วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผลการประชุมก.ค.ศ.ครั้งที่ 6/2556 วันที่ 27 มิ.ย.2556

  • รับทราบรายงานผลการสอบสวนกรณีทุจริตการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
มีประเด็นที่ได้ดำเนินการในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ที่แจ้งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินการกับผู้เข้าสอบจำนวน 344 ราย หากมีการสั่งบรรจุและแต่งตั้งแล้วให้ดำเนินการตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ ถือเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป็นผู้กระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ
ขณะนี้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 42 เขตจากทั้งหมด 119 เขต ได้รายผลมายัง ศธ.ว่า มีผู้ที่เข้าข่ายทุจริตได้รับการบรรจุแต่งตั้งแล้ว จำนวน 107 รายใน 38 เขต ซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้สั่งให้ออกจากราชการแล้ว42 รายใน 22 เขต ส่วนที่ยังไม่มีคำสั่งให้ออกจากราชการมีจำนวน 65 รายใน 19 เขต ซึ่งในวันนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้เร่งรัดให้อีก 77 เขตพื้นที่การศึกษารายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานมายัง ศธ.ด้วย ทั้งนี้มีผู้ที่ขอลาออกจากราชการไปก่อนแล้ว รายใน เขต
สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการบรรจุ ประกอบด้วยครูผู้ช่วย 24 ราย ซึ่งยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง และไม่มีฐานะเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงไม่ได้ใช้กฎหมายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนที่เป็นพนักงานราชการและครูอัตราจ้างไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ จะพิจารณา
นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ยังได้รับคำอุทธรณ์ร้องทุกข์จากผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการ จำนวน 60 ราย ซึ่งจะต้องพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ข้อมูลที่ร้องทุกข์ของผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการว่าร้องทุกข์ในเรื่องอะไรบ้าง ทั้งนี้ ก.ค.ศ.ได้ขอข้อมูล เอกสาร หลักฐานจากเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจึงจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.อุทธรณ์และร้องทุกข์ต่อไป
นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ได้รับคำอุทธรณ์ร้องทุกข์จากผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการจำนวน 60 ราย ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดว่าร้องทุกข์เรื่องใดบ้าง โดย ก.ค.ศ.จะนำข้อมูล เอกสาร หลักฐานจากเขตพื้นที่การศึกษามาประกอบการพิจารณา จากนั้นจึงจะนำเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.อุทธรณ์และร้องทุกข์ต่อไป
  • รับทราบผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้นายชูชาติ ทรัพย์มาก ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ วิเคราะห์ข้อมูลของผู้สอบคัดเลือก พบว่ามีข้อมูลรายวิชาเอกอีกจำนวน 12 รายวิชา ที่มีลักษณะรูปแบบการเลือกคำตอบจากกลุ่มผู้มีคะแนนสูงผิดปกติ มีลักษณะคล้ายกับข้อ 34 วิชาความรอบรู้ (รหัส 101) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีรายวิชาอื่นๆ อีก ที่มีการกระทำที่ส่อไปในทางไม่สุจริต และมีความผิดปกติของคะแนน คือผู้ที่ได้คะแนนเกือบเต็มมีจำนวนมากขึ้นในบางวิชา ซึ่งในจำนวนผู้ที่ได้คะแนนเกือบเต็มทำข้อสอบในบางข้อผิดเหมือนๆ กันด้วย จึงส่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติม
  • อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 3 เขตพื้นที่การศึกษา ดังนี้
1) นายศักดิ์ชัย พรมกระโทก เป็นอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครู ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3
2) นางบุหลัน ทองเปรม เป็นอนุกรรมการผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม
3) นายชวนะ คำกล้า เป็นอนุกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14
  • อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
ที่ประชุมอนุมัติตั้ง นายออน อาจกระโทก กรรมการผู้แทนข้าราชการครู ใน ก.ค.ศ. เป็นอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเฉพาะกิจพิจารณาคัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ ก.ค.ศ. พิจารณาเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
  • พิจารณาถอดถอนอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจาก
    มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ที่ประชุมพิจารณากรณีการถอดถอนอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและเสพ ซึ่งเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา การกำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. อนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2553 ข้อ 5(3) ซึ่งกำหนดให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ การประกอบอาชีพ และไม่เคยกระทำผิดจนได้รับการลงโทษทางวินัยจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ
  • เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.6/ว12 ลงวันที่ 19 เมษายน 2556 ดังนี้
1) ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ตรวจกระดาษคำตอบ และการประมวลผลการสอบ จากเดิมที่กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการ
2) กรณีผู้ดำเนินการคัดเลือก ดำเนินการคัดเลือกพร้อมกัน กำหนดให้ผู้สมัครมีสิทธิ์สมัครสอบคัดเลือกได้เพียงแห่งเดียว หากปรากฏว่าผู้สมัครสอบคัดเลือก สมัครเกินกว่าหนึ่งแห่ง ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกตัดสิทธิ์การสอบคัดเลือกทั้งหมดของผู้สมัครรายนั้น
3) ให้มีการสอบภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพโดยการสัมภาษณ์แทนการสอบความถนัดและเจตคติต่อวิชาชีพครู
4) ปรับคะแนนการสอบแต่ละภาค และคะแนนรวม
5) ปรับเกณฑ์การประกาศผลการคัดเลือก กรณีได้คะแนนรวมเท่ากันและให้ไปปรับเพิ่มเติมให้ สพฐ. กำหนดให้มีการสอบคัดเลือกในวันเดียวกัน
· เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งในส่วนราชการ พ.ศ.2556 ซึ่งมีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ดังนี้
1) กำหนดให้กรณีที่เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งในส่วนราชการไม่ได้
2) คุณสมบัติอื่นของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. อนุกรรมการผู้แทนผู้แทนคุรุสภา และอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ต้องมีอายุไม่ต่ำว่า 35 ปี และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (ตามมติของ ก.ค.ศ. เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 13/2555 วันที่ 25 ธันวาคม 2555)
3) การได้มาของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เหมาะสม จำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ จำนวน 1 คน เสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ.
4) การได้มาของอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เหมาะสม จำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ จำนวน 2 คน เพื่อให้คณะกรรมการคุรุสภาคัดเลือกให้เหลือ 1 คน ส่งให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อนำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา
5) การได้มาของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เหมาะสม จำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ ด้านละสองคน ส่งสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อเสนอ ก.ค.ศ. เลือกให้เหลือด้านละ 1 คน และแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ครูผู้ช่วยคดีเก่า! พบพิรุธใน 5 วิชาเอกคะแนนสูงผิดปกติ 204 ราย
          ก.ค.ศ.เผยสั่งเพิกถอนกลุ่มส่อทุจริตสอบครูผู้ช่วยแล้ว 42 ราย เหลืออีก 65 ราย เร่งเขตพื้นที่ฯ ยังไม่ได้ดำเนินการรายงานผล ขณะที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ.เผยได้รับข้อมูลจาก สพฐ.พบมีผู้ทำคะแนนสูงกว่าปกติใน 5 วิชาเอก อีก 204 ราย ส่งข้อมูลให้ จุฬาฯ วิเคราะห์แล้ว ขณะที่ผู้ถูกเพิกถอน 60 ราย ขอยื่นอุทธรณ์แล้วรอตรวจสอบข้อมูลต่อไป
          วานนี้ (27 มิ.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้หารือเกี่ยวกับกรณีการเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่เข้าข่ายทุจริตจำนวน 344 ราย ใน 119 เขตพื้นที่ฯ ซึ่ง ก.ค.ศ.มีมติให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสั่งเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งดำเนินการเพิกถอนนั้น ซึ่งขณะนี้มีเขตพื้นที่ฯ รายงานว่ามีการดำเนินการเพียง 42 เขตพื้นที่ฯ และใน 42 เขตพื้นที่ฯ นั้นมีผู้เข้าข่ายการทุจริตสอบทั้งหมด 131 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูแล้ว 107 ราย ใน 38 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งทางสถานศึกษาผู้มีอำนาจได้ทำการเพิกถอนแล้ว 42 ราย ใน 22 เขตพื้นที่ ฯ เหลือที่ยังไม่สั่งเพิกถอนอีก 65 รายใน 19 เขตพื้นที่ฯ เพราะฉะนั้น ก.ค.ศ.จึงเร่งรัดให้เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้เพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งรายงานผลการดำเนินการเข้ามา รวมทั้งเร่งรัดให้อีก 77 เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้รายงานผลรีบรายงานเข้ามาด้วย
          นอกจากนี้ มีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนที่ไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งบางส่วนปฏิบัติหน้าที่เป็น ครูผู้ช่วย 24 ราย พนักงานราชการ 5 ราย ครูอัตราจ้าง 7 ราย และไม่สามารถระบุข้อมูลได้ 12 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้ ก.ค.ศ.ไม่สามารถตามไปดำเนินการกับต้นสังกัดได้เนื่องจากคนกลุ่มนี้สถานศึกษาเป็นจัดจ้างเอง จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะฉะนั้นต้องให้สถานศึกษา หรือต้นสังกัดไปพิจารณาเองหากเข้าข่ายการทุจริตสอบนั้น จะทำให้คนกลุ่มนี้ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์หรือระเบียบที่มีอยู่หรือไม่
          ด้าน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งผลการตรวจสอบคะแนนใน 5 วิชาเอกมาเพิ่มเติมพบว่ามีผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย จำนวน 204 ราย ซึ่งพบว่าทำคะแนนได้สูงเกือบเต็มใน 5 วิชาเอกดังกล่าว แต่กลับทำข้อสอบผิดในข้อซ้ำๆ กัน ซึ่งเข้าข่ายว่ามีพิรุธ จึงรายงานให้ ก.ค.ศ.ทราบว่าในเบื้องต้น โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ขอให้ทางจุฬาลงกรณ์วิทยาลัยวิเคราะห์ผลคะแนนดังกล่าว เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ในจำนวน 204 รายนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าซ้ำซ้อนกับรายชื่อใน 344 คนหรือไม่
          นางรัตนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ที่ถูกยกเลิกการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว จำนวน 60 รายในกลุ่ม 344 รายนั้นได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์มา ก.ค.ศ.ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดก่อนว่า ผู้อุทธรณ์ยื่นมาในเรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันจะขอให้เขตพื้นที่การศึกษาฯ ส่งข้อมูลคนเหล่านี้กลับมายังก.ค.ศ.เพื่อประกอบการพิจารณาจากนั้นจะสรุปเรื่อง และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะคณะอนุ ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ต่อไป
 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 

สพฐ.กำชับโรงเรียนเข้มระบบดูแลนักเรียน
          สพฐ.กำชับโรงเรียนเพิ่มความใส่ใจระบบดูแลนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ย้ำถ้าเด็กอยู่ในโรงเรียนต้องอยู่ในสายตาครูทุกอิริยาบถ ชี้สอนเพศศึกษาควรเริ่มตั้งแต่ระดับประถม โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญ หวั่นเป็นดาบสองคมให้ทั้งความรู้และอาจเป็นการชี้แนะให้เด็กอยากลองก็ได้
          วานนี้(27มิ.ย.)ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีครูโรงเรียนนครพนมวิทยาคมเปิดเผยปัญหาสังคมหลังพบเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบตั้งครรภ์และคลอดลูกก่อนวัยอันควรว่า เรื่องนี้จะต้องเน้นระบบการดูแลนักเรียนให้มีความเข้มข้น เพราะจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีนักเรียนผู้ชายเล่นกันจนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายและเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนยังมีช่องว่างเรื่องระบบดูแลนักเรียนอยู่ ซึ่งเด็กระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาหากโรงเรียนปล่อยให้ไปทำกิจกรรมกันเองโดยที่ไม่อยู่ในสายตาของครูก็อาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นแนวปฎิบัติเรื่องระบบการดูแลนักเรียนจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดดชอบของโรงเรียนที่จะดูแลเฝ้าระวังนักเรียนทุกอิริยาบถเมื่อเด็กยังอยู่ในโรงเรียน
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมโครงการ “นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ”ของโรงเรียนนครพนมวิทยาคม จ.นครพนม ได้เปิดเผยปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องการท้องก่อนวัยอันควรนั้น ก็ต้องยอมรับเมื่อทำโครงการลักษณะนี้ขึ้นคงจะปกปิดข้อมูลไม่ได้ เพราะเมื่อพบปัญหาก็จะต้องได้รีบหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง ซึ่งการพยายามแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วแต่วิธีการนำเสนอจะต้องดูว่าอะไรเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวที่โรงเรียนจัดขึ้นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นโครงการที่ดีที่พยาพยามดูแลคุณภาพชีวิต ร่างกาย จิตใจ และความประพฤติของคนในสังคม เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะมิติด้านการศึกษา ดังนั้นโครงการใดก็ตามที่สสส.ดำเนินการ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
          “ครูจะต้องดูแลนักเรียนให้อยู่ในสายตาตลอดเวลาขณะที่ยังอยู่ในโรงเรียน และต้องทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติงานของครูอย่างจริงจังด้วย เพราะในโรงเรียนบางแห่งจะมีมุมอับลับตาคน เมื่อเลิกเรียนแล้วโรงเรียนนจะต้องกำหนดแนวปฎิบัติให้เด็กลงมาอยู่ในพื้นที่ควบคุมดูแลของครูอย่างเคร่งครัด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาตนอยากให้เริ่มการให้ความรู้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่จะต้องอาศัยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเน้นการให้ความรู้ด้านวิชาการ เพราะเรื่องนี้เหมือนดาบสองคมระหว่างการให้ความรู้และการชี้แนะให้เกิดความอยากลองแต่ทั้งนี้ครูแลผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักเรียนด้วย โดยจากนี้ไปจะไม่ใช่ครูเพียงคนเดียวที่เรียนรู้ด้านศีลธรรมแต่เป็นหน้าที่ของครูทุกคน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นครูทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบ" ดร.ชินภัทร กล่าว
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: