วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ครู 4 หมื่นเฮ!ตกเบิกเงินวิทยฐานะ ย้อนหลัง 1 ต.ค. 53 - 1 ก.ค. 54

     เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าในการจัดสรรงบประมาณปี 2556 เพื่อตกเบิกเงินวิทยฐานะให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ แต่ยังไม่ได้รับเงินวิทยฐานะประมาณ 36,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับการตกเบิกประมาณ 42,000 คน โดยข้าราชการครูที่ได้รับการตกเบิกให้นับตั้งแต่วันที่ผู้มีอำนาจลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553-31 กรกฎาคม 2554 ซึ่ง ผู้ที่ได้รับเงินตกเบิกวิทยฐานะดังกล่าวจะได้รับเงินก้อนใหญ่ บางคนอาจได้เงินหลายแสนบาท โดยวิทยฐานะชำนาญการพิเศษจะได้รับเงิน 5,600 บาท และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 9,900 บาท
     "ส่วนผู้ที่ผ่านการ ประเมินวิทยฐานะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา สพฐ.จะต้องเสนอของบเพื่อตกเบิกให้ต่อไป ซึ่งสาเหตุที่ต้องตกเบิกเนื่องจากต้องใช้งบ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้จะแจ้งการโอนเบิกจ่ายงบไปที่เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งให้ สพฐ.ดำเนินการตั้งแต่การประชุมระดับปลัดกระทรวงที่ จ.ชลบุรี ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา" นายไกรกล่าว
     นายไกรกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าหลังจากที่กลุ่มตัวแทนนิสิตนักศึกษาทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) รุ่นที่ 14 ขอให้เร่งบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยที่ล่าช้านั้น ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สพฐ.ว่าได้อนุมัติกำหนดตำแหน่ง 426 อัตรา เพื่อบรรจุนักศึกษาทุน สควค.และโครงการครูพันธุ์ใหม่ปี 2553 ให้ตามที่ สพฐ.เสนอ ไปแล้ว
     "สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเพื่อให้เร่งพิจารณาแต่งตั้งก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 และให้รายงานผลการแต่งตั้งมายัง สพฐ.ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องนี้ ฉะนั้น ปัญหาการบรรจุผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าวไม่มีแล้วและให้ทุกคนสบายใจได้" นายไกรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

                              สนผ.เร่งแผนร.ร.ขนาดเล็ก
         นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งนั้น ตนจะดูแลงานของสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) โดยนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบให้ดูแลการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม เลขาฯกพฐ.ไม่ได้เน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่ให้ดำเนินงานไปตามวิสัยทัศน์ของสพฐ. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ผลักดันเรื่องแท็บเล็ต สพฐ.จะเน้นจุดหลักคือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีมาตรฐานสากลเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก เน้น 4 เรื่อง คือ 1.การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่สากล 2.ลดช่องว่างทางการศึกษา 3.ให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนมีศักยภาพในการจัดการความรู้ และ 4.สพท. ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทั้ง 4 ข้อถ้าขยายไปตามโรงเรียนต่างๆ ได้ จะตอบโจทย์เรื่องการศึกษาอื่นๆ ทั้งหมด
       "สนผ.จะเข้าไปดูแลร.ร.ขนาดเล็กด้วย เพราะมีหน้าที่กำหนดแผนงานในเรื่องต่างๆ เช่น การปรับหรือรวม การจัดรถรับส่งเด็ก และการให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นการพัฒนาหรือสร้างรูปแบบร.ร. สำนักวิชาการหรือสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาจะดูแล ทั้งนี้ต้องให้ฝ่ายนวัตกรรมไปพิจารณาก่อนว่าโรงเรียนแบบไหนที่เหมาะสม แล้วค่อยปรับตัวแผนงานและงบ โรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องของการลดช่องว่าง การบริหารจัดการไม่ใช่การยุบ แต่ต้องมีขบวนการที่จะให้เด็กพัฒนาขึ้น" นายกมลกล่าว

นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: