วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ปี57 เริ่มประเมินวิทยฐานะครูแนวใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมปฏิบัติการการพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ ด้วยการประเมินสมรรถนะ หรือ TPK Model ซึ่งจะประเมินสมรรถนะของผู้เข้ารับการประเมิน ทั้งสมรรถนะทางวิชาการ และสมรรถนะด้านการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน โดยนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ทั้งคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน หรือเอ็นที มาเป็นตัวชี้วัดการสอนของครู อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยว่าหากจัดทำระบบการประเมินไม่ดี อาจส่งผลเสียต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน ให้กลายเป็นการเรียนการสอนเพื่อกวดวิชาโอเน็ตและเอ็นที
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบวิทยฐานะแนวใหม่ เพราะต้องการให้เรื่องการประเมินวิทยฐานะ ไม่ใช่แค่เพื่อความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจของครูแต่จะต้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนโดยรวมด้วย ส่วนข้อห่วงใยเรื่องการกวดวิชาโอเน็ตและเอ็นทีนั้น การสอนของครูต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตร และข้อสอบโอเน็ตและเอ็นทีก็ต้องออกตามหลักสูตร ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการช่วยลดปัญหาที่นักเรียนต้องไปเรียนกวดวิชาไปในตัว และการกวดวิชาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากเป็นการกวดวิชาเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนของนักเรียน แต่การเรียนการสอนของครูในห้องเรียนต้องทำให้ดี เพื่อลดการกวดวิชาลง
          ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้การประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เดิมยังไม่มีการยกเลิก เพียงแต่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ก.ค.ศ.) รับหลักการให้มีการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ ด้วยการประเมินสมรรถนะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งในปีการศึกษา 2557 จะมีการนำร่องการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ในสายการสอน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีความพร้อม ได้แก่ วิทยาศาสาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยจะเริ่มในช่วงชั้นที่มีเครื่องมืออยู่แล้ว คือ ป.3 ป.6 ม.3 และม.6 จากนั้นจะจัดทำเครื่องวัดและประเมินผลให้ครบทุกกลุ่มสาระและระดับชั้น เพื่อให้ใช้การประเมินแนวใหม่ได้ทั้งหมด.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556

คอลัมน์ : สถานีก.ค.ศ.: สรุปผลการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ภาคกลาง
          ประชาสัมพันธ์  สำนักงาน ก.ค.ศ.          ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน ก.ค.ศ. มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.จัดให้มีการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้เคยนำเสนอกำหนดการประชุมสัมมนาฯ ในคอลัมน์นี้ไปแล้วนั้น
          เมื่อวันที่ 20-22 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ภาคกลาง ไปแล้ว ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาฯ พร้อมทั้งมอบนโยบาย 8 ข้อ ให้กับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ในภาคกลาง นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อผู้เรียนโดยเร็ว ซึ่งสรุปการมอบนโยบายในการประชุมสัมมนาโดยสังเขป คือ
          จากอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 จะเห็นได้ว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากประเด็นให้กับที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา นำนโยบาย 8 ข้อ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ในประเด็นดังต่อไปนี้
          1.การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ให้สูงขึ้นได้อย่างไร โดยไม่มีความแตกต่างกันมากระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก
          2.จากความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่าอาจเป็นผลจากการขาดแคลนครูในสาขาวิชาที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำคัญๆ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และการกระจุกตัวของครูในสาขาวิชาเหล่านี้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อการแข่งขันระหว่างโรงเรียนโดยละเลยการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
          3.ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ที่มีฐานะส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในระบบ โดยมุ่งไปที่โรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้สอบแข่งขันเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงให้ได้ ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในถิ่นห่างไกลไม่สามารถที่จะไปเรียนกวดวิชาได้ ต้องมีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้มีคุณภาพให้ได้
          ประการท้าทายเพื่อปรับทิศทางเป้าหมายการบริหารงานบุคคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่า งานด้านการบริหารบุคคล ไม่ใช่เฉพาะการบริหารงานบุคคลเพื่อดูแลบุคคลอย่างเดียวโดยไม่สัมพันธ์กับการจัดการศึกษา ต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระบบ ให้นำไปสู่การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ได้ ผลการประชุมใน ภาคอื่นๆ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556 

รื้อเกณฑ์เฟ้นผอ.เขตพื้นที่ฯ
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.) ใหม่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรณีที่ค้างคามานาน เนื่องจากนายวีระ เกตุแก้ว รอง ผอ.สพป.กับพวกรวม 19 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกเมื่อปี 2553 ขอให้ทุเลาการดำเนินการรับสมัคร ผอ.สพม. 23 ตำแหน่ง และขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพม.เนื่องจากกลุ่มรอง ผอ.สพป.1,941 คน ไม่มีสิทธิสมัคร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1948/2553 ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2553 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ ก.ค.ศ. ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.หารือไปยังศาลปกครองกลาง ในกรณีที่ต้องมีการดำเนินการคัดเลือกระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่า สามารถทำได้หรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของเขตพื้นที่การศึกษาที่ขาด ผอ.มากว่า 3 ปีแล้ว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556

ชงโยกงบฯ57 ทำโมเดลจัดเงินอุดหนุน
          ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.ได้มอบให้ตนสรุปเรื่องการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพทั้งระบบ เพื่อปรับหลักเกณฑ์การให้เงินอุดหนุนใหม่ นั้น ในสัปดาห์นี้ตนจะเรียกข้อมูลเรื่องดังกล่าวทั้งจากในส่วนที่ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำลังดำเนินการอยู่ และผลงานวิจัยที่มีมาดูประกอบ ขณะเดียวกันจะทำบันทึกไปถึงผู้บริหารองค์กรหลัก ที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดทั้งหมดว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวฯ พร้อมทั้งให้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม ทั้งนี้ รมว.ศธ.จะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าว โดยมีตนเป็นประธาน และจะเชิญตัวแทนจากสำนักงบประมาณเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละองค์กรหลัก เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นในส่วนของตนเอง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะต้องส่งความคิดเห็นมาภายในเดือนกันยายนนี้
          ดร.กิตติ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นในเดือนตุลาคมนี้ หรือต้นปีงบประมาณ 2557 ตนจะเสนอให้ รมว.ศธ. พิจารณาออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรายหัวภายในวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อเป็นการทดลองรูปแบบ หรือโมเดลการบริหารงบฯ เพราะขณะนี้ ทุกองค์กรหลักต่างก็บอกว่างบฯค่าใช้จ่ายรายหัวที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการบริหารงาน ขณะที่เงินงบฯแผ่นดินก็มีอยู่จำนวนจำกัด ดังนั้นหากให้แต่ละองค์กรหลักไปบริหารเงินโดยโยกงบฯภายในวงเงินที่ตนเองมีไปเพิ่มในบางส่วน และลดในบางส่วน และติดตามประเมินผล ถ้าเรื่องใดดีก็ควรจัดสรรงบฯเพิ่มให้ แต่ถ้าให้งบไปแล้วไม่ดีขึ้นก็ไม่ควรให้อีก จากนั้นจะนำผลสรุปของการบริหารงบฯผ่านโมเดลนี้ไปพิจารณาตั้งงบฯปี 2558 ต่อไป ว่าต้องการใช้เงินอุดหนุนฯต่อหัวเด็กเท่าไหร่ หรือต้องการรับการจัดสรรเงินเพิ่มในส่วนใดบ้าง ดร.กิตติ กล่าว.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: