วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

ฟันธงยุบ สมศ. - สทศ. ภายใน 2 ปี

นักวิชาการฟันธงต้องยุบสมศ.-สทศ.ภายใน 2-3 ปี ชี้ประเมิน 13 ปีล้วนมาจากข้อมูลเท็จ ผู้ประเมินไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนจริงๆ ฝากย้อนดู ยอมรับตัวเองควรยุติบทบาท แนะให้ชุมชนทำหน้าที่ประเมินแทน
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วย อย่างมากกับการเสนอให้ปิดสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพราะ 13 ปีที่ผ่านมา สมศ. และสทศ.เองไม่ได้ช่วยให้ระบบการศึกษาดีขึ้น แถมเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ผลการประเมินที่ได้ก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะ สมศ.ที่ควรเปิดประเมินตัวเอง โดยให้ผู้อื่น เช่น ครู โรงเรียน มาประเมินคุณภาพของ สมศ.บ้าง และแสดงความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาว่าไม่เกิน 3 ปี จะปิดตัวเองลง

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ สมศ.ทำ เป็นการรับแนวคิด ทฤษฎีการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ครู โรงเรียน ทำให้เกิดความเสียหาย หาประโยชน์จากการประเมินไม่ได้เพราะเวลาไปประเมินผู้ประเมินก็ไปเหมือนอำมาตย์สนใจแต่การได้รับการดูแลเอาใจใส่ และตรวจสอบเอกสารจากครูที่รีบเร่งเอาเอกสารมาให้ ไม่ได้ดูระบบการเรียนการสอน คุณภาพของโรงเรียนจริงๆ เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเท็จ ไม่ตรงกับความเป็นจริงเมื่อประเมินจากข้อมูลเท็จ ผลการประเมินที่ได้ก็เป็นเท็จ เวลาผู้บริหารงานนำผลการประเมินไปตัดสินใจก็เป็นการรับรู้ข้อมูลเท็จ ทำให้ไม่สามาถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงเรียนได้จริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอข้อมูลว่ามีเด็กดร็อปเอาท์ เพียง 52 คน ทั้งที่ในความเป็นจริงมีจำนวนมาก หรือเด็กตั้งครรภ์มี 1,000 กว่า แต่ในความเป็นจริงมีหลายพันคน เป็นต้น การประเมิน สมศ.จึงไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของคนอื่นและย้อนกลับมาดูตัวเอง ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและยุติการทำงานของตนเอง ภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งการประเมิน สมศ.ควรยุติเพียงรอบที่ 3 ส่วนอนาคตอยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และชุมชนที่ตั้งโรงเรียนเป็นผู้ประเมินโรงเรียน เพราะถ้าเขาอยากให้ลูกหลานมีคุณภาพ ก็ต้องช่วยพัฒนาโรงเรียนและผลประเมินต้องออกมาตามความเป็นจริง


คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 ม.ค. 2556


จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2/2556
โดย ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก

สวัสดีครับ พี่น้องชาวแผนและผู้สนใจทุกท่าน
       เทศกาลปีใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หวังว่าพวกเราคงมีความสุขกันถ้วนหน้านะครับ ขณะเขียนจดหมายนี้เป็นช่วงวันเด็กและวันครูพอดี ดีใจที่เห็นเด็กๆ มีความสนุกสนาน รื่นเริง ชีวิตของเด็กจะถูกหล่อหลอมให้มีลักษณะเช่นไรในอนาคตนั้น ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุด รองลงมาก็คือพวกเรานี่แหละ นักการศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องนำมวลประสบการณ์ที่ดีๆมาจัดให้เด็ก ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ลูกหลานของเรามีความรู้ ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคม คำขวัญวันเด็กในแต่ละปี ต้องถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติให้จริงจัง มิฉะนั้น คำขวัญ ดังกล่าวก็จะไม่เกิดความหมายใด ๆ ต่อเด็ก สำหรับวันครูนั้น ก็ขอให้ทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่มีพระคุณต่อเรา รวมทั้งขอให้พวกเราทุกคนประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวแบบดีๆให้แก่ลูกหลานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินคำว่า “แบบอย่างที่ดี ดีกว่าคำสอน”

กลับมาเรื่องน่ารู้ในหน้าที่ของเรากันหน่อยนะครับ ซึ่งฉบับนี้ขอเสนอ 4 เรื่อง คือ เรื่องที่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องการบริหารงบประมาณ ปี 2556 งบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ปี 2556 และเทคนิคการวางแผนและบริหารงบประมาณ เริ่มเลยนะครับ
1. เรื่องที่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ขณะนี้มีเรื่องที่สำนักนโยบายและแผน สพฐ. ได้นำเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 3 เรื่องด้วยกัน เรียงตามลำดับก่อนหลัง ดังนี้ ครับ
1) การขอเพิ่มอัตราค่าจ้าง สำหรับลูกจ้างชั่วคราว 65,172 อัตรา ที่จ้างโดยใช้งบดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวฯ สิ่งที่เสนอไปนั้นมีสาระโดยสังเขปก็คือผู้ที่ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 9,000 บาท ก็ขอให้เป็น 9,000 บาท ผู้ที่ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาท ก็ขอให้เป็น 15,000 บาท เท่าที่ติดตาม ทราบว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้รับมอบหมายให้รวบรวมอัตราจ้างทั้งประเทศว่ามีจำนวนเท่าไร เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจะได้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน มิให้เกิดความลักลั่น ถ้าต้องการทราบความก้าวหน้าในเรื่องนี้โดยตรง ก็สามารถติดต่อคุณรัชนี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โทรศัพท์ 021277000 ต่อ 4305 ได้ครับ

2) เงินค่าวิทยฐานะและค่าตอบแทนรายเดือน สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้ง ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2554
3) การซื้อรถยนต์ตู้โดยสาร 6,545 คัน สำหรับ รับ-ส่ง นักเรียน ตำบลละ 1 คัน
2. การบริหารงบประมาณปี 2556
ขณะนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต่างก็ได้รับงบประมาณปี 2556 กันเป็นส่วนใหญ่แล้วนะครับ และก็คงกำลังบริหารงบประมาณดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการของตนเอง ขอย้ำเรื่องงบลงทุน (สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์) นิดนึงครับว่า ปีนี้รัฐบาลกำหนดมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณมาอย่างชัดเจนว่า งบลงทุนนั้นต้องทำสัญญาจ้าง หรือซื้อแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2556 มิเช่นนั้นงบประมาณดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ถ้าเหตุผลของเราไม่เพียงพอ ก็รีบ ๆ กันหน่อยนะครับ สำหรับผู้ที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนไป
3. งบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ปี 2556
ปี 2556 นี้ สำนักนโยบายและแผน จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดสรรงบประมาณ ค่าปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าใหม่ ที่ผ่านมา สพฐ. ให้โรงเรียนจัดทำคำของบประมาณค่าปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปยัง สพฐ. ซึ่งกว่าจะเป็นคำของบประมาณดังกล่าว โรงเรียนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้การไฟฟ้า เพื่อเป็นค่าประเมินและประมาณราคาค่าปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้า ครั้งละ 5,000 บาท และคำของบประมาณดังกล่าวก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเท่านั้น ก็หมายความว่าโรงเรียนที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณก็จะเสียเงินให้การไฟฟ้าไปฟรี ๆ 5,000 บาทต่อครั้ง เพื่อให้การตอบสนองความต้องการการปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าสอดคล้องกับความต้องการ ไม่เกิดการสูญเปล่าจากการประเมินและประมาณค่าปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าของการไฟฟ้า สพฐ. จะจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงินรวมให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ไปพิจารณาจัดสรรให้โรงเรียนในสังกัดต่อไป ซึ่งเกณฑ์การจัดสรรที่กำหนดไว้ก็คือ ทุกเขตจะได้งบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าขั้นต่ำ 1,000,000 บาทเท่ากันก่อน และเพิ่มเติมให้อีกตามสภาพโรงเรียนเก่า-ใหม่ที่อยู่ในสังกัด ขณะนี้กำลังเสนอจัดสรรครับ อย่างช้าต้นเดือนธันวาคม 2556 งบประมาณคงมาถึงสำนักงานเขตพื้นที่

4. เทคนิคการวางแผนและบริหารงบประมาณ
เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องที่พี่น้องชาวแผน ต้องรู้ เพราะท่านสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและบริหารงบประมาณซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ขอนำเสนอ ก็คือ
1) Strategic Planning

2) Scenario Planning

3) Costing

4) Public Management Sector Award : PMQA

5) Performance Assessment Rating Tool : PART

6) Program Evaluation and Review Technique : PERT

7) Critical Path Method : CPM

8) Project Planning and Management for the Governmental

Organization : PPMGO

9) Six sigma

10) Data Envelopment Analysis : DEA

ผมคงให้แต่หัวข้อไว้ก่อนนะครับ ส่วนรายละเอียดจะค่อยๆทยอยนำเสนอให้พี่น้องได้ทราบ

ในจดหมายฉบับต่อๆไป แต่ถ้าท่านใดที่รอไม่ไหวก็สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆเพื่อศึกษาและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็ได้นะครับ ท้ายที่สุดนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกคนมีพลังกาย พลังใจ พลังความคิดที่เข้มแข็งในการทำงานเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานของเราให้มีคุณภาพสูงยิ่งๆขึ้นไป แล้วพบกันใหม่ในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3/2556 ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: