วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รมว.ศธ.มอบนโยบาย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ภาคกลาง

โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ พร้อมมอบนโยบายเพิ่มบทบาทการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 โดยมีคณะกรรมการใน ก.ค.ศ. อนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ ในภาคกลาง เข้าร่วมกว่า 500 คน
รมว.ศธ.กล่าวถึงบทบาทของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ ที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคล ให้ความเห็นชอบการบรรจุและแต่งตั้ง พิจารณาความดีความชอบ พิจารณาดำเนินการทางวินัย การออกจาราชการ การอุทธรณ์ร้องทุกข์ ปกป้องคุ้มครองระบบคุณธรรม ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา เสริมสร้างขวัญกำลังใจ จัดสวัสดิการและยกย่องเชิดชูเกียรติ ตลอดทั้งกำกับดูแล ติดตาม ประเมินผลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานการศึกษา ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก
ในส่วนของนโยบาย ศธ.ที่ประกาศว่า จะเร่งการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยให้เชื่อมโยงกับทุกส่วน ทั้งการผลิตและพัฒนาครู พัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะครูที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนมากขึ้น ดูแลระบบสวัสดิการครูเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้กับระดับสากล ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดอาชีวศึกษาตลอดกระบวนการ เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและ ศธ.ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ฝากที่ประชุมให้ช่วยคิดและเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ดังนี้
 ● เพิ่มและกระจายบทบาทของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ   ซึ่งจะต้องมีการศึกษาสภาพการทำงาน ปัญหาการทำงาน รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไข เพื่อส่งเสริมให้ อ.ก.ค.ศ.มีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ของระบบติดตาม ตรวจสอบการใช้อำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงาน จัดทำและปรับปรุงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับโครงสร้าง สภาพการปฏิบัติงาน เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบ พัฒนาความพร้อมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้านบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
 ● การพัฒนาความรู้ องค์ความรู้ของ อ.ก.ค.ศ.   จะต้องเป็นการพัฒนาความรู้ องค์ความรู้ เพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีกระบวนการพัฒนาความรู้ การปฏิบัติงาน ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะทำให้การศึกษาของประเทศดีขึ้น โดยจะต้องกำหนดว่าจะวัดจากส่วนใดและวัดอย่างไร

 ● การปฏิรูปการศึกษาจะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับทุกส่วน   จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปการศึกษาเชื่อมโยงกับการพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาครู การทดสอบวัดผลและประเมินผล เพื่อมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น เช่น ยกระดับผลการทดสอบของ PISA การทดสอบ O-Net รวมทั้งการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือการสอบตรง ซึ่งมีการออกข้อสอบนอกหลักสูตร ทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะ ม.5-6 รวมทั้งครูและผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนในระบบ เพราะต้องการเน้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและการเรียนกวดวิชา นอกจากนี้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการจัดสอบปีละหลายครั้ง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกับนักเรียนที่ยากจน และอยู่ห่างไกล
● ต้องเป็นงานบริหารบุคคลที่สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา   ขณะนี้ประเทศกำลังต้องการคนที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ต้องพัฒนาคนเพื่อไปพัฒนาประเทศ และต้องมีวิธีวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยวัดการศึกษาด้วยระบบให้เกรดและไม่มีการวัดผลกลางเป็นเวลากว่า 20 ปี ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นอย่างไร มีเพียงความรู้สึกที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เช่น เหตุใดเด็กอ่านหนังสือไม่ออก แต่ในระยะหลังมีการวัด National Test (NT) ในระดับ ป.3 ป.6 ซึ่งผลล่าสุดพบว่า เด็กไทยก็ยังอ่อนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิชาอื่น แต่การวัดผลที่เป็นมาตรฐานทั้งระบบยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ศธ.ต้องหาวิธีวัดผลสัมฤทธิ์การศึกษาในวิชาที่สำคัญ โดยเฉพาะวิชาที่ขาดแคลนครูจำนวนมาก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
 รวมทั้งควรมีการวิเคราะห์ผลการทดสอบ O-Net ของโรงเรียนต่างๆ เช่น บางเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนประจำจังหวัดมีคะแนน O-Net สูง แต่ปล่อยให้โรงเรียนอีก 40% มีคะแนน O-Net มีผลสัมฤทธิ์ต่ำมาก หรืออ่านหนังสือไม่ออก จึงต้องมาช่วยดูว่าเกิดจากสาเหตุใด เกิดจากการขาดแคลนครูหรือไม่ กติกาการย้ายครูและระบบเงินอุดหนุนรายหัวที่ทำให้ครูถูกดึงจากโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางมาสู่โรงเรียนขนาดใหญ่ เกิดการกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่งผลต่อผลคะแนน O-Net ของโรงเรียนในพื้นที่นั้นหรือไม่ ซึ่งการบริหารงานบุคคลต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มิฉะนั้นการศึกษาของประเทศไทยก็มีแต่ทรงกับทรุด เช่น อ่านหนังสือไม่ออก ก็จะทำให้ฟังไม่ได้ เขียนไม่ได้ หากไม่รู้ภาษาไทยจะเรียนวิชาอื่นได้อย่างไร
 ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ต้องช่วยคิดว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างไร ส่วน อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการก็ต้องคิดเรื่องการอัตรากำลังและการรับครู ซึ่งในส่วนของการรับครู อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาก็ต้องมีบทบาทร่วมด้วย
● เกลี่ยครูเกินไปยังโรงเรียนที่ขาดครู   จะทำอย่างไรให้มีการเกลี่ยครูไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ขาดแคลน ทั้งการเกลี่ยจำนวนครูจากที่มีครูมาก กระจายไปอยู่ในที่ที่มีครูน้อย และการเกลี่ยครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนให้กระจายออกไป นอกจากนี้ยังมีการเกลี่ยครูอีกแบบคือ การย้ายครูกลับภูมิลำเนา เช่น โครงการครูคืนถิ่น แต่ยังมีปัญหาเรื่องกติกาที่บอกว่าโรงเรียนเกินเกณฑ์ที่ทุกตำแหน่งมีคนครองอยู่ สามารถดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสมัครใจย้ายออกไปช่วยราชการในสถานศึกษาอื่นเท่านั้น ซึ่งเป็นกติกานี้ต้องเอื้อให้ครูที่ต้องการย้ายกลับบ้านได้ย้าย ประกอบกับการปรับโครงสร้างให้มีเขตพื้นที่การศึกษามีเจตนาให้คนในพื้นที่ได้สมัครในเขตพื้นที่นั้น เพื่อแก้ปัญหาการย้ายครูกลับภูมิลำเนา เช่น ครูอยู่หาดใหญ่ต้องการย้ายกลับบ้านที่แม่ฮ่องสอน แต่ในระยะหลังการดำเนินงานกลับมาในแนวทางเดิม ทำให้ไม่สามารถย้ายกลับบ้านได้
 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาครูบางวิชาเอกที่ขาดแคลนกระจุกอยู่ในบางโรงเรียน ซึ่งไม่สามารถย้ายได้ เพราะกติกาบอกว่า ครูต้องสมัครใจ ทำให้โรงเรียนที่ไม่มีครูตรงกับสาขาวิชาขาดแคลนต้องลำบากต่อไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น แต่หากระบบยังเป็นเช่นนี้ผลสัมฤทธิ์จะดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ในอนาคต ศธ.ต้องคิดไปถึงการหา สร้าง และกระจายครูที่มีความชำนาญด้าน IT ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก
● การให้ความดีความชอบจากผลการทำงานของครู   ทำอย่างไรให้การบริหารจัดการบุคลากรมีความเชื่อมโยงกับการทำงาน และผลการเรียนการสอนของครู ก็คือผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่า ไม่ว่าครูจะที่ทำงานดีหรือจะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ก็จะต้องได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเหมือนกัน โดยที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและ อ.ค.ค.ศ.ไม่สามารถให้ความดีความชอบตามการทำงานได้ ซึ่งต้องช่วยกันคิดต่อไปว่าควรแก้ไขระบบนี้หรือไม่ หากต้องแก้ไขจะแก้อย่างไร โดยมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
นอกจากนี้ ฝากให้ที่ประชุมช่วยเสนอความเห็นเพื่อปรับบทบาทของ อ.ก.ค.ศ.อย่างเต็มที่ รวมทั้งเสนอแนะปัญหาที่ต้องการให้ ก.ค.ศ.ปรับเปลี่ยนกติกา เพื่อส่งเสริมและกระจายบทบาท อ.ก.ค.ศ.มากขึ้น แต่ต้องกำหนดว่ากระจายไปทำอะไร อะไรที่ต้องทำร่วมกัน เช่น คุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ ความเป็นธรรม การลงโทษเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่มีในรายละเอียดอยู่ในการสร้างสรรค์ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละเขตได้

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: