วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เร่งตั้งรองเลขาฯ 4 หน่วยงาน

        นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวถึงกรณีที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ โดยให้ปรับลดจำนวนรองเลขาธิการ สกสค.ลงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับโครงสร้างการบริหารของสกสค. โดยปรับลดตำแหน่งรองเลขาธิการ สกสค. แต่จากจำนวนรองเลขาธิการ สกสค. คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มี 4 ตำแหน่งนั้น จะแต่งตั้งรองเลขาธิการ เพียง 3 คน ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 1 คน จะรอดูว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
         ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดศธ. ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการสรรหารองเลขาธิการในตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ของทั้ง 3 หน่วยงาน เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัด ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ตามหลักเกณฑ์การสรรหานักบริหารระดับต้น โดยกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของตำแหน่ง และให้นำเข้าเสนอในคณะกรรมการสรรหาฯ และเริ่มกระบวนการสรรหา ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ น่าจะได้รองเลขาธิการของทั้ง 3 หน่วยงาน ทั้งนี้ตำแหน่งรองเลขาธิการ กศน. ว่าง 2 ตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ว่าง 1 ตำแหน่ง และรองเลขาธิการ สช. ว่าง 1 ตำแหน่ง


ข่าวสด ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2555


คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การพัฒนาก่อนแต่งตั้งผู้บริหารฯ สนง.เอกชนในจว.ชายแดนใต้
ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม ผู้อำนวยการภารกิจภารกิจเสริมสร้างแลพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ

          ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 เรื่องการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอขึ้นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อประโยชน์ในการจัดอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงกำหนดให้สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/อำเภอ ดังกล่าว เป็นหน่วยงานการศึกษา ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 โดยมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ประสาน ส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนสถาบันการศึกษาปอเนาะ นั้น
         ต่อมา ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ในมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ว่าต้องผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งขณะนี้ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ/จังหวัด ดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.ผู้เข้ารับการพัฒนาต้องผ่านการสรรหาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ/รองผู้อำนวยการ/ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.หลักสูตรในการพัฒนา ประกอบด้วย 3 ส่วน มีระยะเวลาในการพัฒนาไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนี้ ส่วนที่ 1 การเสริมสร้างสมรรถนะ (ไม่น้อยกว่า 10 วัน) ส่วนที่ 2 การเรียนรู้ในสภาพจริง (ไม่น้อยกว่า 15 วัน) และส่วนที่ 3 การจัดทำแนวทางการพัฒนาการศึกษาเอกชนระดับอำเภอ/จังหวัด/การจัดทำแผนกลยุทธ์การศึกษาเอกชนระดับจังหวัด (ไม่น้อยกว่า 5 วัน)
3.ผู้เข้ารับการพัฒนาต้องมีระยะเวลาเข้ารับการพัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และต้องผ่านการประเมินระหว่างและสิ้นสุดการพัฒนาในหลักสูตรแต่ละส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
4.ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนรับผิดชอบในการจัดทำรายละเอียดคู่มือการพัฒนา และดำเนินการพัฒนาร่วมกับสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เห็นชอบ โดยดำเนินการให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานการพัฒนาที่ ก.ค.ศ.กำหนด

         ถือเป็นความเคลื่อนไหวอีกหนึ่งเรื่อง ที่ ก.ค.ศ.ได้ดำเนินการด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: