วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

TDRIชำแหละต้นตอศึกษาไทยตกต่ำ

ทีดีอาร์ไอชำแหละคุณภาพการศึกษาไทย พบต้นตอตกต่ำ เพราะ รมว.ศธ.ไปจนถึง ผอ.โรงเรียนขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรทั้งสิ้น แม้มีผลวิจัยคะแนนสอบ TIMSS 2011 สอบวิชาคณิต-วิทย์ที่ผลออกมาเด็กไทยแย่ แต่ทุกอย่างยังเงียบเฉย ชี้ไทยใช้งบฯ ลงทุนด้านการศึกษาไม่แพ้ชาติใด แต่ผลสัมฤทธิ์ยังตกต่ำ แนะจัดสอบวัดมาตรฐานทุกระดับชั้น นำผลคะแนนมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และใช้ตีค่าประเมินความดีความชอบให้ครู ผู้บริหาร รร. ฟันธง การประเมินของ สมศ.ไม่สะท้อนภาพแท้จริง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวบรรยายเรื่อง “เราจะปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลของการเรียนรู้อย่างไร” ในงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2555 เรื่อง “การวิจัยสถาบันกับกระบวนการจัดการเรียนรู้สู่อนาคต” จัดโดยสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา (สวพอ.) ตอนหนึ่งว่า ปัญหาการศึกษาไทยมีความซับซ้อนหลายอย่าง ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งเหตุจากนโยบายการศึกษา ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และข้าราชการระดับสูงที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ขณะที่กลุ่มโรงเรียน กลุ่มครู กลุ่มนักเรียน และภาคธุรกิจก็จะมีปัญหาแยกย่อยกันไป

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวอีกว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุของปัญหาการศึกษาประเทศไทย ว่าเป็นเพราะเรามีทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะหากดูจากสถิติจะพบว่า งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 2546 จำนวน 1.7 แสนล้านบาท สูงขึ้นเรื่อยๆ จนในปีงบฯ 2555 เป็น 4 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าเราใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นตลอด แต่หากเทียบงบฯ การศึกษาไทยกับนานาประเทศ จะพบว่าไทยใช้สัดส่วนงบฯ การศึกษาต่อจีดีพีใกล้เคียงกับหลายประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ส่วนสิงคโปร์ใช้น้อยกว่า และเวียดนามใช้มากกว่าไทยเล็กน้อย ดังนั้นถือว่าเราไม่ได้ใช้งบฯ การศึกษาน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบสัดส่วนต่อจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่าสาเหตุใดเป็นปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา อาจเป็นเพราะครูมีรายได้ต่ำหรือไม่ เรื่องดังกล่าวหากเป็นในอดีตอาจเป็นความจริง แต่ปัจจุบันมีข้อเท็จจริงว่าเงินเดือนครูโรงเรียนรัฐบาล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ครูบางคนเมื่อปี 2544 ได้เงินเดือน 19,000 บาท ล่าสุดก็ได้ปรับขึ้นเกือบ 30,000 บาทแล้ว ดังนั้น เรื่องเงินเดือนครูไม่น่าเกี่ยว ส่วนจะเป็นกรณีนักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนน้อยไป จึงทำให้มีปัญหาเรื่องสัมฤทธิผลหรือไม่นั้น เรื่องนี้มีข้อมูลจากโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ว่า หากเทียบชั่วโมงการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนมากกว่าเมื่อเทียบกับนานาประเทศ แต่ปรากฏว่าผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือพิซา กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าเรื่องงบฯ การศึกษา รายได้ครู และจำนวนชั่วโมงเรียนไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ

ดร.สมเกียรติเปิดเผยว่า หากดูที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนทั้งการพิซา การสอบ TIMMSS 2011 ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐานนานาชาติ พบว่าเด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยที่มีแนวโน้มลดลงทั้งสิ้น ขณะที่การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐานของประเทศเด็กไทยก็มีคะแนนเฉลี่ยต่ำลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูคะแนนสอบข้างต้นที่อยู่ในช่วงขาลง ก็ดูจะไม่สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และการมีชั่วโมงเรียนมาก ดังนั้นจากการวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอ คิดว่าเหตุของปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำน่าจะมาจากการขาดความรับผิดรับชอบ อย่างกรณีหากมีผลในทางใดทางหนึ่งต่อการศึกษา บุคคลผู้ที่รับผิดชอบนั้นก็ต้องมีผลต่อเนื่องด้วย เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น

“กรณีประเทศไทย ที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศผลสอบต่างๆ อย่างผลสอบโอเน็ตที่เด็กไทยตกกันทั้งประเทศ สุดท้ายก็เงียบ ล่าสุดกับผลวิจัยคะแนนสอบ TIMSS 2011 ที่เด็กไทยมีคะแนนตกต่ำ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องนี้สะท้อนว่าเรายังขาดระบบความรับผิดชอบ ทำให้ไม่มีใครที่จะเดือดเนื้อร้อนใจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว อย่าง รมว.ศธ.ก็ไม่ตกใจ ข้าราชการระดับสูง ศธ. ผอ.เขตพื้นที่ฯ และ ผอ.โรงเรียนก็เช่นกัน เพราะไม่มีใครไปทำอะไรท่าน"

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวอีกว่า ทางทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอให้การปฏิรูปการศึกษามีคุณภาพคือ การให้ผู้ปกครองนักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างเข้มข้น รวมถึงการกระจายอำนาจบริหารจัดการไปยังโรงเรียน พร้อมกำหนดมาตรการการรับผิดชอบ การสร้างแรงจูงใจให้ครูด้วยการเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์การสอบมาตรฐาน กับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน และการปรับระบบจัดสรรงบฯ ให้โรงเรียนทุกสังกัดอย่างเท่าเทียม เพื่อสามารถแข่งขันกันได้” ดร.สมเกียรติกล่าว

"ปัจจุบันโรงเรียนมีอิสระการบริหารงานหลายอย่าง ยกเว้นเรื่องการบริหารงานบุคคล อาทิ การเลือกครู การเลิกจ้างครู การกำหนดเงินเดือนครู ซึ่งเป็นอำนาจของส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพการจัดการศึกษา อย่างก่อนหน้าที่เราไปสำรวจ เจอโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดมีความต้องการครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็แจ้งความต้องการไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ขณะที่เขตพื้นที่ฯ ก็รวบรวมความต้องการครูของโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดแล้วมาประกาศจัดสอบ โดยครูที่ต้องการเป็นครูก็มาสอบ ครูที่สอบได้ที่หนึ่งจะได้เลือกโรงเรียนก่อน เบอร์ถัดไปก็เลือกไล่โรงเรียนที่เหลือไปจนครบ ซึ่งระบบแบบนี้ทำให้โรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกครู แต่ครูมีสิทธิ์เลือกโรงเรียน ผลที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนนั้นได้ครูพลศึกษาเข้ามาแทน นอกจากนี้ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำยังรวมไปถึงการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาในเกณฑ์ผ่านของ สมศ. กับคะแนนโอเน็ตของนักเรียนที่ตกต่ำส่วนทางกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์กัน" ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า มีข้อเสนอทางนโยบายของทีดีอาร์ไอ ได้แก่ 1.อยากให้มีนโยบายการจัดสอบมาตรฐานทุกชั้นเรียนหรือทุกช่วงชั้น และให้มีผลต่อการเลื่อนขึ้นชั้น เพราะอย่างระบบปัจจุบันเมื่อเด็กสอบตก โรงเรียนก็จัดสอบซ่อมใหม่จนผ่าน สุดท้ายคือการส่งเด็กไม่พร้อมไปสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น 2.ควรมีการเปิดเผยผลการสอบข้อสอบมาตรฐานของโรงเรียน เทียบกับโรงเรียนใกล้เคียง โรงเรียนระดับจังหวัดและประเทศให้ผู้ปกครองได้รับทราบ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน 3.เสนอให้ลดการประเมินคุณภาพภายนอกแบบเดิมของ สมศ. เพราะใช้ต้นทุนการประเมินสูง แต่ผลลัพธ์กลับสวนทางความจริงที่เป็นอยู่ และควรใช้ผลการสอบมาตรฐานของนักเรียนมาประเมินครูและโรงเรียน อีกทั้งนำมาเชื่อมโยงกับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนครู โดยดูจากพัฒนาการของคะแนนสอบ เพื่อลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ความสูงต่ำของคะแนนสอบ จากความต่างทางบริบทของโรงเรียน.

นสพ.ไทยโพสต์


ประชาคมอาเซียน
โรงแรมรามาการ์เด้นส์ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนำสันติสุขสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาพอนาคตของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน : ความฝันการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า ๔๐๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
รมว.ศธ. กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ เราจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างประเทศอาเซียนอย่างเสรี ซึ่งก็อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องกติกาอยู่บ้าง เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างและหลากหลายทั้งทางด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม ทั้งนี้จากการแสดงนาฏลีลาในพิธีเปิดครั้งนี้ก็จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศในอาเซียน มีศิลปะ วัฒนธรรมที่มีความคล้ายและมีความเหมือน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มีความคล้ายคลึงกับศิลปะทางภาคใต้ของไทย หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความคล้ายคลึงกับภาคอีสาน เป็นต้น  สาเหตุที่วัฒนธรรมในประเทศอาเซียนมีความคล้ายคลึงกัน เกิดจากการซึมซับวัฒนธรรมร่วมกันมาตั้งแต่สมัยก่อนหรือต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งไทยได้ซึมซับวัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศ เช่น เรื่องรามายนะจากชมพูทวีป เรื่องอิเหนาจากอินโดนีเซีย (ชวา) เรื่องอภัยมณีจากมาเลเซีย เราซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้จนส่วนหนึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมของไทย อย่างไรก็ตามแม้แต่วัฒนธรรมของไทยเองก็มีความแตกต่างกันในแต่ละภาค เช่น การละเล่น การแสดง การแต่งตัว ภาษาท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่บอกว่าประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนำสันติสุขสู่ประชาคมอาเซียนได้หรือไม่นั้น เราจะต้องเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมก่อน จากนั้นก็ต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่าง และนำความแตกต่างนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดต่อไป

นอกจากนี้ ในอดีตแต่ละประเทศมีการแบ่งเขตแดนชัดเจน แต่ปัจจุบันการแบ่งเขตแดนประเทศไม่มีความสำคัญเช่นในอดีต โดยจะเห็นได้จากประเทศที่อยู่คนละซีกโลก แต่มีการทำงานและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาทิ ในอดีตคนจากประเทศที่เจริญน้อยกว่าต้องการเข้าไปทำงานในสหรัฐอเมริกา ก็ต้องเข้าไปทางประเทศอังกฤษเพื่อซื้อชุดโรบินฮู้ด จากนั้นจึงจะเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันคนจำนวนมากทำงานให้กับคนในสหรัฐอเมริกา โดยอาจจะนั่งอยู่ที่บ้านที่ประเทศอินเดีย แต่ทำงานให้คนสหรัฐอเมริกาทั้งวันทั้งคืนก็เป็นไปได้

หลายๆ อย่างที่เคยเป็นความแตกต่าง เคยเป็นเขตกั้น เขตแดน มีความเปลี่ยนแปลงไป ประเทศอาเซียนมีบริเวณใกล้เคียงกัน อยู่ติดกัน มีความใกล้ชิดกันมาก เช่น คนที่อยู่จังหวัดหนองคาย อุดรธานีเดินทางไปเวียงจันทน์ใกล้กว่าที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ และคนที่จังหวัดยะลาก็สามารถเดินทางไปกัวลาลัมเปอร์ได้ใกล้กว่าเดินทางมากรุงเทพฯ เช่นเดียวกับคนที่อยู่ปลายสุดของแหลมมลายู ประเทศมาเลเซีย ก็สามารถเดินทางไปสิงคโปร์ได้ใกล้กว่าที่จะเดินทางมากัวลาลัมเปอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาเซียนบอกว่าเราจะมารวมกันเพื่อเป็นหนึ่ง ภายใต้กติกาทางการเมืองและเศรษฐกิจ และอีกสาขาหนึ่งซึ่งเป็นสาขาที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ประชาสังคมและวัฒนธรรม

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การที่จะนำสันติสุขมาสู่ประชาคมอาเซียน มีหลักการใหญ่ ๒ ประการ คือ

● การยอมรับความแตกต่าง
การนำสันติสุขสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประเทศไทยเองจะต้องมีความสันติสุขก่อน เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำสันติสุข ความปรองดอง สู่ประเทศในอาเซียนได้ เพราะแม้จะอยู่ในประเทศเดียวกันก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน เมื่อ ๑๐ ประเทศมาอยู่ร่วมกันความแตกต่างทางความคิดคงจะซับซ้อนมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในประชาคมอาเซียน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมไทย คือ หลักการอยู่ร่วมกันตามพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีหลักการสำคัญที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมี คือ ๑) ต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ๒) เคารพในสิทธิของผู้อื่น และ ๓) พร้อมที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างให้เกียรติ ในเรื่องเหล่านี้เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านกำลังพูด แต่ข้าพเจ้าก็จะยอมต่อสู้ด้วยชีวิตของข้าพเจ้า เพื่อให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านกำลังจะพูดออกมานั้น” ก็หมายความว่า ความคิดเห็นของแต่ละคนมีเสรีภาพ เราให้โอกาสผู้อื่นพูด ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเห็นด้วย แต่เราจะไม่ตำหนิ ไม่เหยียดหยามและไม่ประนาม หากเราไม่เห็นด้วยก็ต้องแสดงเหตุผลอย่างสุภาพ จากนั้นต่างคนก็ต่างฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และค่อยพิจารณาว่าเหตุผลใดเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง นั่นคือพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันทั้งในสังคมไทยและประชาคมอาเซียน

● ปรับเปลี่ยนทัศนคติ
เดิมแต่ละประเทศคิดแต่เพียงว่า “ประเทศของเรา คนของเรา” เมื่ออยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียนแล้ว จะยึดติดแบบเดิม ยึดผลประโยชน์ของเรา ประเทศของเรา ก็คงจะเกิดประชาคมที่เข้มแข็งได้ยาก จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า “เราคืออาเซียน เราคือประชาคมเดียวกัน” และเห็นพ้องกันว่า การรวมเป็นประชาคมอาเซียนจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาคมนี้และคนในประชาคมนี้มากที่สุด โดยยึดถือประโยชน์ของประชาคมเป็นหลัก หากดำเนินการและคิดเช่นนี้ ความสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการคิดถึงประโยชน์ของอาเซียนร่วมกันเป็นหลัก ช่วยเหลือ เอื้ออาทรกัน ร่วมกันพัฒนาและยกระดับให้ประชาคมอาเซียนแข็งแรงเพียงพอที่จะแข่งขันกับประชาคมอื่น จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในประชาคมอาเซียน และประชาคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไปได้
รมว.ศธ.กล่าวขอบคุณผู้จัดการสัมมนาและผู้เกี่ยวข้องทุกคนซึ่งได้จัดโครงการดีๆ เช่นนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ อันจะเป็นการเตรียมบุคลากรไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และสามารถก้าวไปพร้อมกับอีก ๙ ประเทศในประชาคมอาเซียนได้อย่างมั่นคง
"การสัมมนาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนำสันติสุขสู่ประชาคมอาเซียน จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า (นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น ๓) และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านสังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของอาเซียน ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งอภิปรายการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข"

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: