วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 9/2555 ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก

ถึง พี่น้องชาวแผนและผู้ที่สนใจทุกท่านครับ
จดหมายฉบับนี้ผมขอคุยกับพี่น้องสองเรื่อง คือความเคลื่อนไหวเรื่องเงินวิทยฐานะของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องที่สองเป็นเรื่องการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2556 ส่วนเรื่องเงินค่าตอบแทนอัตราจ้าง 9000 บาท และ 15000 บาท รอเข้ารับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีอยู่ครับ

เงินวิทยฐานะ
นับถึงวันนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งคงเบิกจ่ายเงินตกเบิกวิทยฐานะให้กับเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับคำสั่งถึง 31 กรกฎาคม 2554 กันเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องของท่านที่ได้รับคำสั่งหลังจากนั้น คือตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 16 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,156 ราย งบประมาณที่ต้องใช้ตกเบิกจนถึงเดือนกันยายน 2556 รวมทั้งสิ้น 21,977 ล้านบาท ทุกฝ่ายซึ่งประกอบด้วยฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบายต้นสังกัด และฝ่ายผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา ต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางออกอยู่ ซึ่งผมได้เสนอทางเลือกให้ 6 ทางเลือกด้วยกัน คือ

ทางเลือกที่ 1 ตั้งงบประมาณ ปี 2557 สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 16 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,156 ราย ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 21,977 ล้าน รับเงินตกเบิก เดือนตุลาคม 2556
ทางเลือกที่ 2 ขอใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 26,043 ราย ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 10,450 ล้าน รับเงินตกเบิก และวิทยฐานะ/ค่าตอบแทนรายเดือนใหม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ทางเลือกที่ 3 ขอใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2554 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,578 ราย ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 1,846 ล้าน รับเงินตกเบิกและวิทยฐานะ/ค่าตอบแทนรายเดือนใหม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ทางเลือกที่ 4 ขอใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 16 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,156 ราย ให้ได้รับเงินวิทยฐานะ/ค่าตอบแทนรายเดือนใหม่ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ส่วนเงินตกเบิกที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ส่งผลงานจนถึง 30 กันยายน 2555 ให้ไปรับในเดือนตุลาคม 2556
ทางเลือกที่ 5 เหมือนทางเลือกที่ 4 แต่ใช้เป้าหมาย 5 เดือน คือขอใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 26,043 ราย ให้ได้รับเงินวิทยฐานะ/ค่าตอบแทนรายเดือนใหม่ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ส่วนเงินตกเบิกที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ส่งผลงานจนถึง 30 กันยายน 2555 ให้ไปรับในเดือนตุลาคม 2556
ทางเลือกที่ 6 เหมือนทางเลือกที่ 4 แต่ใช้เป้าหมาย 2 เดือน คือขอใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2554 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,578 ราย ให้ได้รับเงินวิทยฐานะ/ค่าตอบแทนรายเดือนใหม่ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ส่วนเงินตกเบิกที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ส่งผลงานจนถึง 30 กันยายน 2555 ให้ไปรับในเดือนตุลาคม 2556
หลายท่านโทรศัพท์ไปหาผมและถามว่าคณะรัฐมนตรีมีมติของการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่าอย่างไรบ้าง ผมก็เลยงงๆว่าไปเอาข่าวนี้มาจากไหน คณะรัฐมนตรียังไม่ได้บรรจุวาระนี้ในวาระการประชุมเลย เพราะขณะนี้เรื่องนี้ยังอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่เลยครับ แต่ละฝ่ายยังเลือกทางเลือกไม่ตรงกัน จึงยังเสนอไม่ได้ครับ เมื่อเสนอไปแล้วต้องผ่านกระบวนการการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เป็นต้น จากนั้นก็นำเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี และถ้าเห็นสมควรเข้ารับการพิจารณา จึงจะเสนอเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ระยะเวลาที่เร็วที่สุด คือ 1

เดือนนับตั้งแต่เรื่องออกจากกระทรวงศึกาธิการของเรา

การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2556

คงทราบกันโดยทั่วกันแล้วนะครับว่า ปีนี้ สพฐ.เราได้งบประมาณเท่าไร มีจุดเน้นในการทำงานเรื่องอะไรบ้าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้รับงบประมาณขั้นพื้นฐานประมาณเขตละ 8ล้านบาท ที่จะคิดเอง ทำเองได้อย่างอิสระ ส่วนที่ต้องทำตามนโยบายและทิศทางที่ สพฐ.กำหนดจากส่วนกลางมีอีกเป็นร้อยล้านต่อเขตครับ เมื่อไรกันหนอที่งบประมาณทั้งหมดจะลงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียน ส่วนกลางเหลือไว้เฉพาะงานวิจัยนำร่อง และงบสำหรับติดตาม ประเมินผล เมื่อถึงวันนั้น เราจะได้ไม่ต้องพูดกันอีกหลายเรื่องเหมือนทุกวันนี้ เช่น เราจะยุบโรงเรียนได้กี่โรง เราจะสร้างอาคารกี่หลัง เราจะบรรจุครูกี่คน เราจะจ้างอัตราจ้างกี่อัตรา เราจะซื้อรถกี่คัน เป็นต้น ไม่ต้องพูด ไม่ต้องถามเพราะ เขตพื้นที่กับโรงเรียนไปคิดและตัดสินใจกันเอง ถ้าเราสังเกตให้ดี เราจะเห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนเอกชนไม่เห็นมาโวยวายว่าโรงเรียนขาดครู ขาดอุปกรณ์ ขาดคอมพิวเตอร์ ขาดรถยนต์เลย ทั้งนี้เพราะโรงเรียนเอกชนได้เงินรายหัวนักเรียนแบบเบ็ดเสร็จ เงินเดือนครูก็อยู่ในรายหัวด้วย ดังนั้นโรงเรียนต้องไปบริหารจัดการกันเองเพื่อให้มีเงินเหลือเป็นกำไรในแต่ละปี การนำรถตู้ไปวิ่งรับเด็กตามหมู่บ้านต่างๆของโรงเรียนเอกชน ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ต้องชมเชย เป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่ว่ากันไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีนักเรียน โรงเรียนก็อยู่ไม่ได้ ครูก็ตกงาน สำหรับโรงเรียนของรัฐ นักเรียนจะเหลือน้อยสักเพียงไร คุณภาพจะต่ำสักเพียงไร เงินเดือนและค่าตอบแทนของพวกเราก็ยังอยู่ครบทุกบาททุกสตางค์ โจทย์นี้ท้าทายยิ่งนักสำหรับนักการศึกษาที่จะต้องเร่งหาทางแก้ไข เพราะเงินเดือนและค่าจ้างบุคลากรของเราในขณะนี้สูงเกือบถึงร้อยละ 75 เข้าไปแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เกี่ยวกับการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ สรุปได้ดังนี้
1. เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2556 ยอดการเบิกจ่ายงบประมาณต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 94 งบลงทุน
(ครุภัณฑ์และสิ่งก่อ สร้าง) ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80
2. ต้องก่อหนี้ผูกพันในส่วนของงบลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2556
3. ไม่มีนโยบายให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน (กันลอย)
4. ให้นำผลการเบิกจ่ายเงินตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการ
5. การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณตามอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 ถ้าต้องขอตกลงกับสำนักงบประมาณ ต้องส่งเรื่องถึงสำนักงบประมาณ ภายในเดือนกรกฎาคม 2556

มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวข้างต้นมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั่ว ประเทศ แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ เมื่อใช้งบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว งานต้องได้ตามเป้าหมายด้วย สิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการคุมทั้งงานและงบประมาณเป็นรายไตรมาส ก็คือ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ (แบบ สงป.301 และ แบบ สงป.302) แผนการปฏิบัติงานไม่ใช่แผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan) แต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการประจำปี
เนื่องจากมีสมาชิกบางส่วนแจ้งมาว่า ไม่ต้องการเห็นเพื่อนๆทะเลาะกันทางเว็ปไซด์ ซึ่งผมก็สังเกตเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ค่อยได้ถาม แต่เป็นการระบายออก ระบายอารมณ์เสียมากกว่า ดังนั้น จึงขอให้นำในส่วนของกระทู้ถาม ตอบออกไป ขอให้เป็นการสื่อสารทางเดียวไปก่อน ได้ครับ จัดให้ตั้งแต่ฉบับนี้เลย ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงานนะครับ แล้วค่อยพบกันใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: