วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นโยบายการรับนักเรียน

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการประชุมสัมมนาส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยมีผู้บริหารโรงเรียนชั้นนำเข้าร่วมประชุมกว่า ๕๐๐ คน เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค

แนวทางการรับนักเรียน
สำหรับนโยบายการรับนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๖ จะยึดตามนโยบายการรับนักเรียนซึ่ง สพฐ.ได้ประกาศไปแล้ว เพราะเป็นหลักการที่ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับทราบแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกก็จะกระทบกับเด็กที่กำลังเตรียมตัวได้ หลักแนวทางการทำงานในทุกด้าน รวมทั้งการรับนักเรียนนั้น ย้ำว่าขอให้มีความเสมอภาค สร้างโอกาสทางการศึกษา ความมีเหตุผล อธิบายได้ และโปร่งใส ทั้งนี้เพราะว่าสมัยก่อนเราวางกติกาต่างๆ ไปเพื่อให้คนปฏิบัติ แต่ขณะนี้กติกาที่วางไว้ถูกโต้แย้งได้ และสุดท้ายกติกาที่วางไว้ก็อาจถูกล้มลงไปได้ ตัวอย่างมีบ่อยๆ ในปัจจุบันเช่น บางเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ก็ยังมีคนโต้แย้งได้ ไปศาลกันได้ ดังนั้นหากเราจะวางกติกาอะไรที่ชัดเจนโปร่งใส มีเหตุผลอธิบายได้ นั่นก็คือกรอบที่จะคุ้มครองเราดีที่สุด แต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เพราะว่าในแต่ละโรงเรียนต้องพินิจพิเคราะห์พิจารณาการรับนักเรียนในบางกรณี ซึ่งหากมีเหตุผลอธิบายได้ เรื่องไปถึงศาล ศาลก็ต้องเข้าใจ   รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะมาพบผู้บริหารในครั้งนี้ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของโรงเรียนชั้นนำ ๑๐ โรง รู้สึกประทับใจในคุณภาพและศักยภาพของนักเรียนที่มาแสดง จึงต้องการเห็นการรับนักเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงหรือโรงเรียนอื่นๆ ว่าจะมีศักยภาพเทียบกับนักเรียนที่มาแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการจัดการศึกษาคือ การยกระดับคุณภาพของคนทั้งประเทศ แม้เราจะมีนักเรียนที่ชนะการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสาขาต่างๆ จำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้เพิ่มศักยภาพไปสู่นักเรียนทั่วประเทศมากขึ้น  นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบสมาคมสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในโอกาสครบรอบ ๓๕ ปีของสมาคมฯ ทราบว่า มีสถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่งที่จัดหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพมาก แต่มีปัญหาคือหาเด็กเข้าเรียนไม่ค่อยได้ ประเทศจึงผลิตคนสาขานี้ได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นการสร้างคนทางด้านสายวิทยาศาสตร์จึงต้องเร่งสร้างตั้งแต่ระดับประถม-มัธยมศึกษาขึ้นไป เพราะหากจะให้เด็กที่อ่อนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ไปเรียนสายวิทย์ในระดับอุดมศึกษาแล้ว ไม่มีทางที่จะเรียนได้ดี  สมัยตนเรียนหนังสือในวิชาเรขาคณิต ครูสอนเท่าไรก็ไม่ค่อยเข้าใจ จนกระทั่งจบ ม.ศ.๓ ไปเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้มีโอกาสไปเข้าโรงเรียนติว ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ครูสอนเท่าไรก็ไม่เข้าใจนั้น แต่ครูเก่งๆ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มาติวหรือกวดวิชา พูดไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เข้าใจได้ดีว่าทำไมง่ายอย่างนี้ จึงต้องยอมรับว่าสมัยก่อนหรือปัจจุบันก็ยังพบปัญหาคุณภาพครู เพียงแต่การแก้ปัญหาสมัยเดิมต้องไปหาหรือไปเรียนกับครูที่เก่งๆ แต่สมัยนี้ไม่จำเป็น เพราะมีวิธีการมากมายที่จะนำสิ่งที่ครูสอนเก่งๆ มาเผยแพร่ต่อได้อย่างง่ายดาย เด็กอยู่ที่บ้านก็สามารถเข้าถึงได้ และครูผู้สอนก็สามารถจะพัฒนาตนเองได้ง่าย วิธีการพัฒนาตนเองก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เช่น ไปดูคนเก่งๆ สอนเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาเทคนิคการสอนของเราให้ดีกว่า


โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
รมว.ศธ.กล่าวว่า โรงเรียนเหล่านี้รับเด็กในพื้นที่ได้ไม่ครบตามที่เด็กต้องการอยู่แล้ว นั่นแสดงว่าความต้องการของเด็กที่จะเข้าเรียนมีมากกว่า จึงคิดง่ายๆ ก่อนว่า เราสามารถตรวจสอบระบบได้ว่าเด็กในละแวกนี้มีเท่าไร มีแนวโน้มประชาชนเข้ามาเพิ่มขึ้นมากเพียงใด เพราะจะส่งผลถึงความต้องการเข้าเรียนมากขึ้นด้วย บางพื้นที่มีการก่อสร้างคอนโดมีเนียมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก และจะส่งผลให้มีเด็กเข้าเรียนในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้นด้วย สพฐ.จึงต้องพิจารณาว่าจะเพิ่มที่เรียนหรือเพิ่มพื้นที่ได้หรือไม่ ทราบว่าบางโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีพื้นที่จำกัด ในบางพื้นที่มีการซื้อขายแพงที่สุดของประเทศ คือ ถนนวิทยุ ตารางวาละ ๑.๕ ล้านบาท เหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะที่ดินที่ตั้งของหลายโรงเรียนมีราคาสูงมาก มีเหตุผลที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรียนขึ้นทางสูง ไม่ใช่ก่อสร้างทางราบหรือสร้างอาคาร ๒ ชั้น เพราะขยายได้ยากมาก ซึ่ง สพฐ.จึงต้องพิจารณาสนับสนุนการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ใกล้บ้านมากขึ้น  อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้องการให้พัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนา เพื่อต้องการให้อีกโรงเรียนที่จับคู่กันกับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ให้มีศักยภาพมากขึ้น มีการตรวจสอบและวัดผลโรงเรียนอย่างจริงจัง เพราะหลายคนเลือกโรงเรียนตามความรู้สึกว่าชื่อเสียงโรงเรียนนี้ดี แต่บางโรงเรียนอาจจะดีมากกว่า จึงต้องมีการประเมินโรงเรียนต่างๆ พอสมควร พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองนักเรียน ตัวอย่างคือสมัยตนเรียนหนังสือที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งก็มีทั้งห้องคิงและห้องบ๊วย ห่างกันมาก ครูก็คนละชุด จึงไม่ได้หมายความว่าไปเรียนห้องบ๊วยจะดีกว่าบางโรงเรียน บางโรงเรียนอาจจะดีกว่าห้องบ๊วยมาก จึงต้องสร้างความเข้าใจที่จะยกระดับขึ้นมา ดังนั้นการกระจายคุณภาพไปที่โรงเรียนอื่นๆ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดเด็กแย่งกันเข้าในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง

ทบทวนหลักสูตรการศึกษา
สิ่งที่ได้ให้นโยบายกับผู้บริหาร ศธ.คือ ต้องกลับมาทบทวนหลักสูตรการศึกษาของเรา เพราะต้องการทำหลักสูตรให้ดี ให้เด็กไทยมีคุณภาพ ไม่ใช่ทดสอบเมื่อไรก็อยู่ในลำดับท้ายๆ การจะปฏิรูปหลักสูตรตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้จึงต้องอาศัยผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อครั้งตนจะเข้ามา ศธ.ก็มีคนกล่าวว่า ศธ.เป็นกระทรวงปราบเซียน เพราะมีเซียนทางการศึกษาหลายท่านและปรากฏว่าถูกปราบไปเยอะ ตนจึงได้บอกไปว่าแม้เป็นกระทรวงปราบเซียน แต่ไม่กลัว เพราะตนไม่ใช่เซียน จึงไม่กลัวถูกปราบ แต่เห็นว่าคนที่เป็นเซียนนั้นมีเยอะ ใน ศธ.มีผู้รู้ทั้งครู ผู้บริหาร นักศึกษา รวมทั้งนักเรียนด้วยเพราะเห็นมุมมองต่างๆ หากเป็นเซียนคนเดียวอาจถูกปราบได้ แต่ถ้ารวมเซียนก็เชื่อว่าเอาชนะได้ หน้าที่ของตนคือการรวมเซียนทั้งหลายให้มาช่วยกันคิดว่าหลักสูตรที่เราเรียนเยอะ ไม่ใช่ Teach More Learn Less แต่ต้องเป็น Teach Less Learn More คือ หากใช้เวลาสอนมาก แต่เรียนรู้ได้น้อย คือขาดทุนสองต่อ ทำให้เครียด แทนที่จะใช้เวลามาพักผ่อนหรือทำอย่างอื่นได้ เด็กก็ต้องเสียเวลากับการเรียนรู้เยอะแต่รู้น้อย ขณะนี้ตนได้มอบให้ ศ.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. มาขับเคลื่อนในการปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง  รมว.ศธ.ฝากให้ผู้บริหารช่วยกันคิดว่าหากเด็กเข้ามาเรียนแล้วเราอัดๆๆๆ แต่ความรู้ลงไปให้เด็ก เด็กก็จะได้แต่ความจำ ไม่มีเวลาคิดวิเคราะห์ ซึ่งเราไม่ต้องการให้เด็กจำอะไรอีกแล้ว จำบางหลักก็พอแล้ว ถามว่าจะจำทำไมในเมื่อที่ครูให้จำอาจจะเก่าไปแล้วก็ได้ เช่น กระดาษหรือข้อมูลที่ครูให้จำในวันนี้ แต่อีก ๒ วัน ข้อมูลอาจจะเก่าไปแล้วก็ได้ ในขณะที่วันนี้การจะหาข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและตรวจสอบให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ จึงขอเน้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ


ร่วมกันปลูกฝังให้เด็กได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และจิตสำนึกประชาธิปไตย และคุณธรรม
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ต้องการให้เด็กได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกประชาธิปไตย และคุณธรรม ซึ่งไม่ใช่การให้เด็กอ่านหนังสือแล้วพูด "จงทำดีๆๆๆ" แต่จะต้องมีวิธีการให้เด็กฝึกจนเป็นจิตสำนึกในการที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะสังคมไทยที่มีปัญหาในขณะนี้คือ เราไม่ฟังซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่คนที่อยู่ในสังคมในประชาธิปไตยนั้น ต้องรู้ว่าเวลาคนอื่นพูด เราต้องให้คนโอกาสเขาพูดและเราต้องฟัง เพื่อวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาพูดถูกหรือไม่ หากไม่ถูกเราก็ไม่ควรจะด่า แต่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเราไม่เห็นด้วยเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เป็นปกติในโรงเรียน เพราะเมื่อพ้นโรงเรียนไปในระดับอุดมศึกษาหรือนอกระบบโรงเรียนแล้ว นิสัยของเขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นหากครูมีเหตุมีผล เด็กก็จะมีเหตุมีผล และจะซึมซับสิ่งดีๆ ที่เราได้ปลูกฝังเข้าไป แต่วิธีการเทคนิคเหล่านี้ครูและผู้บริหารเก่งกว่าตน เพียงแต่ขอให้ช่วยกันสร้างแนวทางสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยและคุณธรรมให้แก่เด็กให้มากขึ้น  รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า นักการเมืองมักจะไม่ให้ความสนใจในเรื่องการศึกษา เพราะนักการเมืองมาอยู่ไม่เกิน ๔ ปี ดังนั้นเมื่อต้องการจะทำอะไรให้เห็นผลทางด้านการศึกษา จึงอาจไปสร้างโรงเรียน หรือซื้อหนังสือแจก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการยกระดับคุณภาพการศึกษา แม้ระยะสั้นๆ อาจจะพอเห็นผลบ้าง แต่หากจะเห็นผลจริงๆ ต้องใช้เวลานานกว่านั้น ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยเห็นพรรคการเมืองมาขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพการศึกษามากนัก แต่หากเราไม่ทำ คุณภาพของเด็กไทยจะสู้เขาไม่ได้ ฉะนั้นแม้เป็นงานที่ทำแล้วใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลก็ไม่เป็นไร เพราะตนตั้งใจจะทำและมุ่งมั่น ฝากผู้บริหารทั้งหลายกรุณาร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เด็กไทยต่อไป  โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ให้ความสนใจเยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนชั้นนำ ๑๐ แห่ง คือ โรงเรียนพญาไท โรงเรียนอนุบาลสระบุรี โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งนำเสนอผลงานความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ, โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ซึ่งนำเสนอผลงานความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ซึ่งนำเสนอผลความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี



สพฐ.สั่งสำรวจร.ร.เลื่อนเปิด-ปิดเทอม ศึกษาผลกระทบรอบด้าน-ชี้ขยับได้ 2 สัปดาห์

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย. และระหว่างเดือน พ.ย.-มี.ค. เพื่อให้สอดรับกับการฝึกสอนของนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษากลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมีมติเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนตามปฏิทินคือ 15 ส.ค.-15 ธ.ค. และ 15 ม.ค.-15 พ.ค. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป ว่าได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือกับกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการประชุมมอบนโยบายการ รับนักเรียนประจำปี 2556 ในโรงเรียนที่มีอัตราการ แข่งขันสูง    โดยชี้แจงให้ทราบว่า นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้โรงเรียนของสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขยับเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับการเปิด-ปิดเทอมของนักศึกษา เนื่องจากไม่ต้องการให้นักศึกษาได้รับผลกระทบคือ ฝึกสอนไม่ครบ 1 ปี ส่งผลให้จบการศึกษาช้ากว่ากำหนด โดยตนชี้แจงให้ รมว.ศึกษาธิการทราบแล้วว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำเป็นต้องรับฟังความคิดจากผู้มีส่วนได้-เสียก่อน ว่ากระทบต่อวิถีชีวิตหรือไม่ และหากจะขยับเปิดเรียน ก็ขยับได้ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น  "เมื่อถามความคิดเห็นทิศทางปรับเลื่อนการเปิดเทอม ผู้บริหารส่วนใหญ่ ยังไม่มีเสียงสนับสนุนให้เลื่อนเปิดเทอมออกไป แต่ผมจะมอบสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.สำรวจอย่างเป็นระบบอีกครั้งหนึ่ง เพราะการหารือในครั้งนี้เป็นแค่วาระปลีกย่อยไม่ได้เป็นวาระหลัก จึงไม่ถือว่าเป็นคำตอบที่เป็นความต้องการของกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหาร โดยกำชับว่าจะต้องแล้วเสร็จภายใน เดือนพ.ย.นี้ เพื่อเสนอรมว.ศธ.พิจารณาต่อไป" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว


ข่าวสด ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: