วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชง 'จาตุรนต์' เซ็นเลื่อนเปิดเทอม ร.ร.สพฐ. 10 มิ.ย.

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงระเบียบ ศธ.ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดการศึกษา พ.ศ.2549 เพื่อแก้ไขกำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.จากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 10 มิถุนายน ให้สอดคล้องกับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น สำนักงานปลัด ศธ.ได้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าว และเสนอนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา และลงนามในประกาศแล้ว เมื่อลงนามจะมีผลให้สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ทุกแห่งปรับเลื่อนเวลาเปิดเรียนเป็นวันที่ 10 มิถุนายน เริ่มภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป
          นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.ยังไม่ได้หารือเรื่องนี้ แต่โดยหลักถ้า สพฐ.เลื่อนเวลาเปิดภาคเรียน สอศ.ต้องปรับด้วย เพราะการรับนักศึกษาของ สอศ.ต้องล้อกับการรับนักเรียนของ สพฐ.เพราะต้องรอรับเด็กที่จบชั้น ม.3 เข้าเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ขณะเดียวกันสถาบันการอาชีวศึกษาที่สอนระดับปริญญาตรี อาจต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน โดยน่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป เพราะปีการศึกษา 2557 กำหนดเวลาเปิดภาคเรียนไปแล้ว วันที่ 10 มิถุนายน
          นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ถ้าเป็นนโยบาย ศธ.โรงเรียนต้องปฏิบัติตาม แต่อยากให้เร่งสรุปเรื่องเงื่อนเวลาที่แน่นอนโดยเร็ว เพราะหากเลื่อนเป็นวันที่ 10 มิถุนายน เท่ากับห่างจากเดิมถึง 3 สัปดาห์ โรงเรียนต้องมีเวลาเตรียมตัว ทั้งปรับตารางเรียน และกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน และครู ขณะเดียวกันยังไม่แน่ใจว่า หากเลื่อนเปิดแล้ว จะต้องเลื่อนปีการศึกษาด้วยหรือไม่ เพราะเดิมปีการศึกษาจะเริ่มตั้งวันที่ 15 พฤษภาคม-31 มีนาคม หากโรงเรียนทราบแต่เนิ่นๆ จะได้ปรับกิจกรรมต่างๆ ทัน
มติชน ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2556

โวยรองผอ.อาชีวะถูกรอนสิทธิชิงผอ.
          ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้เปิดสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีบัตรสนเท่ห์ส่งถึงรองผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องในหลายประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิสอบคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด สอศ. เริ่มตั้งแต่การประกาศรับสมัครสอบวันที่ 23 พ.ค. 2556 ลงนามโดย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งตามประกาศได้ระบุถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา กลุ่มทั่วไปที่ต้องดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยข้อ 1 รองผู้อำนวยการสถานศึกษาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่ข้อ 6 คือ ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ  ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรอง ผอ.จึงต้องมีเงื่อนเวลาในการดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่ครูไม่ต้องมีเงื่อนเวลา นอกจากนี้ยังเปิดให้รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกได้ด้วย
          นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวันสอบคัดเลือกรองผอ.และผอ.ว่าทำไมจึงไม่สอบในวันเดียวกัน เพราะครูที่สมัครสอบทั้ง 2 ตำแหน่ง จะมีโอกาสได้เห็นข้อสอบรอง ผอ.ก่อนที่จะได้ทำข้อสอบ ผอ.ในวันถัดมา ถึงแม้จะอ้างว่ากรรมการออกข้อสอบเป็นคนละชุด แต่ก็ออกข้อสอบในสถานที่เดียวกันภายใต้นโยบายเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบและไม่เป็นธรรมกับคนที่สมัครสอบเพียงตำแหน่งเดียว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2556

ดันยืดเกษียณแก้ขาด'ครู'ห่วงเอกชนลาออกสอนรัฐ
          อีก 5 ปีครูแห่เกษียณกว่า 1 แสนคน 'เสริมศักดิ์' เสนอ ก.พ.ขอคืนอัตรา 100% บรรจุใหม่แทนทันที นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ แนะขยายอายุครูเกษียณเป็น 65 ปี
          เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ.จะเกษียณอายุราชการในอีก 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2556-2560 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันจำนวน 104,108 คน แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 99,890 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 3,320 คน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 311 คน สถาบันการพลศึกษา 236 คน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 205 คน สถาบันบัณฑิต พัฒนศิลป์ 129 คน และสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน (วชช.) 17 คน นั้น ศธ.คงต้องเสนอขออัตรากำลังคืน 100% สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) และ สพฐ.ควรต้องหารือกับสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะการทยอยบรรจุอัตราทดแทนทำให้เสียเวลา แต่หากได้อัตราคืนมาทั้งหมด แล้วบรรจุแทนที่เกษียณทั้งหมด จะไม่เสียเวลา จะมีครูมาสอนได้ทัน
          "ส่วนที่จะมีผู้บริหารระดับ (ซี) 11 ของ ศธ.เกษียณ ในเดือนกันยายน 2 คน คือนาง พนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. และนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เรียกหารือ แต่โดยหลักการแล้ว หากจะโยกย้ายผู้บริหารซี 11 ในหน่วยงานที่ผมกำกับดูแล อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) น่าจะต้องหารือกันก่อน ส่วนตัวเห็นว่าช่วงเดือนสิงหาคมนี้ หากจะแต่งตั้งผู้บริหารซี 11 แทนตำแหน่งปลัด ศธ.และเลขาธิการ กพฐ.ก็ทำได้ เพราะเมื่อแต่งตั้งซี 11 แล้ว จะแต่งตั้งซี 10 และ 9 ตามลำดับ" นายเสริมศักดิ์กล่าว
          ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ปัจจุบันครูโรงเรียนเอกชนขาดแคลนอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เชื่อว่าจะขาดแคลนต่อเนื่องไปอีกพอสมควร จากการดูข้อมูลการรับนักศึกษาเข้าเรียนในสาขาครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน น่าจะมีครูที่เพิ่มมากขึ้นช่วง 3-5 ปีจากนี้ แต่การรับนักศึกษาเข้าเรียนในสายดังกล่าว ไม่ใช่สาขาที่ขาดแคลน แต่เป็นสาขาที่มีคนเรียนกันมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่มีข้าราชการครู ของโรงเรียนรัฐเกษียณจำนวนมาก น่าจะมีครูโรงเรียนเอกชนบางส่วน ที่ลาออกเพื่อไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูโรงเรียนรัฐแทน
          นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4 และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน เพราะข้าราชการครูที่เกษียณ มีประสบการณ์และมีความรู้ ต้องใช้เวลานาน ในการสร้างข้าราชการครูมาทดแทน นอกจากนี้ ยังน่าเป็นห่วงในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนที่เกษียณด้วย หากไม่สร้างผู้บริหารโรงเรียนรุ่นใหม่มาทดแทนแล้ว จะมีผลกระทบในการบริหารโรงเรียนแน่นอน เพราะการบริหารโรงเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ และต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมกันมา
          "ผมคิดว่าการแก้ปัญหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณ นอกจากการได้อัตราคืนมาทันทีแล้ว อยากให้ต่ออายุราชการข้าราชการครูออกไปถึง 65 ปี เช่นเดียวกับ อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งระยะแรกอาจจะเน้นเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลนก่อน เพราะสมัยนี้คนอายุ 60 ปียังแข็งแรงมาก อีกทั้งการขออัตราเกษียณคืนจาก ก.พ.นั้น ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ถึงจะได้อัตราคืนมา และเมื่อได้มาก็ต้องเปิดสอบบรรจุอีก ทำให้เกิดปัญหากับโรงเรียนอย่างมาก เพราะไม่มีใครมาสอนนักเรียนในช่วงที่ยังไม่ได้อัตราคืน" นายธวัชชัยกล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนกันยายน 2556 จะมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด ศธ.เกษียณจำนวนมาก โดยมีผู้บริหารซี 11 และซี 10 เกษียณหลายคน ได้แก่ นางพนิตา, นายชินภัทร, นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ กพฐ., นางอรทัย มูลคำ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สพฐ., นายสมบัติ สุวรรณพิทักษณ์ รองปลัด ศธ., นายธวัช ชลารักษ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายเกียรติศักดิ์ เสนไสย ที่ปรึกษาสำนักงานปลัด ศธ., นายสุรพล รัตนชัย ที่ปรึกษาสำนักงานปลัด ศธ. และนางสุนันทา แสงทอง ที่ปรึกษา สกอ. ทั้งนี้ เฉพาะบุคลากรสังกัด สพฐ.เกษียณ มากถึง 10,451 คน สังกัดสถานศึกษา สอศ. 355 คน สังกัด กศน. 53 คน และสังกัดวิทยาลัยชุมชน 2 คน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ ที่เกษียณได้แก่ นายวิศรุต สนธิชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา, นายสำเร็จ แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล, นางจิรา อ่อนไสว ผู้อำนวยการโรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2, นายสนั่น ชนันทวารี ผู้อำนวยการอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, นางอารีย์ ชินสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวัดระฆัง, นายธงชาติ วงษ์วรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง, นางถนอมจิตต์ ขุททะกะพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม, นายจีระศักดิ์ จันทุดม ผู้อำนวยการโรงเรียนราชดำริ, นายเฉลียว พงศาปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตบางเขน, นายนคร เดชพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพลีลา, นายเฉลิมชัย จันทรมิตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย และนายจารึก ศรีเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียน วัดเขมาภิรตาราม เป็นต้น
มติชน ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: