วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การประกันคุณภาพการศึกษา : สู่มาตรฐานคุณภาพการศึกษาอาเซียน

ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง "การประกันคุณภาพการศึกษา : สู่มาตรฐานคุณภาพการศึกษาอาเซียน" เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่มีความยินดี แต่ถ้าถามว่ามากเพียงใด ก็จะตอบว่ายินดี "นิดหน่อย ยังไม่มาก" ที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติในครั้งนี้ เหตุผลเพราะหากจะถามเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย เราจะต้องดูถึงระดับและเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง ซึ่งเป้าหมายในระดับอาเซียนก็เป็นเป้าหมายในระดับที่ใกล้ หากเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลแล้ว หากเราหวังเป็นเพียงแชมป์ในระดับภูมิภาคยังไม่พอ เพราะในโลกยุคปัจจุบันดูจะเป็นใบเล็กๆ ไปแล้ว แม้จะมีความกว้างใหญ่ก็ตาม เพราะทุกคนทุกแห่งในโลกต้องแข่งขันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ถูกยิงเสียชีวิต หลายเดือนกว่าที่คนในอังกฤษจะทราบข่าว เพราะสมัยนั้นใช้เวลานานมาก แต่สมัยนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ใดในโลก คนที่สนใจไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนใดทราบเท่าๆ กัน ดังนั้นในสังคมโลกยุคปัจจุบัน เราคงมองไปใกล้ๆ สุดทางเพียงแค่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรือพม่าไม่ได้ แต่เราต้องไปแข่งขันกับประเทศชั้นนำที่ไกลออกไปจากอาเซียนมาก แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่เราจะเข้ามาดูเรื่องคุณภาพการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าเราคงไม่หยุดในระดับอาเซียนเท่านั้น   รมว.ศธ.ได้ย้ำให้เห็นความสำคัญในเรื่อง "คุณภาพการศึกษา" โดยกล่าวว่า ทุกคนต่างบอกว่าการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ไม่มีใครปฏิเสธ เพราะทุกคนมองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนต่างมีมุมมองในเรื่องการศึกษาและสนใจเรื่องการศึกษาเป็นที่สุด เพราะทุกคนเคยผ่านการศึกษาหรือมีลูกหลานเข้าเรียนในระบบการศึกษาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญไปกว่า "การศึกษาเพื่อปวงชน" คือจะต้องเป็น "การศึกษาที่มีคุณภาพ" เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพจะเป็นตัวชี้วัดว่าคนในประเทศนั้นๆ จะยืนหยัดสู้กับคนในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ หลายท่านคงตั้งคำถามว่า เหตุใดสังคมไทยต้องไปแข่งขันกับคนอื่นๆ จะอยู่ตามลำพังในประเทศได้หรือไม่ ซึ่งต้องตอบว่าอยู่ไม่ได้ เพราะหากเราไม่แข่งขันแล้วเราจะนำเงินที่ไหนไปซื้อสินค้าต่างๆ ที่จำเป็นเข้ามาใช้ในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างคนเพื่อไปแข่งขัน พร้อมทั้งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) แล้วสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ต้องมีการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีหลักสำคัญดังนี้๑) ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน จะต้องไม่มีสองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐานในการประเมินในสถาบันการอุดมศึกษาทุกระดับทั้งของรัฐและเอกชน โดยผู้ประเมินภายในหรือภายนอกสถานศึกษาต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมา ไม่ยกตัวเอง
๒) การศึกษาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ ตลอดจนการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จะต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย ตัวอย่างคือชาวต่างประเทศที่จบการศึกษาจากไทย กลับไปทำงานจนมีความก้าวหน้าได้รับตำแหน่งใหญ่โตแล้ว หากพูดถึงเรื่องการศึกษาของไทย ผู้นั้นคงต้องแสดงความชื่นชมที่จบจากประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการศึกษา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านภาษา ก็เพราะเรายังใช้ภาษาไทยกันมาก ในขณะที่เขาไม่ต้องการใช้ภาษาไทย จึงไม่สามารถเลือกเรียนในเมืองไทยได้ ฉะนั้นหากเราส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาที่ใช้ภาษากลางหรือภาษาสากล ก็จะช่วยทำให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยเป็นแหล่งที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราจะเข้ามาศึกษาต่อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวแสดงความชื่นชม สกอ.และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ให้ความสนใจและความสำคัญในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ถือว่าเป็นการทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศร่วมกัน
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้มอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลจาก "โครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ในการนำความรู้ด้านการประกันคุณภาพไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา" ซึ่งมีสถาบันการอุดมศึกษาต่างๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ๓๑ แห่ง จำนวน ๕๕ โครงการ โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลรวม ๘ โครงการ ดังนี้

๑. ประเภทดีเด่น ๓ รางวัล คือ
-โครงการผลิตยารักษาน้ำกัดเท้าและตะไคร้หอมไล่ยุงเพื่อผู้ประสบอุทกภัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-โครงการชาวจุฬาฯ รวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-โครงการเส้นทางสู่แชมป์โลกหุ่นยนต์ ๔ สมัย : ชัยชนะสู่การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๒. ประเภทดี ๑ รางวัล คือ
โครงการพัดลมไล่ยุงเพื่อสุขภาพ บ้านห้วยระย้า จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช

๓. ประเภทชมเชย ๔ รางวัล คือ
-โครงการส่งเสริมศักยภาพนิสิต (SIFF KU) ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-โครงการ นสส.ร่วมใจ ใส่ใจสุขภาพประชาชน ภายใต้กิจกรรม "เรียนรู้เท่าทันสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
-โครงการ "รำไทย ป้องกันข้อไหล่ติด" จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
-โครงการ วศม.ห่วงใย ขับขี่ปลอดภัยใส่สังคม จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

ข่าวสำนักงานรัฐมตรี