วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.ติว'ร.ร.ดัง'ก่อนเข้าระบบนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายชินภัทร ภูมิรัตนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)
 เปิดเผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคล จำนวน 58 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับ 28 แห่งและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 30 แห่ง คาดว่า จะสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคลได้ทันในปีการศึกษา 2556 ว่า ได้มอบหมายให้โรงเรียน58 แห่งที่นำร่องจัดทำธรรมนูญของโรงเรียนแนวทางการบริหารจัดการ ตัวชี้วัด เป้าหมายต่างๆ ส่วน สพฐ.จะจัดการเรื่องของระบบและระเบียบ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูระบบการเงินและบริหารงบประมาณ ทางโรงเรียนเสนอว่าหากเป็นหน่วยระบบเบิกตรงจะทำให้การบริหารจัดการมีเงินคล่องตัวมาก 2.วางระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเป็นเงินก้อน ซึ่งจะต้องไปดูระเบียบว่าการใช้งบประมาณจะมีข้อผ่อนคลายได้หรือไม่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถบริหารงบประมาณได้เป็นเงินก้อน และ 3.การดูแลการบริหารงานบุคคลเพื่อให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีบทบาทมากขึ้น เช่น การสรรหาผู้อำนวยการสถานศึกษา การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู การหมุนเวียนโยกย้ายผู้บริหาร เดิมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีบทบาท แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา


"ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดการระบบและระเบียบ เมื่อจัดทำรายละเอียดทุกอย่างแล้วเสร็จจะเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา โดยเฉพาะเรื่องที่ให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามามีบทบาทในการสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียน" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียน 58 โรง ที่มีความพร้อม มีดังนี้ ระดับประถมศึกษา 28 โรงคือ ร.ร.อนุบาลนครพนม ร.ร.อนุบาลระยองร.ร.อนุบาลสามเสน ร.ร.อนุบาลสุรินทร์ ร.ร.ราชวินิต ร.ร.พญาไท ร.ร.อนุบาลนครราชสีมา ร.ร.อนุบาลสมุทรสงคราม ร.ร.อนุบาลชลบุรีร.ร.พระตำหนักสวนกุหลาบ ร.ร.อนุบาลเชียงราย ร.ร.อนุบาลยะลา ร.ร.อนุบาลพะเยา ร.ร.อนุบาลชุมพร ร.ร.อนุบาลพิษณุโลก ร.ร.อนุบาลพระนครศรีอยุธยา ร.ร.อนุบาลนครปฐม ร.ร.อนุบาลสระบุรี ร.ร.อนุบาลอุบลราชธานี ร.ร.อนุบาลประจวบคีรีขันธ์ ร.ร.อนุบาลระนอง ร.ร.อนุบาลนครสวรรค์ ร.ร.อนุบาลพิบูลเวศม์ ร.ร.พระยาประเสริฐสุนทราศรัย ร.ร.อนุบาลเชียงใหม่ ร.ร.อนุบาลบางมูลนากราษฎร์อุทิศิ ร.ร.อนุบาลกระบี่ และ ร.ร.อนุบาลวัดปรินายก

ระดับมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม 30 โรง คือร.ร.สามเสนวิทยาลัย ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ร.ร.สตรีวิทยา ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ร.ร.เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ร.ร.ศึกษานารี ร.ร.เตรียมอุดมพัฒนาการ ร.ร.นครสวรรค์ ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย ร.ร.เทพศิรินทร์ ร.ร.สุราษฎร์ธานี ร.ร.หอวัง ร.ร.สตรีสมุทรปราการ ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฏิ์ ร.ร.เฉลิมขวัญสตรี ร.ร.โยธินบูรณะ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ร.ร.ระยองวิทยาคม ร.ร.บุญวาทย์วิทยาลัย ร.ร.สตรีมหาพฤฒาราม ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ร.ร.ชลกันยานุกูล ร.ร.สุรนารีวิทยา ร.ร.มัธยมวัดนายโรง ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย ร.ร.เบ็ญจะมะมหาราช ร.ร.ศรียานุสรณ์ และ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา

ด้านนายปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีความพร้อมที่จะเป็นโรงเรียนนิติบุคคลแล้วโรงเรียนก่อตั้งมาครบ 127 ปี มีความเข้มแข็งทั้งด้านวัฒนธรรมองค์กร ทางวิชาการ การบริหารและผลงานดีเด่นต่างๆ จึงไม่มีปัญหาเรื่องความพร้อม ทั้งนี้ การเป็นโรงเรียนนิติบุคคล จะทำให้โรงเรียนพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม มีเป้าหมายที่จะสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีให้กับนักเรียนนักเรียนสามารถประสบความสำเร็จหลังจากจบการศึกษาตามหลักสูตรการเรียนการสอน

"แม้เราจะเป็นโรงเรียนนิติบุคคล แต่โรงเรียนเทพศิรินทร์ยังให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคนไม่ได้เน้นเฉพาะเด็กเก่งเท่านั้น แต่จะเน้นการพัฒนานักเรียนทุกศักยภาพ ส่วนที่เกรงว่าอาจจะมีผลต่อค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองที่สูงขึ้นนั้น คงไม่มีการเรียกเก็บที่สูงขึ้นสำหรับการให้คณะกรรมการสถานศึกษาฯมาร่วมพิจารณาสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียนและการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยและถือเป็นเรื่องที่ดี" ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์กล่าว


นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 ธ.ค. 2555

สพฐ.ใช้มาตรฐานยุโรปประเมิน สมรรถนะครูสอนภาษาอังกฤษ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษให้แก่ครู และนักเรียน โดยจะให้ประเมินสถานภาพของครูว่ามีสมรรถนะเพียงใด ซึ่งจะใช้มาตรฐานของยุโรปมาเป็นมาตรฐานในการประเมินครูภาษาอังกฤษที่สอนในแต่ละระดับชั้น และผลของการประเมินจะเก็บไว้เป็นหลักฐานที่จะนำไปเชื่อมโยงกับเกณฑ์การประเมินเพื่อขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ได้ด้วย เพราะเกณฑ์การประเมินแนวใหม่นี้จะพิจารณาจากสมรรถนะของครู และผลการเรียนของนักเรียน นอกจากนี้ จะจัดทำหลักสูตรเพื่อใช้อบรมครูภาษาอังกฤษที่สอนในระดับชั้น ป.1-2 จะทำให้ครูประจำชั้นแม้ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ก็สามารถสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วยความสบายใจ และมั่นใจ

"ที่ประชุมยังได้มอบให้สถาบันภาษาอังกฤษของ สพฐ.ไปจัดทำมาตรฐานการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น เพราะขณะนี้มีโรงเรียนหลายแห่งต้องการให้กำหนดเกณฑ์ และความคาดหวังว่าในแต่ละระดับชั้นเด็กควรเรียนรู้อะไร และใช้ภาษาอังกฤษในด้านใดได้บ้าง เช่น คำศัพท์ที่เด็กต้องรู้ ประโยคสนทนาที่เด็กควรจะต้องทำได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมอบให้ไปจัดทำสัญลักษณ์ Let's speak English เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการ และบุคลากรของ สพฐ.ได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวันในการทำงาน ตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้ข้าราชการและบุคลากรของ ศธ.มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น" นายชินภัทรกล่าว


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: