วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 8/2555 ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก

ถึง พี่น้องชาวแผนและผู้ที่สนใจทุกท่านครับ
หากอ่านกระทู้ในจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 7/2555 จะพบว่า ความถี่ของกระทู้ก็จะเน้นอยู่สองเรื่องคือ เงินตกเบิกวิทยฐานะและค่าจ้าง 9,000 บาท และ 15,000 บาทสำหรับอัตราจ้างทีมีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีและปริญญาตรี ตามลำดับ ฉบับนี้ผมคงแตะเรื่องเดิมนิดหน่อย และพูดถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2556 ของกระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนแล้วทั้งงานและเงินที่จะทำงาน เริ่มเลยนะครับ

เงินวิทยฐานะ

ผมเคยให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเงินตกเบิกวิทยฐานะไปว่า ผู้ที่ได้รับอนุมัติเลื่อนวิทยฐานะ และมีคำสั่งตั้งแต่ตุลาคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2554 จะได้รับตกเบิกตุลาคม 2555 นี้ ซึ่งทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 68,074 คน (คำสั่งตั้งแต่ตุลาคม 2553 – ธันวาคม 2554) มีความหวังขึ้นมาทันที ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 22,724 ล้าน ในปี 2556 นี้ สพฐ. ได้รับงบประมาณเพื่อจ่ายเงินวิทยฐานะมาทั้งสิ้น 36,454 ล้าน เพื่อเบิกจ่ายให้รายเดิมที่เคยได้รับปี 2555 และรายใหม่ที่จะได้รับปี 2556 (ตุลาคม 2555 นี้) ปรากฏว่า ก.ค.ศ. มีการปรับเกณฑ์การรับเงินตกเบิกวิทยฐานะสำหรับกลุ่มชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ Click ตามหนังสือก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/166 ลว. 13 มิถุนายน 2555 ทำให้ต้องมีการจ่ายเงินตกเบิกเพิ่มให้กับกลุ่มชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นแต่ละรายมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงทำให้งบประมาณที่ได้มา 36,454 ล้าน จ่ายให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีคำสั่งถึง 31 กรกฎาคม 2554 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะจ่ายไปถึง 31 ธันวาคม 2554 ผมเลยกลายเป็นจำเลยไปทันทีที่ทำให้ผู้ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 – 31 ธันวาคม 2554 ยังไม่ได้รับตกเบิกวิทยฐานะ ถ้าเกณฑ์ ก.ค.ศ. ที่ปรับใหม่แจ้งมาก่อนที่เราได้รับงบประมาณเราคงปรับตัวทัน แต่นี่ได้เกณฑ์มาหลังจากที่เราได้รับงบประมาณมาแล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามวงรอบงบประมาณปกติ กลุ่มที่เหลือจะได้รับเงินตกเบิกอีกครั้งก็คือตุลาคม 2556 อีกหนึ่งปีเต็ม ขณะนี้ สำนักนโยบายและแผน(สนผ.) ได้ขอให้ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล(สพร.) รวบรวมจำนวนผู้ที่ได้เลื่อนวิทยฐานะตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึงปัจจุบันว่ามีจำนวนเท่าไร และต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจะทำเรื่องขออนุมัติงบกลางจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งท่านเลขาธิการให้ความเห็นชอบกับแนวทางนี้แล้ว เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ครับ เพราะท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้เปรยๆ เรื่องนี้กับท่านเลขาธิการอยู่เหมือนกันในการประชุมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่จะได้หรือไม่ได้ ได้เมื่อไรนั้น ยังตอบไม่ได้ครับ

อัตราจ้าง

ประเด็นเดิมๆของอัตราจ้างก็มีสองเรื่องครับ คือ เรื่องการต่อสัญญาจ้างและการเพิ่มค่าจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ เรื่องการต่อสัญญาจ้างคงไม่มีปัญหาแล้วมั้งครับ จะมีก็คงเป็นอัตราจ้างครูสาขาขาดแคลน โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ 5,290 คนกับอัตราจ้างครูวิทย์-คณิต 3,972 อัตรา ซึ่งมีปัญหาคนละแบบกัน อัตราจ้างครูสาขาขาดแคลนที่ช้าเพราะต้องหางบประมาณประมาณ 1,000 ล้านบาท มาจัดสรรให้เนื่องจากสพฐ.ไม่ได้รับงบประมาณส่วนนี้จากสำนักงบประมาณ แต่การต่อสัญญานั้นให้ต่อสัญญาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นมา สพฐ.กำลังโอนงบประมาณให้เขตพื้นที่แล้วครับ ส่วนครูวิทย์-คณิตนั้นได้มีการปรับเกณฑ์การจัดสรรใหม่ โรงเรียนมัธยมศึกษากระทบกระเทือนมากหน่อย เพราะมีการปรับเกณฑ์จัดสรรจากโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ไปให้โรงเรียนขยายโอกาสที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ต่ำมาก น้องๆ คนเดิมทุกคนจะได้รับการพิจารณาการต่อสัญญาให้ก่อน แต่อาจไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนเดิม หากโรงเรียนเดิมจ้างคนเดิมไปแล้วจะทำอย่างไร คุยกับผู้อำนวยการสำนักวิชาการ(สวก.) ผอ.วีณา อัครธรรม แล้วได้รับคำตอบว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาให้ หากสงสัยและยังติดใจประเด็นใดโปรดติดต่อ ผอ.วีณา อัครธรรม โทร. 081-3985823 ส่วนผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ ดร.พิเชฏษ์ จับจิตต์หัวหน้ากลุ่มสถาบันวิทยาศาสตร์ สวก. โทร 089-9673597 สำหรับค่าจ้าง 9,000 บาท และ 15,000 บาทนั้น น้องๆรออีกนิดนึงครับ พอดีเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี เรื่องนี้เลยชะงักไป ได้งบประมาณ ปี 2556 มาแล้วแต่ยังจ่ายไม่ได้ครับ ต้องรอมติคณะรัฐมนตรี เมื่อสั่งจ่าย

ทิศทางการดำเนินงานของ สพฐ. ปี 2556

การดำเนินงานปีงบประมาณ 2556 ได้ผ่านพ้นไปหนึ่งเดือนกว่าแล้ว สพฐ. ได้งบประมาณปี 2556 จำนวน 294,298,719,500 บาท มากกว่าปี 2555 จำนวน 21,068,702,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 7.71 เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่วนใหญ่ เป็นไปในส่วนของเงินเดือนและค่าจ้าง จุดเน้นในการดำเนินงานของ สพฐ.ปี 2556 ก็คล้ายๆ เดิม มีการปรับนิดหน่อยดังนี้ ครับ

1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักเพิ่มขึ้น โดยผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 (Student Achievement)
2. เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ (EQ : Emotion Quotient)
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง และมีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ( Literacy , Numeracy & Reasoning Abilities)
4. นักเรียนทุกคนมีความสำนึกในความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และอยู่อย่างพอเพียง (Sufficiency & Public Mind)
5. นักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปศาสตร์ ได้รับการส่งเสริมให้มีความเป็นเลิศ (Excel to Excellence)
6. ประชากรวัยเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อลดอัตราเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ส่งเสริมการเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ (Alternative Access)
7. นักเรียน ครู และสถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของตน (Southern – Border Provinces)
8. นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมพหุวัฒนธรรม (ASEAN Community)
9. สถานศึกษาทุกแห่งได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็งและได้รับการรับรองจากการประเมินคุณภาพภายนอก (Quality Schools)
10. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีคุณภาพตามมาตรฐานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (Effective Service Areas)

สพฐ. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการปี 2556 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังแสดงไว้ในเว็บไซด์ของ สนผ.การจัดสรรงบประมาณกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนครับ และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเขตพื้นที่มัธยมศึกษาที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนงบประจำพื้นฐานและงบพัฒนาคุณภาพ เท่ากับ 5 ล้าน และ 3 ล้าน ตามลำดับ เท่ากับเขตประถมศึกษา ทั้งนี้ก็ด้วยความเห็นใจเขตมัธยมศึกษา ซึ่งถึงแม้จะมีโรงเรียนน้อยแต่ก็มีพื้นที่กว้างขวาง บางเขตครอบคลุมถึง 4 จังหวัด จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานย่อยๆ ตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ อัตรากำลังปัจจุบันไม่เต็มตามกรอบ จำเป็นต้องใช้งบประมาณของเขตจ้างอัตราจ้างเอง รวมทั้งเวลา สพฐ. มีงานด่วนๆ ที่ต้องการมวลชน สพม. รอบๆ สพฐ. โดยเฉพาะ สพม.1-6 ก็เป็นกำลังหลักของ สพฐ. บางครั้ง ผอ.เขต ต้องควักกระเป๋าตัวเองอยู่เนืองๆ สพม. ต่างๆรอหน่อยนะครับ เนื่องจาก สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) ขอดำเนินการในส่วนนี้เอง เพื่อความคล่องตัวครับ

นโยบายของกระทรวงศึกษาการ

ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการท่านใหม่แล้ว นั่นก็คือ ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ตามลำดับ ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้แถลง click นโยบาย 10 ด้าน ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง ประกอบด้วย 1) เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้ศึกษา 2) การสร้างโอกาสทางการศึกษา 3) การนำสันติสุขสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4) การแก้ไขปัญหายาเสพติด 5) แท็บเล็ต 6) การวิจัย 7) กองทุนตั้งตัวได้ 8) การผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชน9) การบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ 10) ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น: