วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: เรื่องเกี่ยวกับการพัสดุ (การสอบราคา)


 ประสาน ยินดี
 ผู้อำนวยการภารกิจเสริมสร้างและมาตรฐานวินัย

          สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับรายงานการดำเนินการทางวินัยจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่างๆ ว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้าราชการครูซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน ภารกิจภายในโรงเรียนมิใช่จะมีเฉพาะการเรียน การสอน เพียงอย่างเดียว หากต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องพัสดุอีกด้วย ดังนั้น เมื่อข้าราชการครูขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับพัสดุจึงได้กระทำไปโดยไม่ได้เข้าใจในระเบียบ โดยที่ข้าราชการครูดังกล่าวไม่ทราบว่ากระทำไปตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งถูกต้องตามระเบียบพัสดุหรือไม่ ซึ่งหาเป็นความผิดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงไม่ เพียงแต่ขาดการอบรม โดยไม่ทราบว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เป็นระเบียบที่มีการกำหนดโทษไว้ ซึ่งต่างจากระเบียบอื่น โดยกำหนดโทษไว้ในข้อ 10 ซึ่งแม้การ กระทำดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ก็ยังให้ลงโทษภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
          ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนักงาน ก.ค.ศ.ใคร่หยิบยกในเรื่องที่พบบ่อยคือเรื่องการสอบราคา ซึ่งการสอบราคาจะกระทำได้ในการซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งกำหนดอยู่ในข้อ 20 ซึ่งข้าราชการครูบุคคลใดได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินตามระเบียบพัสดุดังนี้
          ในเรื่องการประกาศสอบราคา
          1.ให้ปิดประกาศการสอบราคาอย่าง 10 วัน (การสอบราคาในประเทศ) และให้เจ้าหน้าที่พัสดุส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับให้ปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้น
          2.ในการยื่นซองสอบราคา ผู้เสนอราคาจะต้องผนึกซองจ่าหน้าถึงประธานคณะกรรมการ เปิดซองสอบราคาการซื้อหรือการจ้างครั้งนั้น และส่งถึงส่วนราชการผู้ดำเนินการสอบราคาก่อนวันเปิดซองสอบราคา โดยยื่นโดยตรงต่อส่วนราชการ หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ในกรณีที่ส่วนราชการกำหนดให้กระทำได้
          3.ให้เจ้าหน้าที่ลงรับโดยไม่เปิดซองพร้อมระบุวันและเวลาที่รับซอง ในกรณีที่ผู้เสนอราคามายื่นซองโดยตรงให้ออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นซอง สำหรับกรณีที่เป็นการยื่นซองทางไปรษณีย์ ให้ถือวันและเวลาที่ส่วนราชการนั้นลงรับจากไปรษณีย์เป็นเวลารับซอง และให้ส่งมอบซองให้แก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทันที
          4.ให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเก็บรักษาซองเสนอราคาทุกรายโดยไม่เปิดซองและเมื่อถึงกำหนดเวลาเปิดซองสอบราคาแล้ว ให้ส่งมอบซองเสนอราคาพร้อมทั้งรายงานผลการรับซองต่อคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาเพื่อดำเนินการต่อไป
          ส่วนในเรื่องหน้าที่ของคณะกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินการอย่างไรในวันเปิดซองสอบราคาโปรดติดตามฉบับหน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


สพป.ขก.เขต 3 สั่งสอบวินัย '4 กก.' แล้ว ตั้งหมื่นบ.ชี้เบาะแส'ไอ้โม่ง'สอบแทน ตร.เรียก'ภานุวัฒน์'ให้ปากคำ 20 ก.พ.

          เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ภายหลังปรากฏชื่อนายภานุวัฒน์ ไชยวงค์ พนักงานราชการสังกัด สพป.ชัยภูมิ มีชื่อผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 เขตพื้นที่ฯ ว่า ตนได้เสนอรายชื่อให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจ
          สอบข้อเท็จจริงจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนัก งานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฝ่ายละ 3 คน และผู้แทนในคณะกรรมการ ก.ค.ศ.อีก 1 คน เพื่อลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ จะต้องตรวจสอบให้เร็วที่สุด เพราะต้องนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ครั้งหน้า ซึ่งจะประชุมในเดือนมีนาคมนี้ และหากตรวจสอบพบว่ามีมูลในการทุจริตจริง จะต้องตั้งคณะกรรมการชุดอื่นๆ ลงไปสอบสวนทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง
          นางรัตนากล่าวต่อว่า สำหรับการสอบ คัดเลือกครูผู้ช่วยทั่วไปในปีการศึกษา 2556 ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดกับหน่วยงานที่จะต้องเปิดสอบ เช่น สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่าจะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนอะไรหรือไม่ รวมทั้ง จะต้องหารือปัญหาที่ครูโรงเรียนเอกชนลาออกเพื่อไปสอบครูผู้ช่วย จนกระทบกับโรงเรียนเอกชนด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดปฏิทินการคัดเลือกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์การคัดเลือกนั้น ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะปัญหาของการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติมากกว่า ส่วนข้อสอบนั้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ยังให้ส่วนกลางเป็นผู้ออกข้อสอบเอง ซึ่งถือว่าได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ด้วย และจะต้องนำหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ต่อไป
          ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ถิรทัฬหกุล ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สพป.ขอนแก่น เขต 3 กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า สพป.ขอนแก่น เขต 3 ได้เสนอตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกรรมการคุมสอบ 4 คนแล้ว หลังจากปล่อยให้มีผู้เข้าสอบแทนนายภานุวัฒน์ และรอให้ ผู้อำนวยการ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ลงนาม อนุมติซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.สพป.ขอนแก่น เขต 3 ครั้งที่ผ่านมา และขณะนี้ถือเป็นอำนาจของทางเขตพื้นที่ฯ ที่จะต้องไปดำเนินการต่อ รวมถึงการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
          นายสมพงษ์ โรจน์ภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการ สพป.ขอนแก่น เขต 3 กล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกรรมการคุมสอบ 4 คน ที่คุมสอบครู ผู้ช่วยเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ประมาณ 90 วัน ส่วนความคืบหน้าของคดีที่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้สอบแทนนายภานุวัฒน์ที่ สภ.พล จ.ขอนแก่น นั้น ขณะนี้ ได้ตั้งรางวัลผู้ชี้เบาะแส 1 หมื่นบาทแล้ว และ สภ.พลได้ออกหมายเรียกนายภานุวัฒน์มาให้ปากคำในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าคดีจะมีความคืบหน้ามากขึ้น


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ไม่มีความคิดเห็น: