วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถานี ก.ค.ศ.: โทษของการคัดลอก หรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการ

มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  บัญญัติไว้ว่า "ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียน ผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือจ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะ หรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ร่วมดำเนินการคัดลอก หรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยมิชอบหรือรับจ้างทำผลงานทางวิชาการไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง"
          ในการประชุม ก.ค.ศ. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 1 ราย ที่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 91 ดังกล่าว แล้วมีมติให้ปลดออกจากราชการ ซึ่งในความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกำหนดบทลงโทษไว้ 2 สถานคือ ปลดออก หรือไล่ออก และ ก.ค.ศ. เคยมีมติลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กระทำผิดวินัยในกรณีคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการอยู่เป็นระยะๆ มาแล้ว
          โดยประธาน ก.ค.ศ. ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่า มีความห่วงใยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าการลงโทษดังกล่าวเป็นโทษสถานหนัก และไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการย้ำเตือนมายังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความระมัดระวังในการนำบทความ ข้อคิดเห็นหรือข้อมูลเชิงวิชาการมาอ้างอิงในผลงานทางวิชาการของตนเอง โดยต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะได้ไม่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก
          ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงขอใช้คอลัมน์นี้ย้ำเตือนมายังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านให้ตระหนักถึงโทษของการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการ การจ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะโดยมิชอบ มา ณ โอกาสนี้ เพราะโทษของการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าวจะทำให้ ผู้กระทำผิดถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการทันที แล้วพบกัน ใหม่สัปดาห์หน้า
          
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

การปรับหลักสูตรคือสูตรสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการศึกษา?
          สายพิน แก้วงามประเสริฐ
          กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เสร็จในปี 2556 ทั้งที่หลักสูตร พ.ศ.2551 พึ่งใช้ครบทุกระดับชั้นทั่วประเทศในปีนี้  ถือว่าใช้เพียงไม่กี่ปี  ความจำเป็นที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการคิดที่จะปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เนื่องจากผลการจัดอันดับการศึกษาของไทยที่มีอันดับไม่ดีนัก ทั้งอันดับต่ำกว่าเดิม ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยฟันธงว่าอันดับการศึกษาของไทยตกต่ำ เป็นผลเนื่องมาจากปัจจัย 2 ประการ คือ หลักสูตร  และครู  ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงศึกษาต้องเร่งรัดปรับปรุงปฏิรูป คือ หลักสูตรใหม่และปฏิรูปครู ทำให้เกิดความสงสัยว่า การที่อันดับทางการศึกษาของไทยตกต่ำเป็นลำดับ ไม่ว่าจะถูกจัดโดยหน่วยงานหรือสถาบันใดก็ตามนั้น เป็นเพราะหลักสูตรและคุณภาพของครูแค่นั้นจริง ?
          การที่อันดับทางการศึกษาของไทยต่ำ แสดงว่าคุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำจริงๆ หรือ และหากแก้ไขด้วยการปรับหลักสูตร ปฏิรูปครูแล้ว จะทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยพัฒนาขึ้นจริงหรือไม่ โดยไม่ต้องไปพิจารณาเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน ชี้วัดว่าแต่ละหน่วยงานใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน จัดอันดับการศึกษาของไทยหรืออย่างไร และหากเราไม่สนใจว่าแต่ละหน่วยงานใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวชี้วัด แต่สรุปรวมไปเลยว่าการศึกษาไทยตกต่ำด้วยเหตุปัจจัยสองอย่างคือ หลักสูตรกับครู นอกจากจะไม่เป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติงานจริงแล้ว จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงประเด็นอีกด้วย
          หากพิจารณาการจัดอันดับที่เกี่ยวกับการศึกษาไทย เช่น การจัดอันดับโดย IMD (International Institute for Management Development) อันดับการศึกษาของไทยปี 2553 โดยภาพรวมอยู่ในลำดับที่ 47 จากทั้งหมด 58 ประเทศ ที่เข้ารับการประเมิน ส่วนในด้านคุณภาพการศึกษาพบว่าอัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษาอยู่ในอันดับ 41 คือมีอัตรานักเรียนอยู่ที่ 17.70 คนต่อครู 1 คน อัตรานักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษา อยู่อันดับที่ 53 โดยมีอัตรานักเรียนอยู่ที่ 21  คนต่อครู 1 คน
          การประเมินในด้านโอกาสและความเสมอภาค พิจารณาจากจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาสุทธิที่เรียนเต็มเวลา อยู่ที่ร้อยละ 92 อยู่ในอันดับ 47 อัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ อยู่ในอันดับ 44 ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา โดยพิจารณาจากการจบการศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป อยู่ในอันดับ 45 จำนวนคนใช้อินเตอร์เน็ตต่อประชากร 1,000 คน พบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ต 209 คน อยู่ในอันดับที่ 53
          นอกจากนี้ ในหัวข้อประสิทธิภาพการจัดการศึกษา การบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ไทยอยู่ในอันดับที่ 30
          ส่วนการจัดอันดับการศึกษาในมหาวิทยาลัยของเครือข่ายมหาวิทยาลัยโลก "ยูนิเวอร์ซิตาส 21"  จัดอันดับประเทศที่มีการจัดการคุณภาพการศึกษาขั้น
          สูงได้ดี 48 ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 41 ในบรรดา 48 ประเทศ และลำดับที่ 8 ของอาเซียน ส่วนสิงคโปร์ ได้ลำดับ 1 ของเอเชีย และเป็นลำดับที่ 11 ใน 48 ประเทศ เกณฑ์ที่ใช้ในการวัดคุณภาพการศึกษา ได้แก่ การวิจัย  บรรยากาศในการเรียนการสอน ผลผลิตทางการศึกษา รวมทั้งความแตกต่างด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
          บริษัทเพียร์สัน บริษัทด้านการศึกษาและธุรกิจสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เผยผลการจัดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาทางการศึกษา ซึ่งจัดทำโดยหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (อีไอยู) พบว่าไทยได้อันดับที่ 37 จาก 40 ประเทศ โดยการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ตามหลังฟิลิปปินส์  และกัมพูชา ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในลำดับ 6 ของอาเซียน ตามหลังเวียดนาม
          เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่ ผลการสอบทางวิชาการระดับนานาชาติ อัตราการสำเร็จการศึกษา อัตราการเข้าเรียน อัตราการอ่านออกเขียนได้ในแต่ละประเทศ มาตรฐานด้านการเรียนการสอน คุณภาพของครูผู้สอน โดยเก็บข้อมูลระหว่างปี 2549-2553 พบว่าประเทศที่ติดอันดับที่ดี  ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับครูผู้สอน รวมทั้งมีวัฒนธรรมด้านการศึกษาที่ดี ซึ่งมีประเทศในทวีปเอเชียติด 4 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ตามด้วยฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ตามลำดับ
          ประเทศในเอเชียเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการศึกษามากเป็นพิเศษ รวมทั้งผู้ปกครองทุ่มเทอยากให้ลูกหลานของตนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เพื่อความสำเร็จในชีวิต
          อีกทั้งจากการประเมินผลการศึกษานานาชาติ ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 50 ซึ่งเป็นอันดับที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการยกระดับด้านการผลิตอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เพียงพอ
          การประเมินของ PISA คือการประเมินเด็กที่อยู่ในกลุ่มอายุ 15 ปี โดยไม่เน้นความรู้ที่อยู่ในห้องเรียน แต่ต้องการสำรวจว่าเยาวชนที่อยู่ในวัยจบการศึกษาภาคบังคับ มีศักยภาพที่จะใช้ความรู้และทักษะที่เรียนไป ในชีวิตจริงได้ดีเพียงใดในอนาคต
          PISA จึงไม่ได้ประเมินความรู้ตามหลักสูตร ในโรงเรียน แต่เน้นความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ซึ่งกำหนดว่าความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตมี 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
          ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ PISA ตั้งแต่ปี 2000 ผลการประเมินล่าสุดคือ ปี 2009 มีการสุ่มเด็กที่อยู่ในวัย 15 ปี ทั่วประเทศประมาณ 6,000 คนเศษ พบว่าเด็กไทยมีความสามารถอยู่อันดับที่ 50  จาก 65 ประเทศ แต่การพิจารณาแค่อันดับ แล้วมาสรุปในทันทีว่าคุณภาพการศึกษาไทยต่ำ จนต้องปรับหลักสูตรหรือพัฒนาคุณภาพครูอย่างเดียว คงไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนัก ควรพิจารณา รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพของเด็กในวัยนี้ของ PISA ด้วยว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
          จากรายงานผลการประเมิน PISA ปี 2009 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ให้ความรู้ที่น่าสนใจว่า การประเมินของ PISA เป็นการประเมินทุก 3 ปี โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยระดับที่ 1 (ต่ำสุด) ถึงระดับที่ 6 (สูงสุด) และกำหนดให้ระดับ 2 เป็นระดับพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนรู้และพอจะใช้ประโยชน์จากความรู้ในชีวิตได้
          การประเมินแต่ละครั้งจะให้ความสำคัญกับวิชาต่างๆ แตกต่างกันดังนี้
          ปี 2000 ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นหัวใจหลัก ปี 2003 ให้ความสำคัญกับการประเมินด้านคณิตศาสตร์ ปี 2006 ให้ความสำคัญกับการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ และปี 2009 ให้ความสำคัญกับการอ่าน เพื่อเป็นการประเมินซ้ำรอบที่สอง โดยวิชาที่เป็นหัวใจหลักจะมีน้ำหนัก 60% ของภารกิจการประเมิน วิชารองวิชาละ 20%
          เมื่อพิจารณาการประเมินของ PISA ปี 2009 ด้านการอ่าน พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยนานาชาติเท่ากับ  493 คะแนน นักเรียนที่สามารถนำทักษะการอ่านไปใช้ในชีวิตจริงได้เป็นอันดับหนึ่งคือ นักเรียนในเขตเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ มีคะแนนเฉลี่ย 556 ส่วนเด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ย 421 อยู่ในลำดับประมาณ 47-51 จาก 65 ประเทศ และยังพบอีกว่าเด็กไทยมีความสามารถนำการอ่านไปใช้ในชีวิตจริงได้ไม่ถึงระดับพื้นฐานถึงร้อยละ 43 ส่วนการอ่านของเด็กไทยที่อยู่ในระดับ 5 (สูง) และระดับ 6 (สูงสุด) อยู่ในอันดับที่ 59 ใน 65 ประเทศ
          การอ่านของเด็กไทยปี 2009 ต่ำกว่าปี 2000 ที่เด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่าน 431 โดยเด็กไทยที่มีความสามารถด้านการอ่านไม่ถึงระดับพื้นฐานเพิ่มขึ้น นักเรียนกลุ่มต่ำมีจำนวนสูงขึ้น  แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยกลุ่มต่ำถูกละเลย อาจเป็นผลมาจากการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น โดยเน้นไปที่เด็กกลุ่มเก่งมากกว่า
          ดังนั้น ผลการประเมินปี 2009 ที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องลุกขึ้นมาเสนอแนวคิดที่จะปรับหลักสูตรการศึกษานั้น เป็นการประเมินที่ PISA ให้ความสำคัญกับการอ่าน
          แล้วหลักสูตรที่ปรับปรุงจะให้ความสำคัญกับการอ่านของเด็กอย่างไรหรือ การส่งเสริมการอ่านยังถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่ไหม เพราะอันดับที่ 50 ที่ได้หากพิจารณาจากน้ำหนักการประเมินก็ย่อมต้องเน้นแก้ปัญหาการอ่านเป็นภารกิจที่สำคัญ
          การประเมินของ PISA ปี 2009 ด้านคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยนานาชาติเท่ากับ 496 โดยคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กไทยร้อยละ 52.5 ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน จัดอยู่ในลำดับที่ 50 เมื่อเรียงตามสัดส่วนของนักเรียนที่รู้และสามารถนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ในระดับ 5 และระดับ 6 และ เมื่อประเมินตามกลุ่มโรงเรียนพบว่ามีโรงเรียนสาธิตกลุ่มเดียวที่มีคะแนนทัดเทียมกับนานาชาติ ส่วนกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กเป็น กลุ่มที่อยู่ล่างสุด
          เมื่อเทียบกับคะแนนการประเมินของ PISA ปี 2003 นักเรียนที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ลดลง คือนักเรียนภาคกลาง นักเรียนกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนนักเรียนที่มีคะแนนสูงขึ้นคือ นักเรียนภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตามลำดับ
          การประเมินของ PISA ปี 2009 ด้านวิทยาศาสตร์ พบว่าเด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ โดยอยู่ในลำดับประมาณ 47-49 ในจำนวน 65 ประเทศ นักเรียนไทยร้อยละ 42.8  รู้และนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตจริงต่ำกว่าระดับพื้นฐาน และเมื่อพิจารณาความรู้และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในระดับ 5 และระดับ 6 เด็กไทยอยู่ในลำดับที่ 51 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมิน PISA ปี 2009 สูงกว่า ปี 2006
          เมื่อพิจารณาตามกลุ่มโรงเรียนพบว่า ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมีคะแนนเฉลี่ยทัดเทียมกับคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเป็นนักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สอนเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
          นอกจากนี้ การรายงานสรุปของ สสวท. เกี่ยวกับการประเมินของ PISA ปี 2009 ชี้ให้เห็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อคะแนนเฉลี่ย คือ ครู รองลงมาคือ วัสดุอุปกรณ์การเรียน เช่น หนังสือเรียน คู่มือครู  หนังสืออ่านประกอบ แต่สิ่งที่ไม่ส่งผลต่อคะแนนคือ อุปกรณ์เทคโนโลยี (ICT) และยังพบว่านักเรียนที่ใช้ ICT มาก กลับมีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดทั้งสามวิชา
          จากรายงานยังพบอีกว่า การขาดครูมีผลต่อคะแนน PISA ประเทศไทยเมื่อเทียบระหว่างปี 2006  กับปี 2009 พบแนวโน้มขาดครูเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนคิดเป็นร้อยละ เช่น นักเรียนร้อยละ 40 ขาดครูภาษาไทย นักเรียนร้อยละ 45 ขาดครูวิทยาศาสตร์ นักเรียนร้อยละ 47 ขาดครูคณิตศาสตร์ และนักเรียนร้อยละ 50 ขาดครูวิชาอื่นๆ
          ผลการประเมินโดยรวมของ PISA พบว่ากลุ่มโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน ในด้านผลการเรียนและปัจจัยที่เป็นทรัพยากรการเรียน จะมีผลคะแนนแตกต่างกัน เช่น นักเรียนในกรุงเทพฯ มีคะแนนสูงกว่านักเรียนในชนบท นักเรียนโรงเรียนสาธิตมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ามาก ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดความเท่าเทียมกันทางการศึกษา รวมทั้งไม่ได้สื่อให้เห็นว่ากลุ่มที่อ่อนแอ ได้รับการสนับสนุนปัจจัยทางการศึกษาแตกต่างจากกลุ่มที่เข้มแข็งอยู่แล้ว และข้อมูลไม่ได้ชี้ว่ากลุ่มที่อ่อนแอได้รับการสนับสนุนปัจจัยการเรียนรู้อย่างเพียงพอ
          นอกจากนี้ ในรายงานยังนำเสนอจุดอ่อน ของการศึกษาของไทยคือ การพุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนด้านไอซีที แต่กลับปล่อยให้ขาดแคลนครูจำนวนมาก ทั้งปล่อยให้ครูสาขาที่ขาดแคลนเกษียณอายุก่อนกำหนด และยังเก็บอัตราครูเกษียณ ซึ่ง PISA เห็นว่าการขาดครูตามคุณวุฒิ ส่งผลลบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ
          การกวดวิชานอกโรงเรียนส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการเรียนรู้ และการคิดวิเคราะห์ของเด็ก  รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับนักเรียนและโรงเรียนที่อ่อนด้อยให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเพียงพอ การที่รัฐจัดหาทรัพยากรให้นักเรียนอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ยิ่งจะทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มเด็กเก่งเด็กอ่อนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฐานเดิมของเด็กไม่เท่าเทียมกัน
          การยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ในวิชานั้นๆ ในประเทศสิงคโปร์ จะส่งนักเรียนที่สอบวิชาคณิตศาสตร์ไม่ผ่านไปให้ครูที่ดีที่สุด เพื่อให้เรียนรู้เรื่อง และสอบผ่านได้ ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับบ้านเราที่ครูชอบสอนเด็กที่เก่งๆ ให้เก่ง และเข้าใจว่าเป็นเพราะครูเก่งเด็กถึงเก่ง
          แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครูที่เก่งน่าจะเป็นครูสอนเด็กไม่เก่งให้เก่งได้ หรือพัฒนาขึ้นได้มากกว่า
          ผลการประเมินของ PISA ยังบ่งชี้ว่า ตัวแปรที่จะทำให้เด็กพัฒนาขีดความสามารถได้สูงหรือไม่  ประกอบด้วยจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน เงินเดือนครู ความเป็นอิสระของโรงเรียนในการจัดการทรัพยากร ระบบการบริหารจัดการโรงเรียนที่ดีจะมีผลต่อผลการเรียนของนักเรียน โรงเรียนที่มีคุณภาพจะจัดห้องเรียนขนาดเล็ก และให้เงินเดือนครูสูง ส่วนโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียน จะส่งผลให้นักเรียนรักการอ่าน และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีขึ้น เป็นต้น
          จากอันดับการศึกษาของไทยที่ถูกจัดอันดับ ไม่ว่าจะจัดโดยองค์กรใดก็ตาม พบว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับล้วนประกอบด้วย ผลการสอบทางวิชาการระดับนานาชาติ อัตราการสำเร็จการศึกษา  อัตราการเข้าเรียน อัตราการอ่านออกเขียนได้ โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา อัตราส่วนระหว่างนักเรียนต่อครู จำนวนคนใช้อินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ การเรียนที่จำเป็นต่อวิชานั้นๆ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาการศึกษาอย่างทั่วถึง
          โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนครูเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่น้อย แต่กลับพบข้อมูลว่า ครูที่สอนอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังขาดแคลนอีกจำนวน 58,805 อัตรา  แยกเป็นครูคณิตศาสตร์ 8,255 อัตรา ครูวิทยาศาสตร์ 6,815 อัตรา ครูภาษาอังกฤษ 7,884 อัตรา  ส่วนโรงเรียนในชนบทประมาณ 13,000 โรงเรียน ยังคงขาดครู
          มีประเทศใดในโลกที่ถูกจัดอันดับทางการศึกษาอยู่ในระดับสูงหรือที่พัฒนาแล้ว ขาดแคลนครูทัดเทียมกับประเทศไทยหรือไม่ ในขณะเดียวกันมีครูในประเทศใดที่มีภาระงานวุ่นวายด้วยการทำเอกสารโน่นนี่มากมายเหมือนครูไทยหรือไม่ ทั้งที่เคยมีนโยบายคืนครูให้ห้องเรียน แต่ภาระงานของครูที่นอกเหนือการเรียนการสอน ยังทำให้การเรียนการสอนไม่เต็มศักยภาพหรือไม่
          อีกทั้งระบบการให้ความดีความชอบแก่ครูของโรงเรียนทั่วประเทศมีกี่มากน้อย ที่เน้นการพิจารณาความดีความชอบที่ความตั้งใจเอาใจใส่ในการจัดการเรียนการสอนของครู เท่ากับการทำงานพิเศษ  งานที่ดึงครูหลุดออกไปจากห้องเรียน หรือความสามารถในการใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้บริหารเท่านั้น
          ระบบการให้ความดีความชอบของครู โดยไม่ยึดโยงกับการสอน รวมทั้งการไม่ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ทั้งที่ความสำเร็จในการจัดการศึกษาไม่อาจสำเร็จได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
          ดังนั้น จึงน่าจะยกเลิกการให้ความดีความชอบแบบรายบุคคล เพราะทำให้เกิดการประจบสอพลอบ้าง การเสียขวัญและกำลังใจของคนตั้งใจสอน รวมทั้งการไม่ร่วมกันทำงาน จึงควรประเมินภาพรวมเป็นโรงเรียน ถ้าโรงเรียนไหนทำงานได้ประสบความสำเร็จจัดการเรียนการสอนได้ดี ครูทุกคนควรได้รับผลตอบแทนเท่ากัน เพื่อให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานมากขึ้น และขจัดระบบสอพลอเล่นพรรคเล่นพวก ที่ทำให้ระบบราชการเชื่องช้า ล้าหลัง
          นอกจากนี้ การปฏิรูปครูอาจไม่ใช่การจัดอบรมครูทั้งระบบผ่านระบบอีเทรนนิ่งเท่านั้น ซึ่งอาจได้สถิติตัวเลขว่าครูผ่านการอบรม
          เท่านั้นเท่านี้ แต่คุณภาพมีมากน้อยเพียงใดยังไม่แน่ใจ หรือไม่ใช่การจัดสอบวัดความรู้ด้วยการทำข้อสอบ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ได้อะไรเท่าไร  เพราะครูที่ทำคะแนนได้ดี อาจไม่ใช่ครูที่สอนได้ดีมีความตั้งใจก็เป็นได้
          ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะเปิดโอกาสให้ครูต่างโรงเรียนได้พบปะพูดคุยเสวนาถึงเรื่องการเรียนการสอน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน เป็นแบบอย่างให้นำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้จริง โดยที่ครูเหล่านี้มีความเข้าใจในบริบทของสภาพโรงเรียนที่ไม่แตกต่างกัน ย่อมให้แง่คิดประสบการณ์ที่ดีได้มากกว่า
          ผิดกับประเทศไทยเมื่อจะพัฒนาครูครั้งหนึ่ง ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบ้าง บุคลากรภายนอกที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริบทของโรงเรียน และการศึกษาอย่างที่เป็น จริง ไม่ใช่อย่างที่นั่งคิดกันในห้องแอร์เป็นอย่างไร
          การปรับหลักสูตรการศึกษา อาจไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย แต่อาจต้องคิดให้ชัดเจนว่า เวลาเราตั้งท่าจะพัฒนาคุณภาพการศึกษากันครั้งหนึ่ง มักเฮโลทำพร้อมกันทั้งประเทศ และอยากพลิกแผ่นดินให้เห็นผลกันในเร็ววัน ทั้งที่การศึกษาจะพัฒนาได้นั้นรากฐานจะต้องดี หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาเขาใช้เวลากี่ปี  เขาวางรากฐานกันตั้งแต่ครอบครัว และตั้งแต่เด็กเล็กๆ ให้มีวินัย รักการเรียนรู้ ให้มีเป้าหมายในชีวิต
          แม้จะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เราอาจไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจารึกชื่อว่าเราเป็นผู้ปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จก็ย่อมได้ แต่อาจเป็นแค่คนทำทางส่วนหนึ่งให้คนอื่นเดิน และมีคนมาทำทางต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมายในที่สุดก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรภูมิใจไม่ใช่หรือ
          การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย มิอาจสำเร็จได้ง่าย เพียงเพราะการปรับหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่กลับละเลยที่จะแก้ที่สาเหตุหลายอย่าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง

มติชน ฉบับวันที่ 5 ก.พ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: