วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

องค์กรครูชงปรับโครงสร้างศธ. ยืนยันต้องแยกประถม-มัธยม

 นายธนารัชต์ สมคเณ นายกสมาคมนักพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมฯ จะประชุมหารือร่วมกับผู้นำองค์กรเครือข่ายทั้งสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย สหภาพครูแห่งชาติ ผู้แทนคุรุสภา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ผู้แทน
          องค์กรเครือข่ายครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อยกร่างเสนอแนวทางพัฒนาการศึกษาต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ โดยร่างดังกล่าวจะรวมไปถึงการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้มีการแยกการจัดการศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษาออกจากกันแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และวิชาการ เพราะการบริหารจัดการศึกษาในสองระดับมีความแตกต่างกัน
          "ในการแยกประถมฯ กับมัธยมฯ ออกจากกันนั้น อาจแยกเป็นแท่งของแต่ละระดับหรืออยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่การบริหารจัดการทุกอย่างจะต้องแยกจากกันอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้มัธยมฯ ก็มองว่าตัวเองอยู่แบบขอทาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านายจาตุรนต์เคยพูดว่า ยังไม่คิดถึงเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.แต่ก็เชื่อว่านายจาตุรนต์เป็นคนมีเหตุผล เพราะจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับการเดินทางที่ใกล้ปากเหวเข้าไปทุกที หากเดินต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อชาติอย่างรุนแรงได้ จึงต้องรีบหันหลังกลับมาทบทวนก่อน" นายธนารัชต์ กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

สพฐ.ให้ก.ค.ศ.ชี้ขาดสอบครูอีกรอบหรือไม่

          ศึกษาธิการ * สพฐ.ให้ ก.ค.ศ.ชี้ขาดจัดสอบครูผู้ช่วยใหม่อีกหรือไม่ เพราะมีตำแหน่งว่าง 1,070 อัตรา แต่สอบผ่านถึง 5 พันคน ยอมรับสอบครั้งผ่านๆ มามีคนสอบผ่านระดับหลักหมื่น เพราะ สพฐ.ออกข้อสอบง่าย
          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีผลสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2556 ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา 79 เขตเปิดสอบ มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น 5,074 คน จากผู้มีสิทธิ์สอบ 83,930 คน หรือคิดเป็นผู้สอบผ่านร้อยละ 6.05 ว่า ถึงแม้จะมียอดผู้สอบผ่านต่ำเทียบกับการสอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมา แต่ก็ยังสูงกว่าตำแหน่งเปิดบรรจุและแต่งตั้งที่จำนวน 1,070 อัตรา ทั้งนี้ หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมอบให้เขตพื้นที่ที่จัดสอบไปวิเคราะห์และจำแนกมาว่ามียอดผู้สอบผ่านเพียงพอความต้องการหรือไม่ หากไม่พอให้จำแนกส่วนที่ขาดเป็นรายวิชาเอก รวมถึงวิเคราะห์ความยากง่ายของข้อสอบแล้วส่งกลับมา เพื่อจะได้เก็บเป็นข้อมูลไปกำหนดแนวทางการจัดสอบบรรจุรอบต่อไป
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีผู้สอบบรรจุและแต่งตั้งตามสาขาวิชาเอกไม่เพียงพอ แล้วจะต้องจัดสอบใหม่ หรือใช้วิธีใดนั้น เรื่องนี้คงต้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นผู้พิจารณาชี้ขาด อย่างไรก็ดี การสอบครูผู้ช่วยก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนผู้สอบผ่านจำนวนมากเป็นหลักหมื่นคนนั้น เนื่องจาก สพฐ.เป็นผู้ออกข้อสอบเอง โดยกำหนดค่าความยากง่ายของข้อสอบอยู่ที่ค่อนข้างง่ายและปานกลางที่ 70% และยาก 30% ขณะที่การสอบคราวนี้ยังไม่รู้ เบื้องต้นคงรอผลวิเคราะห์ข้อสอบก่อน.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

สพฐ.ตั้งทีมสางปมโรงเรียนเล็ก

          เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาโดยบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนวิชาชีพ การจัดการศึกษาโดยสถานประกอบการตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษา แห่งชาติ จากนี้การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน จะมีข้อเสนอให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  พิจารณา
          นายชินภัทรกล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ทบทวนการจัดซื้อรถตู้ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดซื้อรถตู้ไม่ใช่วิธีการเดียวในการบริหารจัดการที่ดีที่สุดของทุกพื้นที่ นายจาตุรนต์ได้มอบแนวทางมาแล้วว่า ขอให้ สพฐ.ทบทวนโดยตั้งโจทย์ใหม่ และควรแสวงหาแนวทางว่า จุดมุ่งหมายของการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร วิธีการแก้ปัญหาจะมีแนวทางเลือกอะไรบ้าง และควรจะรับฟังข้อเสนอแนะจากองค์กรเอกชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากพื้นที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

โฮมสคูลแก้ยุบร.ร.เล็ก 2 เดือน เสนอรัฐมนตรี

          โพสต์ทูเดย์ ศธ. ดันการเรียนโฮมสคูลแก้ปัญหายุบโรงเรียน
          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้วิเคราะห์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยบุคคล ครอบครัว หรือการเรียนโฮมสคูลแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหายุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกในวันที่ 16 ก.ค.นี้
          นายชินภัทร กล่าวว่า การจัดซื้อรถตู้เพื่อใช้รับ-ส่งนักเรียนไปเรียนรวมกันก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาแม้ว่า รมว.ศึกษาธิการ จะเสนอให้ไปทบทวนถึงความเหมาะสมอีกครั้งอย่างไรก็ตาม คาดว่าใน 2 เดือน จะสามารถเสนอแนวทางให้ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้
          ด้านผู้ใหญ่บ้านพร้อมผู้ปกครองนักเรียน ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ยื่นหนังสือต่อนายสุพจน์ เจียมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 เรียกร้องให้เปิดโรงเรียนบ้านเขากระโดงภายหลังถูกยุบรวม เนื่องจากโรงเรียนที่ย้ายไปเรียนร่วมกันมีระยะทางไกล แม้จะมีรถรับ-ส่ง แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงอยากให้บุตรหลานมาเรียนที่เดิม
          ทั้งนี้ นายสุพจน์รับปากว่าจะนำเรื่องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่รับปากว่าจะเปิดโรงเรียนเดิมให้เรียนได้หรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น: