วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

คุรุสภากับสถาบันผลิตครู

เรืองชัย  ทรัพย์นิรันดร์
          แนวทางการพัฒนาคุรุสภาและครูของประธานกรรมการคุรุสภา 2 ประการคือคุรุสภาต้องเป็นสถาบันที่เป็นเลิศ และสถาบันผลิตครูต้องเป็นเลิศ
          ทั้งสองประการต้องมีความสอดคล้องกัน จะให้เพียงสถาบันใดสถาบันหนึ่งเดินไปข้างหน้าเพื่อความเป็นเลิศฝ่ายเดียวไม่ได้
          ในส่วนของสถาบันผลิตครูที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งของรัฐและของเอกชน ไม่ว่า
          จะเป็นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา มีหน้าที่ผลิตครูโดยตรง โดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง
          ทุกคนทราบดีแล้วว่า รากฐานของ "ราชภัฏ"คือโรงเรียนฝึกหัดครูที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นวิทยาลัยครู เป็นสถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในที่สุด
          โรงเรียนฝึกหัดครู หรือวิทยาลัยครู แต่เดิมเปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะครุศาสตร์
          บางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ถ้าจำไม่ผิด) ยังคงชื่อวิทยาลัยครูไว้เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
          อันที่จริง หากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งจะปรับเปลี่ยนให้คณะครุศาสตร์กลับไปเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู" หรือ "วิทยาลัยครู" ซึ่งมีสถานภาพเทียบเท่าคณะ ก็น่าจะทำให้ความเป็นสถาบันผลิตครูชัดเจนขึ้น และตรงที่สุด
          กระนั้น หากทั้งสองประการที่ศาสตรา จารย์กิตติคุณดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภาตั้งความหวังไว้ที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างคุรุสภากับสถาบันผลิตครูเพื่อให้การผลิตครูมีจำนวนที่เหมาะสม เน้นคุณภาพ โดยให้มีปริมาณครูสอดคล้องกับความต้องการใช้ครู คุรุสภาควรเป็นผู้กำหนด
          ด้วยการนำเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทราบความต้องการกำลังครูในแต่ละปี และในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนผู้เกษียณ ผู้ที่ต้องการออกก่อนกำหนด รวมไปถึงครูโรงเรียนเอกชน และครูวิชาพิเศษเท่าใด
          เช่นเดียวกับในขณะนี้ ตัวเลขครูจะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้ามีจำนวนนับแสนคน สถาบันผลิตทุกแห่งทั่วประเทศต้องมีการวางแผนรับสมัครผู้ที่จะเข้าเรียนวิชาครูปีละเท่าไหร่
          ทั้งการรับสมัครผู้ที่จะเข้าเรียนครูต้องมีหลักการและวิธีการที่เหมาะสม เช่นการวัดหรือทดสอบแววครู มีการรับสมัครล่วงหน้า มีการให้ทุนการศึกษาจากหน่วยงานอื่นที่ต้องการครู รวมไปถึงความต้องการรับสมัครครูในส่วนใดบ้าง เช่นปฐมวัยศึกษา ประถมศึกษา มัธยม ครูในแต่ละสาขาย่อมมีไม่เท่ากัน รวมถึงความชำนาญในการผลิตครูในสาขาวิชานั้นๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งในอนาคตไม่ปีนี้ก็ปีหน้าจะเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตั้งเป้าหมายหลักในการผลิตครูอนุบาล และวิชาอื่นอีกสามสาขาวิชาชัดเจน
          มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาน่าจะเป็นสถาบันผลิตครูดนตรีไทย ครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีโอกาสผลิตครูนาฏศิลป์ ครูดนตรี ครูพยาบาล ครูคณิตศาสตร์ หรือครูวิทยาศาสตร์ในบางสาขาได้
          การที่คุรุสภาและสถาบันผลิตครูจะไปสู่ความเป็นเลิศได้ ทั้งสองหน่วยงานต้องสร้างความเข้าใจต่อกันให้ถ่องแท้ เช่น เมื่อสำเร็จวิชาครูไปแล้ว การจะได้รับใบอนุญาตเป็นครู รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องไปเป็นครูในถิ่นทุรกันดารจะมีอย่างไร จะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูอย่างไร
          ในวันหนึ่งข้างหน้า ผู้ที่มีวิชาชีพครูอาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฐานะของตนไปเป็นผู้บริหารก็ได้
          แต่ต้องมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูไปกระทั่งเกษียณ เป็นครูระดับ 9 ระดับ 10 จึงจะถูกต้อง
    

สอนภาษาไทยแบบ 5ส - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
          แม้ไม่ใช่ภาษาสากลที่ผู้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกใช้สื่อสารกัน แต่ ครูปราณี สาระคง หรือ ครูปาน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ประจำชั้น ป.6/9 รร.เมืองนครราชสีมา ก็ภาคภูมิใจในภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ภาษาหนึ่งเดียวในโลก และก็อยากให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้ภาษาของชาติตัวเองได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
          ครูปราณี ปัจจุบันอายุ 57 ปี รับราชการมาตั้งแต่พ.ศ. 2518 เป็นแม่พิมพ์ของชาติที่มีใจรักและศรัทธาในศาสตร์วิชาภาษาไทยอย่างถ่องแท้ และเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง กระทั่งเกิดผลงานเด่นทำให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้ 100% เป็นที่น่าชื่นชมยกย่อง
          ครูปราณี เล่าว่า ครูมีหลักคิดที่ว่าเราต้องจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน เพลิด เพลิน ไม่น่าเบื่อ โดยจะมีกระบวนการคัดกรองเด็กเป็นรายบุคคลก่อนการสอน แล้วใช้หลักการพัฒนาเด็กนักเรียนแบบ 5ส คือ 1. สำรวจ เพื่อหาว่าเด็กแต่ละคนมีข้อบกพร่องทางภาษาขนาดไหน คัดกรองตั้งแต่พยัญชนะ ก-ฮ สระ ไล่มาถึงการประสมคำ อ่านเป็นคำ แล้วจะได้เด็กกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของภาษาไทย 2. สื่อ โดยวางแผนว่าจะใช้สื่อการสอนแบบไหนที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะผลิตสื่อที่หลากหลายให้เด็กได้สัมผัสจับต้อง ได้อ่าน-เขียน 3. สอน ใช้วิธีการสอนที่ไม่น่าเบื่อ เช่น มีเพลง เกมเข้าไปช่วย การตั้งคำถาม-ตอบคำถาม 4. สอบ เป็นการตรวจสอบวัดผล และ 5. เสริม มีการซ่อมเสริม เด็กคนไหนยังบกพร่องก็ต้องซ่อมเสริม ส่วนเด็กที่เก่งก็ส่งเสริม เช่น หารางวัลให้ หรือพาไปแข่งขันในเวทีต่าง ๆ
          สำหรับปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยของเด็กยุคใหม่ ครูปราณี ยอมรับว่าเด็กจะให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย อาจจะมองว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ ครูจึงต้องพยายามสอดแทรกความรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ค่ายรักการอ่าน มีฐานความรู้ต่าง ๆ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กเข้าห้องสมุด ให้คะแนนในผลงานการเข้าห้องสมุด การให้รางวัลยอดนักอ่าน เป็นต้น
          ครูปราณี ยังบอกอีกว่า เด็กสมัยนี้มักใช้ภาษาไทยแบบผิดเพี้ยน มีศัพท์แปลกใหม่ที่ใช้เฉพาะกลุ่มของเขาที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แต่ครูก็พยายามดึงให้นักเรียนเข้าสู่กรอบการเรียนภาษาไทยแบบดั้งเดิม อนุรักษ์ภาษา ให้เด็กได้ฝึกใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เช่น ประกวดเล่านิทาน พร้อมย้ำกับเด็ก ๆ อยู่เสมอว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเด็ก ๆ แต่เราก็อย่าหลงลืมภาษาไทย เพราะถือเป็นหัวใจและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเราเอง
          “ในฐานะที่เป็นครูภาษาไทย เราภาคภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดภาษาให้เด็กนักเรียน ทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ยิ่งเวลาที่ส่งเด็กเข้าประกวดเรื่องภาษาไทย พอได้รางวัลมาก็ดีใจมาก อะไรไม่สำคัญเท่าเด็ก เมื่อเด็กประสบความสำเร็จ เด็กมีความก้าวหน้า เราก็ภาคภูมิใจที่สุด ส่วนรางวัลครูภาษาไทยดีเด่นจากคุรุสภาที่ได้รับมาถือเป็นสิ่งตอบแทนจากความเพียรพยายาม เราทำงานหนักมาโดยตลอด ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในชีวิตที่ครั้งหนึ่งเกิดเป็นครู ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้อุทิศตนทำงานตลอดช่วงอายุราชการที่เหลืออย่างเต็มที่เพื่ออนาคตที่ดีของเด็กนักเรียนต่อไป” ครูปราณี กล่าว.
          มนัส กบขุนทด
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


จี้ก.ค.ศ.ให้สิทธิอ.ก.ค.ศ.ตัดโอน'อัตราเงินเดือน'

          เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 5 เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติกำหนดกรอบอัตรากำลัง ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38ค (2) ใน สพป. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีการปรับอัตราใหม่ โดยยึดปัจจัยจำนวนสถานศึกษา ข้าราชการครูและนักเรียน และปัจจัยเพิ่มพิเศษ เช่น สภาพพื้นที่ลักษณะพิเศษในเรื่องของเขตพื้นที่ฯ ที่เป็นเขต 1 หรือเขตจังหวัดเดียวสำหรับ สพป.และเขตรับผิดชอบ 2 จังหวัดขึ้นไปสำหรับ สพม.ว่า นอกจากเรื่องกำหนดกรอบอัตรากำลังแล้ว อยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งมอบอำนาจให้กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา สามารถตัดโอนอัตราเงินเดือนจากตำแหน่งว่างของสถานศึกษาที่มีครูเกินเกณฑ์มาใช้กับตำแหน่งว่างที่กำหนดไว้ตามกรอบแต่ ไม่มีเงินเดือนให้ จึงไม่สามารถบรรจุได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ฯเคยเสนอและเรียกร้อง ก.ค.ศ.แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้น หากไม่มีการแก้ปัญหา แม้ ก.ค.ศ.จะกำหนดกรอบอัตรากำลังใหม่ โดยกำหนดแค่กรอบอัตรา แต่ไม่มีอัตราเงินเดือนมาให้ ก็เป็นปัญหาเหมือนเดิม อย่าง สพป.ขอนแก่น เขต 5 เดิมกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 4 อัตรา แต่มีอัตราเงินเดือนเพียง 1 อัตรา ส่วนอัตราที่เหลือก็ว่าง ไม่สามารถสอบบรรจุหรือขอย้ายได้ เพราะไม่มีอัตราเงินเดือน
หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: