วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มอบนโยบาย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ

โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อน "8 นโยบายการศึกษา : จาตุรนต์ ฉายแสง" ไปสู่การปฏิบัติ ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ โดยมี ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการจัดและส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นองค์กรที่สาธารณชน สื่อมวลชน ตลอดจนผู้ปกครองให้ความสนใจ เนื่องจากนโยบายและการดำเนินงานส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออนาคตของประเทศ จึงได้จัดการประชุมผู้อำนวยการ สพป.และ สพม.ทั่วประเทศขึ้น เพื่อรับทราบนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานของ รมว.ศธ.ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สอดคล้องกับนโยบาย และสามารถนำไปขับเคลื่อนในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้ต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า ผอ.สพป./สพม. ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เมื่อเข้ามารับตำแหน่งได้มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา 8 ข้อ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาและมีความต่อเนื่องกับนโยบายของรัฐมนตรีคนก่อนที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว จากนั้นได้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน และหารือการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ สพฐ.ได้มีการวางแผนซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเร็วๆ นี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโดยเร็ว
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเด็นต่างๆ ดังนี้
● ควรปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และอิงกับตัวชี้วัดกับต่างประเทศ  - เรื่องของการปฏิรูปการศึกษาควรอิงกับตัวชี้วัดและการทดสอบของต่างประเทศและของไทย เพื่อเพิ่มอันดับและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยให้สูงขึ้น ซึ่งได้มอบนโยบายไว้ว่า ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น และได้เสนอให้ช่วยคิดหาแนวทางเพื่อเพิ่มผลการจัดอันดับของPISA ครั้งต่อไปในปี 2558 ให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้นได้อย่างไร ในบางประเทศมีการตั้งองค์กรเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ บางประเทศก็ไม่สนใจแต่อยู่ในอันดับ 1 เช่น ฟินแลนด์ บางประเทศก็สนใจแต่ไม่ประกาศอย่างชัดเจน บางประเทศส่งแข่งเฉพาะเมือง เช่น จีนส่งเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ สำหรับประเทศไทยจะประกาศว่าเราจะไต่อันดับ PISA ให้สูงขึ้น โดยจะส่งเด็กไทยทั้งประเทศแข่งขัน ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องอาศัย ผอ.สพป./สพม. เป็นกำลังสำคัญ รวมทั้งต้องระดมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิด และจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบต่อไป
● พัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน  - ที่สำคัญคือ พัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปัจจุบัน รองรับหลักสูตรใหม่และการเรียนในโลกยุคใหม่ ยุคของเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งพัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะครูให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดูแลระบบสวัสดิการและขวัญกำลังใจ จุดสำคัญคือการเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ในความเป็นจริงการริเริ่มจัดทำการประเมินวิทยฐานะเน้นที่ผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก แต่ต่อมาการเน้นน้ำหนักผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนน้อยลง แต่เน้นการสร้างความมั่นคงของวิชาชีพมากขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและถือเป็นข้อดีที่ทำให้มีคนต้องการมาเป็นครูมากขึ้น เพราะมีความมั่นคง
● เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้  -ควรเน้นเนื้อหาสาระที่จะใช้กับแท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนสำคัญ โดยจะต้องเร่งพัฒนาให้มีจำนวนเนื้อหาที่มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งได้พยายามเน้นความสำคัญของแท็บเล็ตในเรื่องเนื้อหาว่า เนื้อหาที่จะสอนมีอะไร สอดคล้องกับหลักสูตรอย่างไร แบบเรียน แบบฝึกหัด แบบทดสอบที่มีมาตรฐานและความครอบคลุมมีหรือไม่และอยู่ที่ใด ซึ่งมีการดำเนินการจัดทำไปบ้างแล้วในบางชั้นเรียน แต่ก็ยังขาดแคลนจำนวนมาก
● ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานมากกว่าการขยายเชิงปริมาณ  - ศธ.กำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกหรือมีอันดับในการจัดอันดับขององค์กรอื่นที่สูงขึ้น ส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมด้วย
● ส่งเสริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น  - ศธ.เห็นว่าการจัดการศึกษาของภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขอฝากให้ ผอ.สพป./สพม.ช่วยส่งเสริม รวมทั้งผ่อนคลายกฎกติกาที่มีอยู่ ให้เน้นเฉพาะการดูแลคุณภาพ ไม่ควรควบคุม ทั้งนี้เพื่อต้องารส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง
● พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  - โดยสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาและสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย การสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ตนพร้อมทั้ง สช. สพฐ. และ สอศ.จะจัดประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังความต้องการด้านการจัดการศึกษา และการสนับสนุนส่งเสริมความก้าวหน้าทางอาชีพของเด็กและเยาวชนในพื้นที่
● ภาษาไทย  - ขณะนี้มีเสียงสะท้อนของครูเรื่องภาษาไทยว่า เด็กของเราอ่อนภาษาไทยมาก และจากคะแนน NT (National Test) ล่าสุดในวิชาภาษาไทยมีคะแนนเพียงร้อยละ 42.9 และจากการรับฟังความเห็นของผู้จัดการศึกษา ก็จะพบข้อมูลตรงกันว่า เด็กของเราอ่อนภาษาไทยมาก เป็นการสะท้อนปัญหาการจัดการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่หลักสูตรที่ไม่ได้เน้นเรื่องภาษาไทยตั้งแต่เด็ก เพราะมีการสอนถึง 8 กลุ่มสาระ ทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนภาษาไทยต่ำ และการไม่มีการทดสอบวัดผลที่เป็นมาตรฐานในเรื่องความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ซึ่งเด็กชั้นประถมศึกษาจะได้วัดก็ต่อเมื่ออยู่ชั้น ป.3 และจะวัดอีกครั้งตอนเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนบางแห่งที่จัดให้มีการวัดผลเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องว่า เด็กยังรู้ภาษาไทยน้อย การวัดผลและประเมินผลก็จะเป็นปัญหา จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการจะปฏิรูปการศึกษาต้องทำทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ เช่น เด็กไม่รู้ภาษา อ่านไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ การเรียนวิชาต่างๆ ก็จะอ่อนทั้งหมด
 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  - ขณะนี้ ศธ.มีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดูแลเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ซึ่งตนได้ขอให้คณะอนุกรรมการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียนและการจัดการศึกษาอาเซียนมาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะมีการหารือในเร็วๆ นี้ เพราะขณะนี้ทุกกระทรวงก็พูดถึงเรื่องอาเซียน แต่ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทย การพัฒนากำลังคน และการจัดการศึกษา ยังเป็นประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกัน สำหรับ ศธ.หน่วยงานต่างๆ ควรจะจัดการศึกษาเน้นด้านใดอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องรีบหาข้อสรุป รวมทั้งการสอนภาษาอาเซียน ควรสอนเด็กโดยเน้นปริมาณเป็นหลักแสนคน หรือจะเน้นคุณภาพโดยสอนคนจำนวนหนึ่งเพื่อให้แตกฉานในภาษาอาเซียนนั้น และจะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมาเป็นครูหรือไม่ หากเปิดโอกาสจะทำมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งกำหนดยุทธศาสตร์และหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
 การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ ต้องเข้าใจตรงกัน มีความเห็นที่สอดคล้องกัน   - การมอบนโยบายในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ทุกคนเกิดความเข้าใจที่ตรงกันและมีความเห็นสอดคล้องกัน เพื่อนำนโยบายไปผลักดันการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล บางเรื่องอาจจะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของเขตพื้นที่ แต่บางเรื่องที่เขตพื้นที่สามารถดำเนินการได้ก็ขอฝากให้ช่วยคิด เช่น ทำอย่างไรให้ศึกษานิเทศก์ขับเคลื่อนงานมากขึ้น การดูแลโรงเรียนที่ขาดแคลนครูหรือโรงเรียนที่ครูมีภาระนอกเหนือจากการสอนมากเกินไป รวมทั้งการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในเขตพื้นที่ที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ
● ให้ สพฐ.และเขตพื้นที่การศึกษาทำ MOU เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นรูปธรรม  - ให้ สพฐ.และ เขตพื้นที่การศึกษาได้หารือในเรื่องข้อตกลงหรือบันทึกความตกลงหรือเงื่อนไขในการทำงาน เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษามีบทบาทในการผลักดันและมีความรับผิดชอบต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษา ทั้งผลสัมฤทธิ์ของเด็กโดยทั่วไปในเขตพื้นที่การศึกษานั้น และของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมทั้งการปล่อยปละละเลยให้บางโรงเรียนในบางเขตพื้นที่การศึกษาถูกทอดทิ้งหรือมีปัญหามากเกินไป สิ่งเหล่านี้จะนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการวัดผลการทำงานของเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเขตพื้นที่ทราบดีว่าปัจจัยความสำเร็จในเรื่องนี้มีอะไรบ้าง เรื่องนี้ตนไม่ได้พูดในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่มีความเห็นว่า ต้องมีกลไกและวิธีการเพื่อทำให้เขตพื้นที่รับผิดชอบต่อการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของ ศธ.มากขึ้น
สำหรับดัชนีชี้วัดระหว่างโรงเรียนที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพนั้น อาจจะเกิดจากผลการพัฒนาครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนโดยเฉลี่ยและโดยรวมของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น เขตปริมณฑล จะเน้นการจัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์โดยดูจากคะแนน O-Net ของทั้งเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ของการเรียนโดยรวม ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียน การเฉลี่ยความสำเร็จของการจัดการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ เพื่อจะได้ทราบว่า มีการกระจุกตัว กระจายตัว หรือมีความเท่าเทียมกันเพียงใด เช่น บางเขตพื้นที่การศึกษาจะพบว่าบางโรงเรียนจัดการศึกษาได้ดีมากในเขตพื้นที่นั้น แต่อาจจะปล่อยให้อีก 40 โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำมาก มีปัญหาขาดแคลนครู การเรียนของเด็กมีปัญหา นอกจากนี้อาจจะนำผลการทำงานของศึกษานิเทศก์ใช้เป็นเงื่อนไขในการเลื่อนวิทยฐานะของครูด้วยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องหารือร่วมกับ สพฐ.และสำนักงาน ก.ค.ศ.ต่อไป
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: