วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ศธ.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนเรียนต่อสายอาชีพ

ศธ.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนเรียนต่อสายอาชีพ
          ศธ.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนเรียนต่อสายอาชีพลดสายสามัญ ตั้งเป้าดูดเด็กที่เคยคิดต่อม.ปลายสายสามัญให้สมัครใจย้ายมาเรียนสายอาชีพ “จาตรุนต์“ เตรียมคุมเข้มจำนวนนักเรียนต่อห้องของโรงเรียนมัธยม
          วานนี้(9 ก.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เชิญนักวิชาการ นักการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษามาประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพเป็น 51 % ลดสัดส่วนผู้เรียนต่อสายสามัญให้เหลือ 49 % ภายในปี 2558 ขึ้นมาหารือเพราะปัจจุบันนักเรียนที่จบ ม.3 ปีละประมาณ 9 แสนคนจะเลือกเรียนต่อสายสามัญในสัดส่วนกว่า 60 % ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานฝีมือในสาขาต่างๆ จำนวนมาก แต่กลับไม่มีกำลังคนป้อนเข้าไปได้อย่างเพียงพอ เพราะเด็กส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่าหากจะขับเคลื่อนการปรับสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพและสายสามัญให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกฝ่ายเห็นว่าจะต้องเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สนใจแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพให้เด็ก เพราะต้องการดึงเด็กให้เรียนต่อม.ปลาย ดังนั้น ศธ.จึงต้องการให้ สอศ.และ สพฐ.มาทำงานร่วมกัน โดยจะให้สพฐ.เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นหลักพร้อมสั่งการให้โรงเรียนแต่ละแห่งต้องกระตือรือร้นที่จะจัดการแนะแนวเรียนต่อสายอาชีพให้แก่นักเรียนของตัวเองอย่างจริงจังด้วย
          นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักเรียนจบม.3 ปีละ 9 แสนคน เลือกเรียนต่อสายสามัญประมาณ 5 แสนคน สายอาชีพอาชีพ 3 แสนคน และเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่ได้เรียนต่อ 1 แสนคน ซึ่งหากจะปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้เป็น 51% เท่ากับว่าจะต้องมีผู้เลือกเรียนสายอาชีพประมาณ 4.6 แสนคน เพราะฉะนั้นจะต้องหาผู้เรียนมาเพิ่มอีกประมาณ 1.5 แสนคน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะดึงดูดมาได้มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เด็กที่ไม่เรียนต่อปีละ 1 แสนคนให้เปลี่ยนใจเรียนต่อสายอาชีพจำนวน 5 หมื่นคน อีกกลุ่ม คือ เด็กที่จะเลือกเรียนต่อสายสามัญให้หันมาเรียนสาอาชีพอีกประมาณ 1.2 แสนคน อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวจะไม่ใช้วิธีการบังคับ แต่จะให้เป็นไปตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง โดยพยายามพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีพพร้อมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะการรณรงค์จุดแข็งว่า เรียนอาชีวะแล้วมีงานทำ มีรายได้สูง
          “นอกจากหาทางเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพแล้ว ยังต้องรักษาคุณภาพของการเรียนสายอาชีพด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนรายละเอียดนโยบายเรียนจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ของกศน. เนื่องจากปัจจุบัน มีนักเรียน ปวช.ที่เรียนไม่ไหวหรือไม่อยากเรียนได้หนีมาเรียนโครงการนี้ของ กศน.แทน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการศึกษาอาชีวะอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น กศน.จะต้องไปทบทวนรายละเอียดของโครงการนี้ใหม่ไม่ว่าจะเป็น หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าโครงการต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคนมีประสบการณ์ มีสมรรถนะทางอาชีพมาแล้วมาเรียนต่อ ไม่ใช่จบม.3 แล้งก็ดิ่งมาเรียนสั้นๆ กับ กศน.” นายจาตุรนต์ กล่าว
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

อันดับการศึกษาต่ำ เงินเดือนครูไทยอย่าต่ำ รมช.ศธ. ย้ำเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ครูทำงาน
          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ World  Economic Forum (WEF) จัดอันดับให้การศึกษาไทย ตกลงไปอยู่ในระดับที่ 8 แพ้ ประเทศกัมพูชา และ เวียดนาม ว่า ตนขอรับข้อวิจารณ์ และเสนอข้อเสนอแนะของทุกเสียงเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้การศึกษาของเด็กไทยมีการพัฒนา และเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด สำหรับกรณีที่ว่าให้เงินเดือนครูสูง แต่ครูไม่สามารถทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้นนั้น ตนคิดว่าการเพิ่มเงินเดือนให้ครู ยังเป็นความสำคัญ เนื่องจากเป็นการให้ขวัญกำลังใจของครู เราต้องทำให้ครูมีขวัญกำลังใจที่สุด เพราะหากครูมีขวัญกำลังใจที่ดีก็จะอุทิศเวลา อุทิศตนให้กับการเรียนการสอน หากจะมองถึงปัญหาที่การศึกษาไทยต้องตกต่ำเช่นนี้ น่าจะอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย อาทิ หลักสูตร เครื่องมืออุปกรณ์ในการเรียนการสอน ความพร้อมของเด็ก สถานที่เรียน สภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งก็คือความพร้อมของครู ซึ่งครูเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ
          รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐมนตรีทุกคนที่มาบริหารด้านการศึกษา ย่อมมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะหัวใจของการศึกษา อยู่ที่คุณภาพหรือมาตรฐานการศึกษา และที่มุ่งพัฒนาแก้ไขอยู่ คือการให้โอกาสทางการศึกษา และการบริหาร จัดการที่เป็นธรรมาภิบาล ซึ่ง 3 เรื่องนี้คือ หัวใจสำคัญที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป
          ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)กล่าวว่า โดยส่วนตัว เข้าใจว่ารายงานผลการจัดอันดับของ WEF จะประเมินโดยวิเคราะห์ระบบ การศึกษา ในฐานะของการผลิตกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า โดยมองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น จึงมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนและ ผลที่ได้รับกลับมา ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ที่สูงแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ จึงทำให้อันดับของไทยอยู่ต่ำกว่าประเทศที่ลงทุนต่อจีดีพีต่ำกว่า แต่ได้คุณภาพที่สูง
          นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เข้าใจว่าWEF จะมอง 3 ส่วนหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ประเด็นแรกคือมองที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จคือคุณภาพและสมรรถนะของครู ในส่วนของประเทศไทยมีการลงทุนเกี่ยวกับบุคลากรที่สูงโดยเฉพาะเงินเดือนครู แต่ไม่สัมพันธ์กับคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับกลับคืน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญ จึงมี นโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพและสมรรถนะของครู รวมทั้งปรับการประเมินครูให้เป็นการประเมินที่สัมพันธ์กับคุณภาพของ ผู้เรียนของเด็ก โดยประเมินจากผลการสอนจริง ส่วนที่ 2 น่าจะดูจากทักษะของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย 3 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะทางด้านการคิด สมรรถนะทางด้านภาษา และสมรรถนะทางด้านไอซีที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สพฐ. พยายามที่จะเติมคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ให้กับ นักเรียนอยู่ ส่วนที่ 3 การประเมินของ WEF น่าจะประเมินจากอัตรากำลังคนทางด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้เรียนสายอาชีวะของไทย ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และคุณลักษณะ ของผู้เรียนสายอาชีพก็ยังไม่ถึงระดับอินเตอร์เนชั่นแนล
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ขตดึงครูร.ร.อื่นคุมสอบ 'อ่านเขียน' กันตุกติก-สพฐ.ถกสพท. 13 - 14 ก.ย.

          เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามประกาศ ศธ. เรื่องมาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและการสื่อสาร เพื่อทำให้สถานศึกษาปลอดการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยจะเริ่มคัดกรองนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ให้แล้วเสร็จในวันที่ 20 กันยายนนี้ ว่า สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา อาจจะต้องประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อกำชับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ระหว่าง 13-14 กันยายนนี้ อาจจะกำชับเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ภายในวันที่ 20 กันยายนนี้ แต่ละโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศต้องทดสอบนักเรียนให้แล้วเสร็จ และหลังจากนั้นเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องทยอยส่งผลการประมวลมาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
          นายสมยศ ศิริบรรณ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ในโรงเรียนสังกัด สพป.กรุงเทพฯ ว่ามีกี่คน เนื่องจากมีนักเรียนย้ายเข้าย้ายออก โดยในวันที่ 16-17 กันยายน จะทดสอบเพื่อคัดกรองเด็กในเรื่องการอ่าน จากการดูเครื่องมือของ สพฐ.จะมีการอ่านแบบจับเวลาด้วย เช่น มีเนื้อหาให้นักเรียนอ่าน 5 บท ในเวลาไม่เกิน 5 นาที เป็นต้น
          "การทดสอบในวันที่ 16-17 กันยายนจะสลับให้ครูต่างโรงเรียนมาทดสอบนักเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเมื่อมีครูโรงเรียนอื่นมาทดสอบ จะทำให้นักเรียนประหม่า จนอาจอ่านไม่คล่องบ้าง ทั้งนี้นอกจากนักเรียนปกติแล้ว ยังมีนักเรียนที่เรียนช้าอยู่บางส่วน" ผอ.สพป.กทม.กล่าว และว่า ส่วนเรื่องการซ่อมเสริมนั้น ปกติทำกันอยู่แล้ว เช่น การให้ครูติวนักเรียนกลุ่มอ่อน แต่จะต้องดูว่าเมื่อผลการทดสอบออกมาแล้ว จะมีนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการอ่านแตกต่างกันหรือไม่ เช่น มีปัญหาสะกดคำ การอ่านคำควบกล้ำ  เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัญหาอาจจะต้องใช้วิธีการแก้ไขที่ต่างกัน
          นายประภัสร สุภาสอน ผอ.สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 กล่าวว่า ในวันที่ 9 กันยายน ได้มีการประชุมเตรียมพร้อมในเรื่องการทดสอบ ซึ่งใน สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 มีนักเรียนชั้น ป.3 จำนวน 3,285 คน ชั้น ป.6 จำนวน 3,333 คน จาก 214 โรงเรียน โดยกำหนดทดสอบวันที่ 13 กันยายนนี้ ใน 25 สนามสอบ มีกรรมการสอบจากโรงเรียนอื่นมาทดสอบแต่ละสนามสอบ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: