วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คอลัมน์ : สถานี ก.ค.ศ. : เกณฑ์เชิงประจักษ์ฉบับใหม่(1)

จรุงรัตน์ เคารพรัตน์
ผอ.ภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 1
          ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เรียกโดยทั่วไปว่า เกณฑ์เชิงประจักษ์ หรือเกณฑ์ ว5/2554 โดยมีการยื่นขอรับการประเมิน และมีคณะกรรมการไปประเมิน ณ สถานที่ปฏิบัติงานมาแล้ว 1 รอบ ซึ่งในการประเมินของคณะกรรมการพบว่าองค์ประกอบของการประเมินบางหัวข้อไม่ชัดเจน หรือไม่สอดคล้องกับบริบทการปฏิบัติงานของผู้ขอรับการประเมิน จึงได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อให้ ก.ค.ศ.พิจารณา ซึ่ง ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามที่คณะกรรมการเสนอแนะ โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดประชุมผู้แทนคณะกรรมการผู้ประเมินเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และได้มีการนำเสนอ ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้มีมติยกเลิกหลักเกณฑ์ ว5/2554 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ทุกตำแหน่ง ฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
          1.ผู้ขอรับการประเมินต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะที่ขอรับการประเมิน ตามมาตรฐานวิทยฐานะ ที่ ก.ค.ศ.กำหนด นับถึงวันที่ยื่นขอรับการประเมิน กรณีผู้ขอรับการประเมินยังไม่ได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ให้ถือว่ามีคุณสมบัติตามข้อนี้
          2.ผู้ขอรับการประเมินต้องมีภาระงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งที่ขอรับการประเมิน โดยสายงานการสอน มีภาระงานสอนตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด สำหรับสายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา ต้องมีภาระงานในหน้าที่และความรับผิดชอบเต็มเวลา
          3.ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งที่ขอรับการประเมินย้อนหลัง 3 ปี ติดต่อกัน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
          4.มีผลงานดีเด่น ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป หรือมีผลงานดีเด่นที่ส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาเห็นว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับผลงานที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป กรณีเสนอขอวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า 2 รางวัล และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 3 รางวัล ภายใน 3 ปี โดยต้องเป็นผลงานดีเด่นที่ตรง หรือสอดคล้องกับสาขา/สาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน หากได้รับรางวัลเกิน 3 ปี ต้องมีหลักฐานแสดงการพัฒนาผลงานและใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
          นอกจากสาระสำคัญ 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น ยังมีสาระสำคัญที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรได้รับความรู้อีกหลายข้อ จะนำเสนอในสัปดาห์ถัดไป
มติชน ฉบับวันที่ 19 ส.ค. 2556

ชูธง ปฏิรูปการศึกษาเพิ่มทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และภาษา
          ประชุมปฏิรูปนัดแรก "จาตุรนต์" ชูธงเพิ่ม 3 ด้านทั้งการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และด้านภาษา ระบุที่ประชุมเห็นพ้องถึงเวลาต้องปรับระบบคัดเด็กเข้าอุดมศึกษา เน้นความเท่าเทียม ลดภาระย้ำหากปรับแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี
          วานนี้ (18 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมสัมมนาการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ : ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและมีผู้บริหาร ศธ. และนักวิชาการด้านการศึกษาเข้าร่วม
          รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้จะต้องตั้งคำถามก่อนว่าต้องการวางตำแหน่งของประเทศไทยไว้ตรงไหนของอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ พัฒนาคนไปไกลถึงไหนแล้วแต่คุณภาพของคนไทยยังอยู่ในระดับคะแนนเฉลี่ยแค่ 30-40 % เพราะฉะนั้น ต้องมาวางตำแหน่งประเทศไทยให้เหมาะสมและสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งประเทศจึงจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ได้ อีกทั้ง การปฏิรูปการเรียนรู้โดยยึดคะแนนพิซ่าเป็นเกณฑ์นั้น จริง ๆ แล้ว ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาอย่างไต้หวัน ฟินแลนด์ หรือฮ่องกง นั้นไม่ได้ยึดผลการประเมินพิซ่าเป็นหลักแต่ใช้วิธีคัดคนที่เก่งที่สุดในประเทศ 12% มาเป็นครู ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงไทยใช้คะแนนพิซ่าเป็นตัวนำในการพัฒนาการจัดการศึกษา เพราะฉะนั้น ประเทศไทยควรจะรวบทั้งสองอย่างมารวมกัน คือ ให้ความสำคัญทั้งการไต่อันดับพิซ่า และการปฏิรูปการเรียนรู้
          "สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรแค่ 12% ที่คิดนอกกรอบเป็นและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อีก 63% คิดเป็นแต่ทำอะไรไม่ได้เป็นผู้ตาม และอีก 25% คิดไม่เป็นทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภาระสำคัญก็คือจะต้องพัฒนาคนใน 2 กลุ่มให้ได้" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการปรับหลักสูตรนั้นถือว่ามาถูกทางแล้วแต่ยังมีประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมของครูและผู้บริหาร เพราะจุดอ่อนที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่ ครู จะต้องมีการเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนวิธีสอนของครูไทยให้ได้ ขณะที่ ต้องยอมรับให้ได้ว่าในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (แอดมิชชัน) หรือโควตา และรับตรง เวลานี้เป็นระบบการแย่งเด็กและดึงเงินในกระเป๋าจากผู้ปกครอง ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยมีอิสระมากทั้งที่ความจริงแล้วควรจะใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะกลไกของงบประมาณมาเป็นเครื่องมือกำกับดูแล
          ด้าน นายประวิต เอราวรรณ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และประธานที่ประชุมคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะศึกษาฯ มมส. ได้ทำการวิจัยมุมมอง ผลกระทบและผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นจากระบบการศึกษาในปัจจุบันให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยสอบถามนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ผู้ปกครอง ครูผู้สอน จำนวน 33,000 คน พบว่า ครูและผู้บริหารมีความพึงพอใจกับระบบการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ในปัจจุบัน ขณะที่นักเรียนและผู้ปกครองยังไม่พอใจ
          ทั้งนี้ ยังศึกษาถึงรากฐานที่สำคัญของปัญหา พบว่า นักเรียนไม่ได้รับการส่งเสริมให้รักการอ่าน พออ่านไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ วิเคราะห์ไม่เป็น ทำให้การเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปมีปัญหา และกลายเป็นทุกข์ของนักเรียน โดยพบว่านักเรียนที่จบระดับประถมศึกษาและเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา มีปัญหาเรื่องการอ่าน 12.6% สังกัดสำนักงานส่งเสริมการสึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรับ (กศน.) มีปัญหาเรื่องการอ่าน 5.37%นอกจากนั้น ยังพบว่าโรงเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมในเรื่องการอ่าน การเขียน การวิเคราะห์ แต่ยังมุ่งในเชิงของการแข่งขันที่พบว่าไม่มีนัยยะสำคัญกับเด็กโดยรวม แต่มีนัยยะสำคัญกับเด็กบางคนเท่านั้น
          "แนวทางแก้ปัญหา ต้องให้ความสำคัญและฝึกเด็กให้รักการอ่าน และไม่ใช่แค่อ่านออกเท่านั้น แต่ต้องอ่านและมีความเข้าใจตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับป.3 รวมถึงจะต้องฝึกให้เขารู้จักตัวเอง พร้อมเรียนรู้เผชิญปัญหา รู้จักค้นหาความรู้ใหม่ ๆ และวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้จากปัญหา" นายประวิต กล่าว
          ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ผลสัมฤทธิ์ในทักษะต่าง ๆ ของนักเรียน ทั้งความสามารถในการคิดคำนวณ คิดวิเคราะห์ และความสามารถในการอ่านทักษะทางภาษา ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงฟันธงได้ว่าเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ คือการเพิ่มความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเพิ่มความสามารถทางภาษา และความสามารถในการคิดคำนวณ ซึ่งทั้ง 3 ทักษะนี้ เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการประเมินพิซ่า เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าต้องการไต่อันดับการประเมินพิซ่า กับเป้าหมายการปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้ง 3 เรื่องจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ เชื่อมโยงสู่การปรับหลักสูตร การทดสอบประเมินผลให้สอดคล้องกันด้วย ส่วนเรื่องการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่ามีความจำเป็นจะต้องปรับ และต้องเป็นระบบที่มีหลักประกันว่า จะสามารถคัดเลือกเด็กที่สามารถเรียนได้จริง ๆ การสอบจะต้องมีความเท่าเทียม และต้องไม่กระทบกับการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม ส่วนข้อเสนอที่ให้นำกลไกของงบประมาณมาใช้กำกับมหาวิทยาลัยถือเป็นแนวทางที่ดี แต่อาจจะไม่ง่ายนัก แต่จะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ฯลฯ จะต้องร่วมกันคิด
          "สุดท้ายระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นระบบเดียวกัน และลดภาระการสอบของนักเรียน และต้องไม่เป็นระบบที่ลดความสนใจในห้องเรียนของเด็ก ผมประกาศมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะต้องปรับ เปลี่ยน และจากการพูดคุยวันนี้ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าไม่เปลี่ยนไม่ได้ ไม่เปลี่ยนจะเกิดความเสียหายเชื่อว่าน่าจะมีการพูดคุยกันและนำมาสู่ข้อสรุป แต่จะต้องแจ้งให้นักเรียนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี"นายจาตุรนต์ กล่าว
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 


ศธ.หากลยุทธ์ดึงเด็กสามัญเรียนอาชีวะ
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงผลงานวิจัยจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกำลังคนสายอาชีพ เช่น เยอรมนี ที่พบว่าการให้นักเรียนสายสามัญเข้าไปเรียนรู้ในสถาบันอาชีวศึกษาเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 2 สัปดาห์ ช่วยให้เด็กเข้าใจการเรียนสายอาชีพและสนใจเลือกเรียน สายอาชีพเพิ่มขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) นำแนวคิดนี้ไปศึกษาความเป็นไปได้ อย่างน้อยถ้าไม่สามารถส่งนักเรียนไปทดลองเรียนได้ ก็อาจทำในลักษณะ จัดโปรแกรมไปทัศนศึกษาดูการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้ ๆ โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ว่า การเรียนสายอาชีพนั้นมีการเรียนอะไรกันบ้าง และได้มีโอกาสรู้ว่าสายอาชีพเมื่อเรียนจบออกมาแล้วมีงานทำซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าจะต้องมีการดำเนินการ หลาย ๆ ด้านไปพร้อมกันเพื่อให้นโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญสุด คือ ต้องเปลี่ยนค่านิยมการเรียนสายอาชีพให้ได้ สื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้าใจว่าผู้ที่เรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง (ปวส.) มีโอกาสทำรายได้สูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี และนอก จากการปรับเปลี่ยนเรื่องค่านิยมแล้วจะต้องปรับเปลี่ยนระบบแนะแนวด้วย ปัจจุบันยังมีปัญหาแย่งเด็กระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ อยู่ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การศึกษาเอกชน (สช.) ไม่ให้แย่งเด็กหรือปิดกั้นเด็กมาเรียนสาย อาชีพ
          "กรรมการบอร์ด กอศ.จากภาคเอกชนที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ข้อมูลว่าเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้นที่เดียวต้อง การแรงงานฝีมือภายใน 5 ปีกว่า 5 แสนคน ขณะที่มีนักเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น แค่ปีละ 9 แสนคน หากครึ่งหนึ่งเลือกเรียนต่อสายอาชีพ เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้นแห่งเดียวก็ต้องการแรงงานปีละกว่า 1 แสนคนแล้ว เพราะฉะนั้นการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพจึงไม่มีปัญหาเรื่องตำแหน่งงานรองรับ" รมว.ศธ. กล่าว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ส.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: