ฟาสต์แทร็กเลื่อนวิทยฐานะล่ม ขัดมติก.ค.ศ.ให้ใช้เวลา 2 ปีทำงาน

          นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.พิจารณาปรับแก้กรอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูฯ มีและเลื่อนวิทยฐานะด้วยข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement) โดยเสนอให้ใช้ฟาสต์แทร็ก (Fast Track) เลื่อนวิทยฐานะ 1 ปี หากผลคะแนนประเมินของคณะกรรมการ 3 คนเป็นเอกฉันท์ และได้คะแนนสูง โดยวิทยฐานะชำนาญการ (ชก.) ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ชกพ.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75, วิทยฐานะเชี่ยวชาญ (ชช.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ (ชชพ.) คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ให้เสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา หรือ ก.ค.ศ.แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติได้ เมื่อสามารถพัฒนางานภายในปีเดียว ว่า คงไม่สามารถใช้ระบบฟาสต์แทร็กให้ข้าราชการครูฯ เลื่อนวิทยฐานะภายใน 1 ปีได้ เพราะตามมติ ก.ค.ศ.กำหนดให้ใช้เวลา 2 ปีการศึกษาในการปฏิบัติงาน
        นางศิริพรกล่าวว่า ที่สำคัญ กรอบร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.กำหนดให้ดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับนักเรียน ไม่ใช่ดูผลคะแนนของผู้ที่ขอทำผลงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เช่น สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่กำกับดูแลวิทยาลัยชุมชน ไปพิจารณาในรายละเอียดว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับนักเรียนควรดูจากตัวชี้วัดอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานอาจกำหนดไม่เหมือนกัน ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลกลับมาจากหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ หลังได้รับแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ.จะนำเสนอ อ.ก.ค.ศ.ระบบที่เกี่ยวข้องพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นชอบในเดือนกันยายน ส่วนจะนำมาบังคับใช้ได้ทันในปีนี้หรือไม่นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องรอฟังข้อสรุปจาก ก.ค.ศ.ยังไม่สามารถตอบได้
        "กรอบร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่ ก.ค.ศ.เห็นชอบ กำหนดให้ใช้เวลา 2 ปีการศึกษาในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่ 1 ปี และกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง และคณะกรรมการประเมิน ส่วนคณะกรรมการประเมินจะมีกี่ชุดนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียดที่ต้องรอการหารือในที่ประชุม ก.ค.ศ. ดิฉันไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีกี่ชุด เบื้องต้นบอกได้ว่าคงไม่ใช่อย่างที่ สพฐ.เสนอ" นางศิริพรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: