วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เล็งขยายอายุเกษียณราชการ 65 - 70 ปี

 กพ.ผนึกคลังศึกษาแนวทาง หวังอุดปัญหารัฐสร้างคนไม่ทัน -ช่วยประหยัดงบจ่ายบำเหน็จบำนาญ
          กพ.ผนึกคลังศึกษาแนวทางขยายเกษียณอายุราชการเป็น 65-70 ปี ชี้อายุเฉลี่ยคนไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ รัฐหวังอุดปัญหาสร้างคนไม่ทันพร้อมช่วยรัฐประหยัดงบจ่ายบำเหน็จบำนาญ
          นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานกพ.อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องของการขยายการเกษียณอายุราชการ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบัน พบว่า งบกลางที่ใช้จ่ายมากที่สุด คือ งบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการที่เกษียณอายุ
          จากข้อมูลของสำนักงบประมาณพบว่า ปีงบประมาณ 2557 มีวงเงินนำไปใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการ จำนวน 132,277 ล้านบาท จากงบกลางทั้งหมด 345,459 ล้านบาท
          นายนนทิกร กล่าวว่า การขยายการเกษียณอายุราชการ จะต่างจากการต่ออายุราชการ ที่มีอยู่ในระเบียบข้าราชการพลเรือน พศ. 2551 ในมาตรา 108 คือ การต่ออายุราชการจะต่อให้กับข้าราชการในตำแหน่งบางสายงาน หรือให้ข้าราชการบางคนที่ราชการต้องการ ซึ่งในมาตราดังกล่าวมุ่งไปที่เรื่องการขาดแคลนคนที่คุณภาพในบางสายงาน หรือสายงานเหล่านั้นสร้างคนไม่ทัน โดยที่ผ่านมามีการต่ออายุแล้ว เช่น สายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมาย เช่น กฤษฎีกา สายงานด้านศิลปิน เป็นต้น
          สำหรับการขยายการเกษียณอายุราชการ คือ การขยายทั้งระบบ จากเกษียณที่อายุ 60 ปี ก็จะเกษียณที่อายุ 65 หรือ 70 ปี ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเกิดจากปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นกว่าสมัยก่อนที่พบว่า คนมีอายุเฉลี่ยเพียง 52 ปี เท่านั้น แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนเกือบ 80 ปี ขณะที่อายุเกษียณยังอยู่ที่ 60 ปี เหมือนเดิม ซึ่งจากแนวคิดที่ว่า ถ้าคนที่อายุเลย 60 ปี แล้วยังมีกำลังในการทำงาน สร้างผลผลิต แต่ให้หยุดการทำงาน หรือเกษียณอายุราชการไปก็เป็นการสูญเสียทรัพยากร
          ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ให้คนกลุ่มนี้ทำงาน แต่รับเงินบำนาญจากภาครัฐ นั่นเท่ากับว่ารัฐต้องจ่ายเงิน 2 ทาง คือ ต้องจ่ายทั้งบำเหน็จบำนาญ และจ่ายในการจ้างคนใหม่ มาทดแทน แต่ปัญหาที่ตามมา หากนำแนวคิดการขยายการเกษียณอายุราชการมาใช้ คือ จะทำให้ไม่มีตำแหน่งงานว่างให้กับเด็กจบใหม่ ประกอบกับสภาวะการเจริญเติบโตของประชากรของโลกมีอัตราที่ลดลง ในส่วนของประเทศไทยพบว่า มีคนเกิดน้อยลง คนแก่อยู่นานขึ้น และตายช้าลง
          นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลของอัตราพึ่งพาซึ่งในสมัยหนึ่ง เรามีสัดส่วน 4 : 1 คน คือ คนมีงานทำ 4 คน สามารถเลี้ยงคนชรา หรือไม่มีงานทำ 1 คน แต่ต่อไปอนาคตอันใกล้นี้หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า อัตราพึ่งพา จะลดลงเหลือ 2 : 1 คือคนมีงานทำ 2 คน สามารถเลี้ยงคนชรา หรือไม่มีงานทำ 1 คน ดังนั้นถ้าเราไม่วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ดีอาจเกิดปัญหาตามมาได้
          เลขาธิการกพ. ยังกล่าวอีกว่า การที่ประชากรโลกลดลง หมายความว่า บริการของรัฐหลายอย่างที่จะลดภาระลงด้วย แต่ขณะเดียวกันกำลังในแง่ที่เป็นแรงงานในวัยต่างๆ ก็จะขาดตอน โดยเฉพาะในภาครัฐขณะนี้กำลังประสบปัญหาการสร้างคนไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องมีการหาจุดสมดุล เพราะจากตัวสถิติขณะนี้ อัตราการเกิดของคนในฐานะปานกลางขึ้นไปกลับน้อยลดน้อยลง ในขณะที่มีคนที่มีรายได้ต่ำ อยู่ในระดับที่สูงกว่า
          นอกจากนี้ ยังพบว่า ในส่วนของไทย เท่าที่การประเมินทราบว่า สูงสุดจะมีประชากรไม่เกินประมาณ 67 ล้านคนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 62-63 ล้านคน
          "ดังนั้นในแนวคิดดังกล่าว จึงน่าเป็นการใช้คนให้คุ้มประโยชน์กว่าเดิม และน่าจะดูในเรื่องของการประหยัดงบประมาณ เพราะการขยายอายุเกษียณในหลายประเทศ เช่น ประเทศแถบยุโรป ก็มีการขยายอายุเกษียณราชการ เพราะไม่มีเงินในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ในส่วนของไทยเองก็กำลังจะอยู่ในสภาวะดังกล่าว ดังนั้น ทางสำนักงานกพ.จึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้" เลขาธิการกพ.กล่าว
   
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

รมว.ศึกษาฯทำบันทึกข้อตกลงการทำงานครู สพฐ.อ่อนด้อยสมรรถภาพห้ามใหญ่

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ว่า กลไกลหนึ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดกับผู้เรียนประสบผลสำเร็จได้คือสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา ที่จะต้อง มีบทบาทรับผิดชอบ และร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไปสู่ ความสำเร็จ จึงได้ตัดสินใจเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานกับเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งขึ้น เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เขตพื้นที่การศึกษามีบทบาทในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาได้มากที่สุด
          รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า การทำงานของเขตพื้นที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยไม่มีการวัดผลการทำงาน ไม่มีระบบประกันคุณภาพ ปล่อยให้ในบางเขตพื้นที่ การศึกษา มีโรงเรีนที่ถูกทอดทิ้ง มีนักเรียน ที่ผลสัมฤทธิ์ต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะ ฉะนั้น ตนจึงให้ สพฐ.ไปศึกษาวิธีทำข้อตกลง ให้เขตพื้นที่การศึกษารับผิดชอบในผลงาน ของตัวเอง โดยโยงไปกับการพิจารณาความดีความชอบ การแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ต้องเชื่อมโยง กับผลสัมฤทธิ์กับการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ของตัวเองด้วย เช่น ผลการพัฒนาครูในพื้นที่ การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของเด็ก การกระจายคุณภาพการจัด การเรียนการสอนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงแค่ไม่กี่แห่ง ปล่อยให้ โรงเรียนส่วนใหญ่ที่เหลือถูกทอดทิ้งโดย ไม่ดูแลคุณภาพ ทั้งนี้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รายใดจะได้รับการพิจารณาให้โยกย้าย ไปอยู่พื้นที่ใดก็จะให้พิจารณาจากผลงานที่ตนเองทำไว้ ถ้าอยู่แล้วคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่แย่ลง ก็ไม่ควรได้รับโอกาสย้ายไปอยู่จังหวัดใหญ่ขึ้น พร้อมกันนี้ อาจจะต้องนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ด้วย เพราะต้องมีการปรับแก้เกณฑ์พิจารณาความดี ความชอบของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ศธ.รื้อเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน

          ASTVผู้จัดการรายวัน - "จาตุรนต์"สั่ง สกศ.รวมปัญหาอุดหนุนรายหัวทุกสังกัด วางระบบอุดหนุนรายหัวใหม่โยนหินถามทางควรกำหนดเพดานนร.ต่อห้องให้มีผลต่อการจัดสรรเงินด้วยหรือไม่ ชี้รัฐอาจต้องอุดหนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ร.ร.เพิ่มอีกทางหนึ่ง
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ตนได้มอบโจทย์ให้ สกศ.ไปรวบรวมข้อมูลปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด จากที่ตนได้รับฟังปัญหาต่างๆ  ของทุกหน่วยงานพบว่ามีการเสนอขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้สูงขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและมีผลต่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ ตนมองว่านี่เป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้นแต่ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่นการอุดหนุนโดยไม่คำนึงถึงขนาดของสถานศึกษาจนส่งผลต่อคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เช่น ร.ร.ขนาดเล็ก จำนวนเด็ก 50 คนคูณด้วยเงินอุดหนุนพบว่าเงินที่ร.ร.ขนาดเล็กได้ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือทำกิจกรรมใดได้เลย ส่วนอาชีวะพบว่าเงินอุดหนุนรายหัวไม่สอดคล้องกับกรณีผู้เรียนในสาขาช่างบางสาขา ซึ่งต้องมีอุปกรณ์การเรียนเฉพาะและมีราคาสูงเพราะฉะนั้น ต้องมาคิดว่าควรจะมีเงินอุดหนุนต่อโรงเรียนด้วยหรือไม่ แทนที่จะมีเงินอุดหนุนรายหัวเพียงอย่างเดียว
          "อีกปัญหาร.ร.ขนาดใหญ่ดูดเด็กจาก ร.ร.ขนาดเล็กไปจนทำอะไรไม่ได้และกลายเป็นว่า ร.ร.ขนาดใหญ่มีเด็กมากได้เงินรายหัวมาก ถ้าเราต้องการให้ร.ร.ขนาดเล็กยังคงอยู่จะต้องหาวิธีการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้ โดยอาจจะต้องมาดูว่าต่อไปการอุดหนุนรายหัวควรจะต้องกำหนดเพดานจำนวนเด็กต่อห้องหรือไม่ เช่นไม่เกิน 45 คนต่อห้องเพราะไม่เช่นนั้นหากร.ร.ขนาดใหญ่มีเด็ก 60 คนต่อห้องมีเงินอุดหนุนมากแต่กลับกันคุณภาพการศึกษายังต่ำก็จะเกิดปัญหา ตรงนี้ต้องให้นักการศึกษาช่วยวิเคราะห์ว่าจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม ขณะเดียวกัน อาจต้องมาดูเพิ่มเติมว่ารัฐต้องอุดหนุนในกิจกรรมพื้นฐานใดบ้างนอกเหนือจากเงินรายหัวเด็ก" นายจาตุรนต์ กล่าว
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ตนให้ สกศ.รวบรวมปัญหาและวิเคราะห์จัดทำระบบวิธีการ หลักเกณฑ์การอุดหนุนรายหัวที่เหมาะสมกับสถานศึกษาแต่ละประเภทใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเพิ่มหรือไม่เพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัว ซึ่งหากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ2557 แต่หากต้องมีการปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณต้องดูว่าสำนักงบประมาณจะช่วยจัดหางบเพิ่มเติมได้หรือไม่หากไม่ได้คงไม่ทันปีการศึกษา 2557
          ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ ให้โจทย์ สกศ.ไปดูว่านอกเหนือจากการอุดหนุนใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่ากิจกรรม เราจะต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อสนับสนุน ร.ร. บ้างซึ่งจะให้พิจารณาตามขนาดของร.ร.ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่รวมไปถึงระยทางใกล้ หรือไกลด้วยเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะไปคุยทุกสังกัดอย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ความสรุปภายใน 2 สัปดาห์จากนั้นจะรายงานให้รมว.ศธ.รับทราบต่อไ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: