วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.ปั๊มข้อสอบครูผู้ช่วยเอง อ้างลดค่าใช้จ่าย-ยันโปร่งใส

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว12 ที่จะสอบคัดเลือกในวันที่ 13 มกราคม 2556 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นผู้จัดทำคลังข้อสอบเองทั้งหมด ไม่จ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบเหมือนการสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านๆ มา

โดย สพฐ.จะดำเนินการสอบให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด ไม่ให้มีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการคัดเลือกของแต่ละเขตพื้นที่ฯ มีมาตรฐานต่างกัน รวมถึงความรัดกุม ก็ต่างกัน จึงก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ดังนั้น สพฐ.จึงจัดทำคลังข้อสอบเพื่อให้ทุกเขตพื้นที่ มีมาตรฐานของข้อสอบ การควบคุมความโปร่งใสให้ได้ดีที่สุด แต่หากในอนาคตเขตพื้นที่ มีความพร้อมมากขึ้น ก็ปรับเปลี่ยนได้

"ที่ สพฐ.ทำคลังข้อสอบแทนการให้สถาบันอุดมศึกษาออกให้ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาข้อบกพร่องก็ยังไม่หมดไป เพราะการออกข้อสอบมีความยากลำบาก ไม่ว่าจะให้สถาบันการอุดมศึกษาไหนออกให้ เพราะสอบหลายสาขา และหลายพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ฉะนั้น การที่สถาบันอุดมศึกษาไปดำเนินการ ก็จะมีภาระหลายขั้นตอน เช่น การออกข้อสอบ การจัดส่งข้อสอบไปยังสนามสอบ ซึ่งเป็นภาระมาก แต่การที่ สพฐ.มาทำเอง เนื่องจากมีกำลังกระจายอยู่ตามเขตพื้นที่ก็จะดึงศักยภาพ มาช่วย" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว และว่า การส่งข้อสอบไปยังเขตพื้นที่ ที่เปิดสอบนั้น สพฐ.มีระบบความปลอดภัยอยู่แล้วและมีความรัดกุมมาก ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ใช้รูปแบบนี้ จึงมั่นใจว่ามีความรัดกุมและป้องกันปัญหาการทุจริตต่างๆ ได้ แต่รายละเอียดนั้น คงไม่สามารถเปิดเผยได้


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


สพฐ.แจงร.ร.นิติบุคคลยังอยู่ในกำกับทำตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่างอย่าห่วงเรื่องกีดกันเด็กด้อยโอกาส

ศึกษาธิการ * สพฐ.แจงสถานภาพ ร.ร.นิติบุคคลยังไม่มีอิสระเกินขอบเขต ทำตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่าง เพราะยังมีฐานะเป็น ร.ร.ในกำกับของ สพฐ. ส่วนกลางมีอำนาจสั่งการให้คุณให้โทษได้ อย่าห่วงกีดกันทิ้งเด็กด้อยโอกาส เผยมี ร.ร.หลายแห่งสนใจขอนำร่องเป็นนิติบุคคลรอบ 2 เพราะรอบแรกกระแสดีเกินคาด

สืบเนื่องจากวงประชุมการศึกษาหลายเวที รวมถึงนักวิชาการที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการนำร่องโรงเรียนนิติบุคคล 58 แห่ง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในทำนองเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการให้อิสระการจัดการศึกษาของโรงเรียน แต่ก็ยังอดห่วงไม่ได้ว่าโรงเรียนนิติบุคคลจะมีกลไกการรับผิดรับชอบต่อการจัดการศึกษาเมื่อได้อิสระไปแล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเกรงว่านักเรียนด้อยโอกาสและนักเรียนที่ดี แต่ยากจน จะไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนนิติบุคคลที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้จนเกิดการแบ่งแยกนั้น

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนนำร่องเป็นนิติบุคคลยังไม่ถือว่าได้อิสระทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นโรงเรียนในกำกับของ สพฐ. มีส่วนกลางและเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้บังคับบัญชา ขณะที่บางเรื่องก็ยังต้องพึ่งส่วนกลาง อาทิ การแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน การของบประมาณยังต้องผ่านเขตพื้นที่ฯ ต่อมาถึงส่วนกลาง เป็นต้น ต่างจากมหาวิทยาลัยที่มี พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีความอิสระสามารถเสนอของบฯ ได้ตรงกับ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเลย ดังนั้นความอิสระของโรงเรียนกับกลไกความรับผิดรับชอบต่อการจัดการศึกษายังมีอยู่ เรายังตรวจสอบให้คุณให้โทษกับโรงเรียนได้อยู่

"โรงเรียนนำร่องนิติบุคคลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน แต่ยังไม่เป็นนิติบุคคลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะฉะนั้นยังต้องมีต้นสังกัด ซึ่งบางเรื่องยังต้องพึ่งส่วนกลางอยู่ขณะเดียวกันความคล่องตัวที่จะได้เพิ่มขึ้น อย่างกรณีโรงเรียนนิติบุคคลจะจ้างครูบางสาขาที่ขาดอยู่ โรงเรียนก็สามารถประกาศรับสมัครและคัดเลือกได้เองเลย ไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไปที่ต้องแจ้งความประสงค์ไปยังเขตพื้นที่ฯ สุดท้ายกลับได้ครูในสาขาที่ไม่ต้อง การกลับมา" นายรังสรรค์กล่าว

สำหรับข้อห่วงใยเด็กด้อยโอกาสนั้น ที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า หากไปดูระเบียบการเรียกระดมทรัพยากรของโรงเรียนแล้วจะระบุว่า คณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน ซึ่งการเรียกระดมทรัพยากรต้องผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่าย หากมีการขัดแย้งก็ไม่สามารถเรียกได้ หรือหากเรียกเก็บเงินก็ต้องไม่เก็บเงินในอัตราเดียวกับเด็กนักเรียนทั่วไป ขณะเดียวกันคณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องให้โอกาสเด็กเหล่านี้ โดยอาจมีทุนการศึกษาให้หรือจัดให้มีรายได้ระหว่างเรียนด้วยการทำงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็มีเงินท็อปอัพให้เด็กเหล่านี้ให้ได้เงินอุดหนุนรายหัวมากกว่าเด็กทั่วไปทั้งระดับประถมและมัธยม

ที่ปรึกษาฯ กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้โครงการโรงเรียนนำร่องนิติบุคคลได้รับความสนใจจากโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศที่อยากขอเข้าร่วมโครงการด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ว่าอาจมีการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการอีกชุด โดยอาจมากกว่าจำนวน 58 แห่งที่ได้คัดเลือกไปแล้ว เพื่อดำเนินการผลักดันให้เป็นโรงเรียนนำร่องนิติบุคคลพร้อมกันในปีการศึกษา 2556 แต่เบื้องต้นต้องให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาอีกครั้ง.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


สั่ง'เกษม-บำเรอ'คืนเงิน 2 ล. หลังสตง.ชี้บอร์ด'อค.'ไร้อำนาจอนุมัติ สกสค.ไฟเขียวองค์การค้ากู้เพิ่ม 800 ล.
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องการเรียกเงินเดือนคืนจากนายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขาธิการ สกสค.และนายบำเรอ ภานุวงศ์ ระหว่างที่รักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.รวมประมาณ 2 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากการอนุมัติการจ่ายเงินเดือนให้กับรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ทั้ง 2 คน ไม่ได้เสนอให้ที่ประชุม สกสค.อนุมัติ เสนอแต่คณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ เป็นผู้อนุมัติ ซึ่งตามขั้นตอนแล้วไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ที่จะอนุมัติเงินเดือนให้ อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาเห็นชอบแล้ว และ สกสค.ได้ทำหนังสือเรียกเงินคืนจากทั้งนายเกษม และนายบำเรอแล้ว

นางพนิตากล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติโครงการเงินกู้ขององค์การค้าฯ 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้ 1,500 ล้านบาท แต่เพิ่งอนุมัติไป 700 ล้านบาท จึงต้องนำให้อนุมัติส่วนที่เหลือ เพราะหากไม่อนุมัติ องค์การค้าฯ จะไม่มีสภาพคล่อง และไม่มีเงินไปใช้จ่ายเพื่อบริหารงาน อาทิ ค่าเช่าแท่นพิมพ์ ค่าซื้อกระดาษ ค่าโอทีคนงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวจะกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยใช้มติคณะกรรมการ สกสค.ที่เห็นชอบให้กู้เงินเป็นตัวค้ำประกัน จะไม่ได้ใช้เงินจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู และบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เป็นตัวค้ำประกัน ซึ่งการกู้เงินในครั้งนี้ ตามแผนขององค์การค้าฯ ในปี 2556-2557 จะสร้างรายได้ประมาณ 4,036 ล้านบาท

"สกสค.ได้รายงานการคัดเลือกผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด/กรุงเทพฯ ให้ที่ประชุมทราบ และชี้แจงว่าการดำเนินการคัดเลือกสรรหามีขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว เพราะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการตรวจสอบยุทธศาสตร์ คณะกรรมการสัมภาษณ์และจัดทำประกาศผล ซึ่งในขั้นตอนการตรวจยุทธศาสตร์ และการสัมภาษณ์ มีทั้งเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ และพันธกิจ กลยุทธ์การวางแผน ฉะนั้น การคัดเลือกผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด/กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาจึงถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ที่มีการร้องเรียนนั้น นายพงศ์เทพได้ให้แนวทางสอบเป็นกรณีไป และหากมีการร้องเรียนกับ ศธ.หรือร้องต่อศาล ถ้าพบว่าไม่ถูกต้อง ก็ยกเลิก และประกาศคัดเลือกใหม่ แต่ไม่ได้ยกเลิกทั้ง 63 จังหวัด" นางพนิตากล่าว


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: