วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

"ถึงเวลายุบ สมศ. ได้แล้วหรือยัง ?"

รศ.ดร.บุญมี พันธุ์ไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) เกิดมาจากการมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ สมศ.ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานฯ พ.ศ.2543 ทำงานมามากกว่า 10 ปี เกี่ยวกับการประกันคุณภาพทางการศึกษา แต่ก็ไม่สามารถประกันคุณภาพได้เลย เพราะคุณภาพของเด็กไทยตกต่ำลงทุกปี แสดงว่าทำงานล้มเหลวมาตลอดเวลา 10 กว่าปี ใช้งบประมาณของประเทศชาติไปมากมายมหาศาล ถึงเวลาแล้วที่จะถูกยุบหรือยัง
จากผลการสอบของ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าคะแนน O-NET วิชาสามัญทั้งหลายได้แก่ วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยน้อยมากไม่ถึง 50% ของคะแนนเต็ม (คะแนนเต็ม 100) ยกเว้นวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาได้คะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งนิดหน่อย

ส่วนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีได้คะแนนเฉลี่ยเกือบถึงครึ่ง (คะแนน 40 กว่าๆ) และแนวโน้มคะแนนของนักเรียนก็จะลดลงทุกปี ซึ่งก็สอดคล้องกับการประเมินของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment:PISA) หลายปีที่ผ่านมาความสามารถของเด็กไทยด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ก็ตกต่ำลงทุกปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันก็สู้เขาไม่ได้และมีแนวโน้มจะลดลงทุกปีด้วยเช่นกัน

อดีต ผอ.สมศ.ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นประธานบอร์ด สมศ.ได้บรรยายในการประชุมวิชาการประจำปี 2555 จัดโดยสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา (สวพอ.) ผู้เขียนได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ดูเหมือนท่านเองก็จะยอมรับว่าการทำงานของ สมศ.ในขณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ยังมีเป้าหมายในการประเมินไม่ชัดเจน แต่ผู้เขียนเองอยากจะพูดว่าการทำงานของ สมศ.ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันล้มเหลวมาตลอดไม่ใช่ล้มเหลวเฉพาะตอนนี้ ผู้เขียนเองเคยเขียนวิจารณ์การทำงานของ สมศ.มาแล้วพร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะด้วยว่าควรทำอย่างไร ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้โดยคลิกไปที่ Google แล้วพิมพ์ชื่อผู้เขียนลงไป

การประเมินของ สมศ.ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมุ่งไปที่ตัวผู้บริหารและครูเป็นสำคัญ จึงทำให้ผู้บริหารและครูต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปจัดทำเอกสารต่างๆ ตามตัวชี้วัดให้ดีที่สุด เตรียมไว้รองรับการประเมินเพื่อให้ได้คะแนนมากๆ ผลการประเมินจะได้อยู่ในอันดับต้นๆ โดยไม่สนใจการเรียนการสอนนักเรียนในห้องเรียน ยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้ประเมินทั้งภายในและภายนอกจะมาประเมิน บางโรงเรียนถึงกับต้องปิดโรงเรียนหรืองดการเรียนการสอนนักเรียนเลยก็มี และให้นักเรียนมาช่วยจัดทำสภาพแวดล้อมรอบๆ โรงเรียนให้สวยงามจะได้คะแนนมากๆ

เมื่อคุณภาพของนักเรียนตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังที่ได้กล่าวมา ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี สมศ.ต่อไปอีกแล้ว แต่ก็อาจจะมีนักวิชาการบางท่านโต้แย้งว่า ถึงแม้ไม่มี สมศ.ทำหน้าที่ประกันคุณภาพทางการศึกษา คุณภาพของเด็กก็ยังแย่เหมือนเดิมเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเด็ก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดนี้ ก็แสดงว่าการมีหรือไม่มี สมศ.ก็ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเด็กอยู่แล้ว

นั่นคือ แทนที่รัฐบาลจะเอางบประมาณไปให้ สมศ.ทำประกันคุณภาพทางการศึกษาอย่างที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ สู้เอางบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นๆ ทางการศึกษาน่าจะมีประโยชน์มากกว่า

ก่อนปี พ.ศ.2542 ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประกันคุณภาพทางการศึกษาเหมือนอย่าง สมศ.ก็ไม่เห็นมีเสียงสะท้อนออกมาว่าคุณภาพเด็กไทยตกต่ำเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่กลับมีเสียงชื่นชมว่าการจัดการศึกษาสมัยก่อนนี้ทำได้ดีกว่าสมัยนี้เสียอีก ใช้งบประมาณก็ไม่มากมายเหมือนอย่างปัจจุบัน โครงการใหญ่ๆ ที่เราเรียกว่า เมกะโปรเจ็กต์ก็ไม่มี เด็กเรียนแค่ระดับประถมศึกษาก็สามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขคล่อง ดีกว่าเด็กในยุคปฏิรูปการศึกษาเสียอีก

ผู้เขียนเคยเสนอให้ยุบ สมศ.มาแล้ว แต่ก็มีบางท่านบอกว่ายุบไม่ได้ง่ายๆ หรอกเพราะตั้งมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ก่อนซึ่งมีขั้นตอนมาก แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าไม่น่าจะยาก เพราะ สมศ.จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานฯ พ.ศ. 2543 ถ้าจะยุบก็ออกพระราชกฤษฎีกายุบสำนักงานฯเสียก็ไม่น่าจะยุ่งยากเหมือนการออก พ.ร.บ.

ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะ รมต.กระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ถ้าท่านเห็นว่าเหตุผลที่ผู้เขียนกล่าวมานั้นพอจะรับฟังได้หรือพอมีมูล แต่ท่านอาจจะไม่แน่ใจก็สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก็ได้ โดยการสอบถามครูและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือทำโพลเฉพาะเรื่องนี้ก็ยิ่งดี ซึ่งผู้เขียนก็ยังมั่นใจว่าผู้บริหารสถานศึกษา ครูและอาจารย์ส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่าควรยุบ สมศ.ได้แล้ว อดีตท่านเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่าท่านคงจะมีช่องทางของกฎหมายที่จะยุบ สมศ.ได้โดยไม่ยาก

ถ้าท่าน รมต.ทำได้ ผู้เขียนคิดว่าท่านจะได้รับความขอบคุณและเสียงชื่นชม ในความกล้าหาญของท่านจากครูและอาจารย์ทั่วประเทศที่มีจำนวนมากเป็นหลักแสน ที่ท่านได้ช่วยปลดแอกที่เป็นภาระที่หนักแต่ไม่มีประโยชน์ออกจากบ่าของพวกเขาเสียที พวกเขาเหล่านั้นจะได้เอาเวลาไปสอนเด็กนักเรียนให้เต็มที่เพื่อคุณภาพเด็กไทยจะไม่ตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: