วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กมธ.เชื่อบิ๊กสพป.ขก.เอี่ยวทุจริต'ครูผช.'


 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมเกี่ยวกับปัญหาการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ที่มีชื่อนายภานุวัฒน์ ไชยวงศ์ พนักงานราชการใน สพป.ชัยภูมิ มีชื่อผ่านการสอบคัดเลือกทั้ง 2 เขตพื้นที่ฯ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผู้อำนวยการ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ผู้อำนวยการ สพป.ขอนแก่น เขต 3 และนายภานุวัฒน์ เข้าชี้แจงประมาณ 2 ชั่วโมง ว่า กมธ.การศึกษาฯไม่เชื่อว่าปัญหาที่มีคนเข้าสอบแทนนายภานุวัฒน์จะไม่เชื่อมโยงกัน เชื่อว่ามีกระบวนการที่ดำเนินการเรื่องนี้ และจะต้องเชื่อมโยงกับ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ในการทุจริต โดย กมธ.การศึกษาฯได้หารือผู้แทน สพฐ.และย้ำว่า สพฐ.ต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นความผิดที่เห็นชัดเจน ไม่น่ายากหากจะนำคนผิดมาลงโทษ เพราะไม่มีความซับซ้อนมาก นอกจากนี้ ยังได้แจ้งผู้อำนวยการ สพป.ขอนแก่น เขต 3 รีบสอบสวนให้รู้ประจักษ์ว่าความผิดความบกพร่องเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงปล่อยให้คนที่ไม่ใช่นายภานุวัฒน์เข้าสอบได้
          นายประกอบกล่าวต่อว่า ส่วนนายภานุวัฒน์ได้ชี้แจงว่าได้ทำบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 หาย และในวันสอบจริงได้ไปสอบคัดเลือกที่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ส่วนคนที่เข้าสอบแทนที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 นั้นไม่ทราบ และสงสัยว่าทำไมมีคนไปสอบแทน ซึ่งประเด็นนี้ กมธ.การศึกษาฯเห็นว่าน่าจะพัวพันกัน เพราะอยู่ดีๆ ใครจะไปสอบแทนโดยไม่มีแรงจูงใจ และไม่มีผลประโยชน์ หรือไม่มีการจ้าง เพราะการสอบแทนมีความผิดทางอาญาด้วย อย่างไรก็ตาม กมธ.การศึกษาฯจะประสานขอสำนวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพล จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
          "การดำเนินการของ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ล่าช้า และยังไม่รู้ว่าใครสอบแทน ทั้งๆ ที่มีภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งการแจ้งความดำเนินคดีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเป็นแค่คดีอาญา แต่ในทางวินัยจะต้องเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้อง โดยทำควบคู่กันไป ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว และถ้า สพป.ขอนแก่น เขต 3 มีความจริงใจ ก็ควรสอบสวนข้อเท็จจริงเลย เท่าที่ฟังข้อมูลน่าจะเชื่อมโยงกันหลายระดับ และน่าจะรู้กัน โดย สพป.ขอนแก่น เขต 3 น่าจะรู้เห็นด้วย เพราะปล่อยปละละเลยมากเกินไป ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครเข้าสอบแทนได้ หากตรวจเช็ก อย่างดี" นายประกอบกล่าว
          นายประกอบกล่าวอีกว่า ได้แจ้งที่ประชุม กมธ.การศึกษาฯว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด หาก สพฐ.ดำเนินการช้าหรือหาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จะเล่นงาน สพฐ.แทน และจากปัญหาดังกล่าว นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้โทรศัพท์ประสานมายังตน สนับสนุนให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะทราบว่าเขตพื้นที่ฯดังกล่าวมีปัญหาจริง
          นายพงศกร อรรณนพพร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และรองประธาน กมธ.การศึกษาฯ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับการสอบครูผู้ช่วย ดูเหมือนไม่มีระบบ แต่มีระบบ เพราะจู่ๆ คงไม่มีใครอยากไปสอบแทน และมองว่าเป็นกระบวนการภายนอกหรือภายในที่ทำกัน เพราะหากไม่รู้เห็นเป็นใจคงเข้าสอบแทนไม่ได้ ฉะนั้น ถึงเวลาที่จะต้องสะสาง และ สพฐ.กับเขตพื้นที่ฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการของข้อสอบหรือการจัดติวข้อสอบ รวมทั้งมือปืนรับจ้างสอบแทน
          "เป็นความโชคดีที่มีกรณีนี้โผล่ให้เห็น และกรณีที่ไม่เห็นในเขตพื้นที่ฯอื่นๆ ทำถูกต้องหรือไม่ ที่มีกระแสข่าวว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมืองนั้น ถ้าพูดไปแล้วครูกับนักการเมืองใกล้ชิดกัน ฉะนั้น ครูจะสนิทสนมกับใครเป็นอีกกรณีหนึ่ง อย่างผมเป็นนักการเมืองก็รู้จักครู ใครจะดีใครจะชั่ว หรือใครจะมาแอบอ้างเราก็ไม่รู้ ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะสืบเสาะไปถึงต้นเรื่องได้ ส่วนเวลาที่สอบครูผู้ช่วย จะมีกระแสข่าวทุกครั้งเกี่ยวกับการทุจริต ผมเชื่อว่าน่าจะมีมูล ไม่เช่นนั้นจะไม่มีข่าวออกมา และจำได้ว่าในการสอบครั้งที่ผ่านมา เขตพื้นที่ฯขอนแก่น ก็ยกเลิกการสอบมาแล้ว" นายพงศกรกล่าว
          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ที่มีกระแสข่าวว่าผู้บริหารเขตพื้นที่ฯบางคนใน จ.ขอนแก่น กังวลเกี่ยวกับปัญหาการสอบครูผู้ช่วย เพราะหากถูกยกเลิก จะกระทบกับผู้ที่จ่ายเงินให้กับกระบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยประมาณ 20 คน ที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯของผู้บริหารคนดังกล่าว เรื่องนี้ต้องยึดมติที่ประชุม ก.ค.ศ.เพราะยังไม่ยกเลิกผลสอบใน 2 เขตพื้นที่ฯ จึงต้องว่าไปตามขั้นตอน และยังจะไม่ยกเลิกเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีข้าราชการ สพฐ.เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ข้อสอบรั่ว และดำเนินการเป็นขบวนการนั้น เป็นการกล่าวอ้างมากกว่า เพราะบางคนที่สอบไม่ได้อาจสร้างเรื่องราวให้วุ่นวาย โหมกระแสให้บานปลายมากขึ้น ต้องระวังเพราะจะสร้างความเสียหายให้ สพฐ.
          รายงานข่าวจาก ศธ.แจ้งว่า ขณะนี้นายเสริมศักดิ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของ ศธ. มีนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน และเร่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว นอกจากนี้ นายเสริมศักดิ์ยังสั่งการไปยัง สพฐ.ให้เก็บกระดาษคำตอบ และผลคะแนนในการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ไว้เป็นหลักฐาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ชี้ 10 ปี กระจายอำนาจสพป.เหลว เกินครึ่งไม่พร้อม - 16 เขต ได้ระดับ'บี'

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) เปิดเผยว่า สวพ.ได้รับมอบจากสภาการศึกษา (สกศ.) ให้วิจัยเพื่อประเมินความพร้อมรองรับ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ 183 เขต โดยวิจัยตลอด 2 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2554 พบว่า เขตพื้นที่ฯ เกินครึ่งไม่มีความพร้อมรับอำนาจบริหารจัดการที่ผ่องถ่ายไปจากส่วนกลาง ซึ่งตามกฎหมาย และแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษา ให้กระจายอำนาจจากส่วนกลางให้กับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา โดยให้กระจายอำนาจการบริหารจัดการ 4 ด้าน คือ การบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงินและงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้นำผลการประเมินความพร้อมของเขตพื้นที่ฯ มาจัดเป็น 4 ระดับ พบว่าไม่มีเขตพื้นที่ฯ ใดมีผลการประเมินอยู่ในระดับ A หรือระดับที่มีความพร้อมสูงมาก และสมควรจะได้รับการกระจายอำนาจครบทุกด้าน และมีเขตพื้นที่ฯ เพียง 16 เขต หรือร้อยละ 8.65 ของจำนวนเขตพื้นที่ฯ ทั้งหมด ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับ B หรือระดับที่มีความพร้อมสูง สามารถกระจายอำนาจการบริหารจัดการทั้ง 4 ด้านให้ได้ โดยส่วนกลางกำกับดูแล
          นายสมหวังกล่าวต่อว่า ส่วนระดับ C หรือมีระดับที่มีความพร้อมปานกลาง มีเขตพื้นที่ฯ อยู่ในระดับนี้ 114 เขต หรือร้อยละ 61.62 เขตพื้นที่ฯ กลุ่มนี้เหมาะได้รับการ กระจายอำนาจให้ในบางเรื่องที่พร้อม โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องได้รับการพัฒนาในด้านที่ไม่พร้อม นอกนั้นมีเขตพื้นที่ฯ อีก 55 เขต หรือร้อยละ 29.75 อยู่ระดับ D หรือขาดความพร้อมอย่างมากที่จะรับการผ่องถ่ายอำนาจ ต้นสังกัดยังไม่ควรกระจายอำนาจให้ และต้องสร้างความพร้อมให้เขตพื้นที่ฯ ในกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ขยับมาอยู่ในกลุ่ม C แล้ว จึงเริ่มกระจายอำนาจให้บางเรื่อง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เขตพื้นที่ฯ ยังไม่พร้อมรับการกระจายอำนาจ แม้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ตั้งเขตพื้นที่ฯ เพราะกำหนดจำนวนเขตพื้นที่ฯ ไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น โดยตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น ให้ประกาศเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 219 เขต ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม ดูแลพื้นที่ไม่กว้างเกินไป ทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียนได้ และให้ทยอยประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่ฯ ที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้นเลือกประกาศพร้อมกัน 175 เขต ทั้งที่บางเขตพื้นที่ฯ ไม่พร้อม ขาดอัตรา นอกจากนี้ พื้นที่ในความดูแลของแต่ละเขตพื้นที่ฯ กว้างเกินไป
          "เขตพื้นที่ฯ ยังไม่ได้รับการกระจาย อำนาจที่แท้จริง อำนาจการบริหารเงิน และคน ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง งบฯที่จัดสรรให้เขตพื้นที่ฯ มีสเปกจากส่วนกลางกำกับว่าใช้ในเรื่องใดบ้าง จึงไม่สามารถบริหารจัดการงบฯโครงการต่างๆ ให้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่นได้ เขตพื้นที่ฯ ถูกกำกับให้ทำตามนโยบายจากส่วนกลางสูงมาก จึงไม่มีเวลาคิดอย่างอื่น ฉะนั้น ทุกวันนี้เขตพื้นที่ฯ จึงอยู่ในสภาพขาดอิสระในการบริหารจัดการด้านต่างๆ โดยเฉพาะคน และเงิน ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ จะกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ เมื่อเขตพื้นที่ฯ ไม่เข้มแข็ง จึงไม่สามารถเป็นผู้นำการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในพื้นที่ได้ ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และไม่สามารถวางแผนจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้" นายสมหวังกล่าว
          นายสมหวังกล่าวอีกว่า สกศ.ยังได้มอบหมายให้ สวพ.ไปวิจัยเพื่อประเมินความพร้อมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การมัธยมศึกษา (สพม.) 42 เขต ด้วย ในเร็วๆ นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


สช. สสวท. และ พว. MOU พัฒนาครูวิทย์ คณิต และภาษาไทย

          นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU : Memorandum of Understanding) การพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนเอกชนผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นโดย สช. ร่วมกับ สสวท. พัฒนาครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วยชุกอบรมครูระบบทางไกล ETV ปีที่ ๑-๓ (ฉบับปรับปรุง) และ พว. พัฒนาครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์การสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย และสร้างเครือข่าวความร่วมมือทางวิชาการอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบระยะเวลาในการทำ MOU. ๓ ปี
          นายชาญวิทย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการลงนามฯเสร็จสิ้น ได้จัดให้มีการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพครูภาษาไทย วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โดยมีโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกพัฒนาเป็นศูนย์ฝึก จำนวน ๖๘ ศูนย์ และรวมถึงผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาทั่วประเทศ ๔๒ เขต กว่า ๒๐๐ คน รับทราบนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และแนวทางการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถการพัฒนาสมรรถนะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ของครูให้มีความพร้อม สามารถนำความรู้ ที่ได้ไปขยายผลให้กับครูในโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มทักษะและเทคนิคการสอนเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้สอนมีความชำนาญ ในการใช้สื่อและเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ทักษะด้านภาษาในการสื่อสารเพื่อมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระ ให้มีประสิทธิภาพ รองรับการก้าวสู่ประชมคมอาเซียนในปี ๒๔๔๘ ซึ่งถือเป็นจุดเน้นในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษา ภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพบุคลากร ผู้เรียน รวมถึงเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้มากยิ่งขึ้น

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2556


ไม่มีความคิดเห็น: