วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

'พงศ์เทพ'ไฟเขียว'กศน.'แท่งที่6 'ก.ค.ศ.-สช.'ขึ้นกรม

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ลงนามเห็นชอบร่างโครงสร้างกระทรวงที่จะปรับใหม่ เท่าที่จำรายละเอียดได้ คือเสนอให้ยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขึ้นเป็นแท่งหนึ่งของ ศธ.ส่วนที่เสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการต่างๆ นั้น มีผู้เสนอเข้ามาหลากหลายมาก เช่น เสนอให้วิศวกรระบบเข้ามาดูโครงสร้างการทำงานต่างๆ เป็นต้น แต่ในชั้นนี้จะดูว่าหากทำทั้งหมด จะกลับไปสู่แบบเดิมที่จะสาละวนกับการปรับโครงสร้าง และเด็กไม่ได้อะไร ฉะนั้นจะขอเน้นที่นักเรียนก่อนในคราวนี้ ส่วนร่างที่เสนอมาให้ตนเห็นชอบนั้น ปรับไม่มากนัก และจะไม่เหมือนกับที่หลายฝ่ายเสนอมาว่าให้กลับมาดูใหม่ทั้งระบบ ซึ่งจะเหมือนกับการปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 สุดท้ายการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นเรื่องโครงสร้างหมด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในปีนี้ยังจะไม่มีการปรับโครงสร้างใหญ่ของ ศธ.แน่ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะปรับเมื่อไหร่


นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ.กล่าวว่า ได้ประสานกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) แล้ว เพื่อให้พิจารณาร่างโครงสร้าง ศธ.ใหม่ โดยในร่างจะปรับเพิ่มแท่งสำนักงาน กศน.เพิ่มเป็นองค์กรหลักที่ 6 ของ ศธ.และให้ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีฐานะเทียบเท่ากรม และเป็นนิติบุคคลภายใต้สำนักงานปลัด ศธ.จะมีความคล่องตัวในการบริหาร และมีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ได้เอง จากในปัจจุบันจะต้องให้ปลัด ศธ.เป็นผู้มอบอำนาจ นอกจากนี้ จะปรับโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ.ใหม่ โดยจะกำหนดให้การเสนองานต่างๆ ขององค์กรหลักอื่นๆ ต้องผ่านมาสำนักงานปลัด ศธ.เช่น นโยบาย และยุทธศาสตร์ของแต่ละองค์กรที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องผ่านสำนักงานปลัด ศธ.จากเดิมที่แต่ละองค์กรจะเป็นผู้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เอง ทำให้หลายเรื่องตนไม่ทราบ

"ในร่างโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ยังได้ดึงการศึกษาพิเศษที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาอยู่สำนักงานปลัด ศธ.โดยจะยกฐานะเป็นกรมการศึกษาพิเศษ ซึ่งจะต้องโอนบุคลากร อาคาร สถานที่ ที่ดินต่างๆ มาด้วย เหตุผลที่ต้องให้การศึกษาพิเศษมาอยู่กับ สป.เพราะโรงเรียนสังกัด สพฐ.เยอะมาก จนการศึกษาพิเศษอาจไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้คนพิการทุกประเภทไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และโรงเรียนประเภทนี้ก็มีไม่ทั่วถึง หากอยู่กับ สป.จะดูแลได้ใกล้ชิดมากขึ้น" นางพนิตากล่าว

นางพนิตากล่าวว่า ร่างโครงสร้าง ศธ.ใหม่ที่ได้ยืนยันไปนั้น เป็นของเดิมที่จัดทำขึ้นสมัยนายโสภณ เพชรสว่าง เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในช่วงที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อย่างไรก็ตาม ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่น การปรับเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ได้กำหนดไว้ เพราะถือเป็นรายละเอียดที่จะไม่กำหนดไว้ในร่างดังกล่าว แต่หากจะปรับก็คงต้องออกเป็นกฎกระทรวงต่างหาก ซึ่งก็แล้วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาว่าควรปรับหรือไม่


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


สพฐ.เปิดทีวีเรียนผ่านดาวเทียมเน้นพื้นที่ห่างไกล 1.4 หมื่นโรงเรียน

สพฐ.เปิด OBEC Channel ออกอากาศรายการผ่านดาวเทียม IP Star ไปยังร.ร.ขนาดเล็กกว่า 1.4 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ หวังแก้ปัญหาขาดแคลนครูคุณภาพ ส่งผลด้อยคุณภาพการศึกษา

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อการศึกษา OBEC Channel ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า OBEC Channel จะถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอนจากสตูดิโอของ สพฐ.ไปยังโรงเรียนในสังกัด ผ่านทางระบบดาวเทียม IP Star โดยได้รับความร่วมมือจาก บมจ.ทีโอที ผู้ให้บริการระบบดาวเทียม IP Star และบริษัท สามารถคอมมิวนิชั่น เซอร์วิส จำกัดร่วมจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณให้แก่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นแห่ง รวมถึงโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีชุดรับสัญญาณดาวเทียม IP Star สามารถรับชมรายการจาก OBEC Channel ได้ส่วนโรงเรียนในเมืองที่มไม่มีชุดรับสัญญาณดาวเทียมก็สามารถรับชมได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต

นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า เป้าหมายของการเปิด OBEC Channel เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นโรง ปัจจะบัน ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากที่มีปัญหาขาดแคลนครู ครูสอนไม่ตรงกับวิชาเอก ขณะที่จำนวนนักเรียนก็มีน้อย ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำ เพราะฉะนั้น OBEC Channel จะนำครูเก่งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ขาดแคลนรวมถึงครูวิชาอื่น ๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มาจัดการเรียนการสอน แล้วถ่ายทอดสดหรือบันทึกเทปนำมาออกอากาศไปยังโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษามากขึ้น

ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า รูปแบบรายการของ OBEC Channel เน้นในลักษณะรายการที่สอนเพิ่มเติม เช่น สารคดี วาไรตี้ หรือการสอนโดยใช้โครงการ ออกอากาศทั้งรายการสดและรายการบันทึกเทป มีตารางการออกอากาศแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ครูโรงเรียนปลายทางได้เตรียมตัวได้ทัน


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ครูคณิตศาสตร์ พัฒนาบทบาทสู่อาเซียน

จากกระแสการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2558 ส่งผลให้หลายประเทศในอาเซียน ทั้งไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ต่างเร่งเตรียมความพร้อมโดยการสร้างกลไกและพัฒนาคนให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาที่ต่างตื่นตัวและเร่งผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.) จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 21 (วทร.21) ภายใต้แนวคิด "มิติใหม่แห่งการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี" ในระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งการบรรยายทางวิชาการ การเสวนาวิชาการ การสาธิตทดลอง กิจกรรมประชุมปฏิบัติการ (Workshop) คลินิกวิชาการ การนำเสนอผลงานของคณะครู อาจารย์จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยในวันนี้เราจะตามไปดูกันที่คลินิกวิชาการว่า ครูคณิตศาสตร์ที่จังหวัดราชบุรี จะสามารถพัฒนาบทบาทของตนเองสู่อาเซียนได้อย่างไร

ครูเพ็ญศรี พุทธไพบูลย์ ครูคณิตศาสตร์ ม.3 จากโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จังหวัดราชบุรี หนึ่งในคณะครูผู้คิดค้นผลงาน "บทบาทครูคณิตศาสตร์สู่อาเซียน" เล่าให้ฟังว่า จากการที่ได้เข้าร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการที่ยั่งยืนของ สสวท. ทำให้เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทครูคณิตศาสตร์ในอนาคต จึงได้ร่วมกันผลักดันให้ครูผู้สอนเครือข่ายคณิตศาสตร์ จ.ราชบุรี ได้พัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเข้าสู่อาเซียน โดยเริ่มจากการฝึกให้ครูคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษในโจทย์คณิตศาสตร์ สร้างสื่อเกมตรีโดมิโน และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ในเชิงคณิตศาสตร์ เพื่อให้ครูนำประสบการณ์ดังกล่าวไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมสู่อาเซียนอย่างเหมาะสม

"จากการที่นำสื่อเกมตรีโดมิโน ไปใช้ในการเรียนสำหรับเด็กๆ ชั้น ม.1-3 ที่ผ่านมา พบว่า เด็กๆ มีความสุขกับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสร้างสรรค์สูตรทางคณิตศาสตร์ออกมาเป็นผลงานได้อย่างถูกต้อง" ครูเพ็ญศรี กล่าว

ด้าน ครูดวงพร ปัญติภาณุวัฒน์ ครูคณิตศาสตร์ระดับอนุบาล โรงเรียนอนุบาลราชบุรี เล่าต่อว่า สำหรับเด็กอนุบาลนั้นจะต้องเน้นที่เกมเป็นหลัก เพราะถ้าเด็กรู้สึกสนุก เด็กก็จะเกิดความสนใจ แล้วยิ่งถ้าให้เด็กได้คิดเอง ทำเอง เด็กก็จะเกิดความชอบมากขึ้น โดยเราอาจจะเริ่มจากการให้เด็กเรียนได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก (plus) การลบ (minus) การคูณ (multiplied by) การหาร (divided by) เป็นต้น

ส่วนครูราตรี พันธ์พืช ครูคณิตศาสตร์ ม.1-3 โรงเรียนบ้านทุ่งกระถิน บอกกับเราว่า โรงเรียนบ้านทุ่งกระถินนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้นเด็กๆ จึงมีความหลากหลายมาก อีกทั้งโอกาสในการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปยังมีน้อยมาก ซึ่งครูก็พยายามที่จะผลักดันให้เด็กๆ ที่มีศักยภาพ สามารถเดินต่อไปในระดับที่สูงกว่านี้ ซึ่งหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่นำไปใช้ ก็คือ การให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ผลงานทางคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นจึงต่อยอดเป็นภาษาอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้ภาษาอย่างน้อย 2 ภาษาขึ้นไป

แม้ว่าการนำเสนอผลงาน "บทบาทครูคณิตศาสตร์สู่อาเซียน" ของคณะครูผู้สอน เครือข่ายคณิตศาสตร์ จังหวัดราชบุรี ในงาน วทร.21 จะเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากว่าการต่อยอดและพัฒนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การพัฒนาบทบาทครูคณิตศาสตร์ให้ก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้นคงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องพัฒนาครูในทุกๆ รายวิชาให้มีศักยภาพพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสอาเซียนได้อย่างมั่นใจ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องผสานความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนวงการการศึกษาไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: