วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"เงินกู้ ช.พ.ค."ต่อยอดหรือสร้างหนี้?

โครงการเงินกู้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) หรือ โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นโครงการที่ สกสค.ร่วมกับสถาบันการเงินเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิความเป็นสมาชิก ช.พ.ค. ในการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ ทั้งนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. เป็นสวัสดิการที่ สกสค. ทำขึ้นเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ครูสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนแบบสบาย ๆ  และใช้เป็นเงินทุนในการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นการสร้างหนี้ให้ครู ทำให้ครูมีภาระหนี้สินระยะยาว เพราะวงเงินที่ครูสามารถกู้ได้สูงสุดปัจจุบันเป็นเลข 7 หลักแล้ว

จะว่าไปเรื่องนี้เป็นเรื่องการมองต่างมุม มองดีก็ได้มองร้ายก็ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสไปเยือนเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้พบปะกับคุณครูหลายคนที่เข้าร่วมโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ซึ่งก็สามารถนำมุมดี ๆ ของโครงการออกมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ครูสุธน และ ครูพรรณี พงษ์ษารัตน์ สามีภรรยาอดีตข้าราชการครูโรงเรียนบ้านแม่ปิง อ.ปาย ที่เพิ่งตัดสินใจอำลาชีวิตราชการด้วยการเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด หรือ เออร์ลี่รีไทร์ เพื่อออกมาทำธุรกิจรีสอร์ทบ้านพักอย่างเต็มตัวในอำเภอปาย ชื่อว่า “บ้านมินตรา” โดยครูพรรณี เล่าว่า เริ่มลงทุนทำธุรกิจได้ประมาณ 5-6 ปี แล้ว โดยทำลักษณะค่อยเป็นค่อยไป พอ สกสค. เปิดโครงการให้สิทธิสมาชิก ช.พ.ค. กู้เงินได้จึงได้เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2552 ได้เงินมา 2 คนล้านกว่าบาทก็เอามาใช้ปรับปรุงห้องพัก และเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ รวมถึงทำธุรกิจผลิตเครื่องแกงฮังเลส่งเดือนละประมาณ 4 หมื่นซอง ก็มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

“เป็นครูมา 20 กว่าปีไม่เคยกู้เงิน ก็เพิ่งมากู้ ช.พ.ค. ถ้าไม่มี ช.พ.ค. ก็ไม่รู้จะไปเอาเงินที่ไหนมาเสริม ซึ่งพอได้เงินกู้มาทำให้เราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีเงินมาเสริมสภาพคล่อง มีเงินมาปรับปรุงห้องพักให้ดี ทำให้มีแขกเข้าพักได้ตลอด แถมมีเงินเหลือไปเป็นทุนต่อยอดธุรกิจอื่นได้อีก” ครูพรรณีกล่าวพร้อมกับย้ำว่า อย่างไรก็ตาม อยากฝากเป็นข้อคิดให้กับคนที่จะกู้เงินว่า ถึงแม้การกู้เงิน ช.พ.ค. จะกู้ไม่ยาก และไม่กำหนดระยะเวลาส่งคืนเพราะสามารถส่งดอกไปได้เรื่อย ๆ แต่คนที่คิดจะกู้ต้องรู้จักการวางแผนการใช้เงินให้ดีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญต้องใช้เงินอย่างมีสติและรู้จักพอเพียง

อีกรายเป็นอดีตข้าราชการครูแต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนในอำเภอปายที่ถือว่ามีจำนวนนักเรียนมากทีเดียว ครูทองคำ กันธะคำผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสิริอัมพร กล่าวว่า สมาชิกในครอบครัวเป็นครูเกือบทุกคนจึงใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. เพื่อกู้เงินมาพัฒนาโรงเรียนซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว มาสร้างอาคารเพิ่มจากเดิมมีนักเรียน 300 กว่าคน ทำให้รับนักเรียนได้มากขึ้นอีกเกือบ 200 คน และสามารถต่อยอดเปิด ชั้น ม.ต้น พร้อมกับเปิดบ้านเด็กเล็กได้อีก

“โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีมาก สามารถช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ครูได้ อย่างกรณีครอบครัวผมซึ่งเราทำโรงเรียนอยู่ก่อนก็ได้โครงการนี้มาช่วย เพราะเมื่อเรามีเงินมากขึ้น ก็สามารถสร้างห้องเรียนเพิ่มได้ จ้างครูเพิ่มได้ และจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่เราจัดให้เด็กเต็มที่ได้กลายเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานเข้ามาเรียน” ครูทองคำกล่าว

ส่วน ครูบุษบา แปงใจ ซึ่งเป็นคุณครูอีกคนหนึ่งที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายน 2555 เพื่อมาดูแลกิจการร้านอาหารและบ้านพักที่วางรากฐานมากว่า 20 ปี ซึ่งครูบุษบาเล่าว่า 33 ปีที่รับราชการนอกจากจะให้เวลากับการเป็นครูอบรมสั่งสอนศิษย์มาตลอดแล้ว ยังได้ทำกิจการร้านอาหารและบ้านพักสำหรับผู้มาเยือนแม่ฮ่องสอนควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มจากสร้างบ้านพักบนเนินเขา 2 หลัง แล้วขยายไปสร้างบ้านเคียงดอยรีสอร์ทเพิ่มอีก 1 แห่ง จากมีห้องพักไม่กี่ห้องก็ขยายมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีห้องพัก 18 หลัง 30 ห้อง และยังได้ไปเปิดกิจการอาคารพักให้เช่ารายเดือน รายวันอีก 50 ห้อง รวมถึงกิจการร้านอาหาร ร้านกาแฟ มินิมาร์ท

และกิจการอื่นอีก โดยส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจมาได้ก็คือแหล่งทุน และแหล่งทุนสำคัญที่เลือกใช้ คือ ช.พ.ค. และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

ครูบุษบา บอกว่า คนส่วนใหญ่อาจมองว่าโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. เป็นโครงการสร้างหนี้ให้ครู ทำให้ครูเป็นหนี้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ถ้าคนที่กู้รู้จักคิดและวางแผนไว้ก่อนว่าจะกู้เงินไปทำอะไร สามารถนำเงินส่วนนี้ไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลงอกเงยได้หรือไม่ ถ้ากู้ไปเก็บไว้เฉย ๆ หรือกู้ไปซื้อรถหรู ๆ มาขับอวดกัน หรือซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นก็ไม่แนะนำให้ทำเพราะนั่นเป็นการสร้างหนี้ สรุปก็คือก่อนที่จะกู้ต้องคิดให้ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีโครงการอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะถือว่าเป็นโครงการหนึ่งสร้างความมั่นคงให้ครูได้

ที่ว่ามาถือเป็นตัวอย่างของครูที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ โดยมีโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.เป็นปัจจัยหนุน ซึ่งหากมองในมุมนี้ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับวิจารณญาณของคนที่จะเป็นหนี้ว่าจะก่อหนี้ก้อนนี้เพื่อความมั่นคงรุ่งเรือง หรือร่วงโรยของชีวิต...ต้องคิดให้ดี.

อรนุช วานิชทวีวัฒน์
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


            7 ขั้นตอนเรียนรู้พิชิตเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีอบายมุข
หลังรับโล่ประกาศเกียรติคุณครูดีไม่มอบายมุข ประเภทเขตพื้นที่การศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการในงานวันครูปีนี้ นิคม เขียวฉ่ำ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 ชื่นชมกับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ก่อนจะเดินหน้าเต็มกำลังในการทำงานลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่ ป้องกันแก้ไขปัญหาอบายมุขในเขตพื้นที่การศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอน้ำหนาว เขาค้อ หล่มสัก และหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้โครงการ "ครูดีไม่มีอบายมุขยึดหลักเรียนรู้ด้วยการชี้นำตัวเอง" เป็นเครื่องมือสำคัญทะลุทะลวงสู่เป้าหมายที่มีคุณค่า นั่นคือ การสร้างต้นแบบผู้บริหารสถานศึกษาดี ศึกษานิเทศก์ดี ครูดี ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในโรงเรียนในการทำความดี ไม่ใช้ชีวิตยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ก่อนจะขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบต่อไป

ผู้อำนวยเขตดีไม่มีอบายมุขผู้นี้สร้างคนที่เป็นบุคลากรทางการศึกษามาตลอด และทำงานแข็งขันเกี่ยวข้องกับการลด ละ เลิกอบายมุขมาตั้งแต่ปี 2534 อดีตเคยดื่ม แต่เมื่อทบทวนและเห็นถึงคุณค่าของเวลาที่เสียไปกับสิ่งมอมเมาเหล่านี้ และต้องการมีบทบาทความเป็นครูอย่างเต็มภาคภูมิ จึงตัดสินใจเลิกยุ่งเกี่ยวกับน้ำเมาเด็ดขาดจนทุกวันนี้ จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านการศึกษา เป็นที่เคารพเชื่อถือด้วยประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม สัมภาษณ์ ผอ.นิคมได้แนวคิดในการทำงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี และโมเดลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 (สพป.เพชรบูรณ์) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้อีกด้วย

และโครงการสำคัญที่ต้องพูดถึงก็คือ "ครูดีไม่มีอบายมุขยึดหลักเรียนรู้ด้วยการชี้นำตัวเอง" โดยมี 7 ขั้นตอนสู่เป้าหมายของโครงการ ซึ่งผู้อำนวยการผู้นี้ได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ปลุกกระแสรณรงค์เขตพื้นที่การศึกษาดีไม่มีอบายมุข โดยครอบคลุมโรงเรียนใน 4 อำเภอของเพชรบูรณ์ ใช้โมเดลเรียนรู้ด้วยการชี้นำตัวเอง เริ่มจากหนึ่ง สร้างบรรยากาศเคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาเกิดความเคยชินในการทำความดี โดยผู้บริหารต้องประพฤติตนเป็นต้นแบบที่ดี จะเกิดการเลียนแบบ หากเชื่อใจกันสามารถตักเตือนได้หากประพฤติไม่ดี โดยเน้นหลักศีล 5 ไม่นำอบายมุขเข้ามาในชีวิต ก็กำหนดเป็นเอกลักษณ์ของเขตพื้นที่การศึกษานี้ ทั้งยังประกาศเป็นวิสัยทัศน์ เรียนรู้โดยการชี้นำตนเองเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเป็นเลิศทั้งระบบ ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งหลักครูดีไม่มีอบายมุขเป็นสิ่งสำคัญ หากครูซึ่งใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนติดเหล้า-บุหรี่ แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นจะต้องทำให้ครูตระหนักถึงผลกระทบ ปัญหา และศรัทธาในวิชาชีพครู

ประการถัดมา ต้องผลักดันให้เกิดโครงสร้างสื่อสารสองทาง ผอ.นิคมอธิบายว่า หากมีนโยบายหรือสั่งการไปแล้ว จำเป็นต้องดูความสนใจและการตอบสนองนั้นด้วย มีการนำไปปฏิบัติกับครู นัก เรียนในโรงเรียนหรือไม่ และต้องมีการยืนยันในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการลด ละ เลิกอบายมุขอย่างต่อเนื่อง ประการที่สาม วิเคราะห์ความต้องการ เพราะแต่ละโรงเรียนมีความต้องการต่างกัน หากโรงเรียนมีการรับรู้ตัวเองที่ดีก็สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดได้ แน่นอนว่าการแก้ปัญหาอบายมุขในบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ เช่น บางคนหยุดดื่มไม่ได้ บางคนเที่ยวกลางคืน บ้างก็ติดพนัน ก็จะต้องหากระบวนการลด ละ เลิก โดยใช้วิธีในขั้นที่สี่ต่อไป คือ กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อไปสู่ความสำเร็จ แต่จำเป็นต้องทำกระบวนการนี้ร่วมกัน โดยมีพี่เลี้ยง เช่น ครูมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นพี่เลี้ยง ส่วน ผอ.โรงเรียนมี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ทำให้เกิดความมั่นใจ เพิ่มกำลังใจ ไม่ใช่พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีที่พึ่งพิงได้

ขั้นที่ห้า จากโมเดลนี้ผู้อำนวยการเขตบอกต่อว่า เป็นการวางแผนจากประสบการณ์แต่ละคน ทำงานเป็นทีม โดยครูเก่าที่เป็นครูดีไม่มีอบายมุขประกบครูใหม่ ด้วยครูใหม่ยังอายุน้อย แสวงหาความสุข ขณะที่ครูรุ่นพี่อาบน้ำร้อนมาก่อน รับรู้ผลกระทบ ซึ่งครูเหล่านี้จะแนะแนวทางครูรุ่นใหม่ทั้งจากประสบการณ์ ผลวิจัยปัญหา ข่าวสารตามสื่อต่างๆ ตลอดจนโครงการรณรงค์ และกิจกรรมต้นแบบที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ซึ่งมีเรื่องราวปัญหาในสังคม พร้อมเสนอหนทางออกในการแก้ปัญหา เป็นรูปแบบที่มีอยู่ และสามารถนำวิธีการเหล่านั้นไปใช้กับตนเองและโรงเรียนได้ด้วย

ประการที่หก คือ ดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรเหล่านี้ไม่ล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน ขั้นสุดท้ายสำคัญมาก ประเมินความก้าวหน้าเป็นระยะ โดยผู้นั้นประเมินตัวเองว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ หากพบกลุ่มไหนต้องเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาก็ทำงานต่อ เช่น อาจมีติดเหล้า ต้องใช้การรักษาทางการแพทย์ช่วยเหลือ หรือกลุ่มที่มีค่านิยมดื่ม ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด นอกจากนี้ยังมีวิธีแก้ไขปัญหาด้วยบทลงโทษ หากเกิดผลเสียหายจะดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกระบวนการทางวินัย แต่จะถือเป็นผู้ป่วยในเบื้องต้นต้องบำบัดรักษาก่อน และต้องเปิดโอกาสให้กลับมาเป็นครูอีกครั้ง

"อดีตบทบาทของครูในการทำงานกับชุมชน จะต้องเข้าถึงด้วยการใช้น้ำเมาสานสัมพันธ์ แต่ปัจจุบันครูต้องมีความคิดลึกซึ้ง เรื่องอบายมุข สารเสพติดอยู่ตรงข้ามกับการจัดการเรียนการสอนเด็ก ผู้บริหารสถานศึกษา ผอ. ครูต้องเป็นแบบอย่างและเป็นบทเรียนที่ดีให้กับนักเรียน นี่คือ บทเรียนอันเป็นรูปธรรม จดจำได้ง่ายกว่าตัวหนังสือ ครูต้นแบบต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากเป็นครูดีไม่มีอบายมุข เขตพื้นที่การศึกษายังเน้นครูปิดทองหลังพระ มีครูหลายร้อยคนใน 4 อำเภอ ได้รับการประกาศเกียรติคุณเพราะมีจิตสำนึกความเป็นครู ทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทุ่มเทงานด้านศึกษาทั้งในเวลา นอกเวลา ครูเหล่านี้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชู ทั้งยังเป็นแกนนำผลักดันสร้างครูดีไม่มีอบายมุขต่อไป นี่เรียกว่า 'ยุทธการน้ำดีไล่น้ำเสีย' จะต้องขยายผลมากขึ้นๆ" ผู้อำนวยการ สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2 เน้นย้ำ

ผลสำเร็จจากการทำงานของนิคม เขียวฉ่ำ อันโดดเด่น สร้างการยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคลากรทางการศึกษาเสมอมา สิ่งที่ผู้อำ นวยการเขตพื้นที่การศึกษาผู้นี้กล่าวทิ้งท้าย หากผู้อำนวยการโรงเรียน ครูรุ่นใหม่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยการชี้นำตัวเองไปสู่แนวทางที่สร้าง สรรค์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่จำเป็นต้องรอฟังคำสั่งนโยบาย หรือคิดพึ่งพิงคนอื่น และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี พร้อมกับ 10 ประเทศนั้น จะเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต้องรู้ทันการเปลี่ยนแปลง หากมัวมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข สติปัญญาตกต่ำ ไม่ทำหน้าที่หรือบทบาทครูที่สมบูรณ์จะถอยหลังเข้าคลอง แถมมีสุขภาพร่างกายทรุดโทรม เจ็บป่วยด้วยโรคภัยมากมาย ซึ่งในการทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยด้านการศึกษาของชาตินั้นบุคลากรต้องมีความแข็งแกร่งทางวิชาการ ทางจิตใจ และสุขภาพร่างกาย จึงจะทำได้ สิ่งสำคัญคือต้องเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กเห็นคุณค่า และเด็กจะเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป.

'กำหนดเป็นเอกลักษณ์ของเขตพื้นที่การศึกษานี้ ทั้งยังประกาศเป็นวิสัยทัศน์ เรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเป็นเลิศทั้งระบบ ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งหลักครูดีไม่มีอบายมุขเป็นสิ่งสำคัญ หากครูซึ่งใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนติดเหล้าบุหรี่ แล้วอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นจะต้องทำให้ครูตระหนักถึงผลกระทบ ปัญหา และศรัทธาในวิชาชีพครู'

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: