วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

มติบอร์ดคุรุสภาฟื้นเปิดสอน ป.บัณฑิต ชี้สอนเฉพาะในที่ตั้ง

มติบอร์ดคุรุสภาฟื้นเปิดสอน ป.บัณฑิต ชี้สอนเฉพาะในที่ตั้ง
          มติบอร์ดคุรุสภา ฟื้นหลักสูตรป.บัณฑิตอีกครั้งหลังจากสั่งยกเลิกไปแต่ปี 53 คาดเริ่มเปิดสอนได้อย่างช้าปี 57 พร้อมมอบคุรุสภา ไปทำหลักเกณฑ์แบบเข้มข้นและให้สอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น เน้นเปิดโอกาสครูจ้างสอน ในร.ร.ที่มีปัจจุบันมีอยู่ราว 6-7 หมื่นคนพร้อมย้ำตั๋วครูไม่ใช่ทางผ่าน
          วานนี้ (19 ก.ย.) นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ใหม่อีกครั้ง ภายหลังที่ได้มีการยกเลิกการจัดการสอนไปเมื่อปี 2553 เนื่องจากเกิดปัญหาว่าสถาบันไปจัดการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพและเกิดปัญหาซื้อขาย ป.บัณฑิตขึ้น ขณะเดียวกันการเปิดสอนก็ไปรับคนที่ไม่ได้เป็นครูมาเรียนซึ่งไม่เป็นไปตามที่คุรุสภากำหนด อย่างไรก็ตาม เหตุที่คณะกรรมการฯ มีมติให้สอน ป.บัณฑิต อีกครั้งเพราะขณะนี้มีความจำเป็นและต้องการเปิดโอกาสให้คนที่เป็นครูจ้างสอน ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6-7 หมื่นคน แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปวางหลักเกณฑ์และแบบประเมินการติดตามหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะควบคุมตั้งแต่หลักสูตร จำนวนผู้เรียน รายชื่อผู้เรียน รายชื่อผู้สอน เป็นต้น โดยจะต้องส่งมาให้คุรุสภาอนุญาตก่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ให้เสร็จสิ้นและเริ่มเปิดหลักสูตรป.บัณฑิตได้อีกครั้งอย่างช้าในปีการศึกษา 2557 นี้
          “สำหรับป.บัณฑิตที่จะเปิดใหม่นี้ จะเปิดให้เฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว เช่นครูอัตราจ้างในโรงเรียนต่าง ๆ แต่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้นไม่รับคนทั่วไป โดยจะต้องได้รับการรับรองจากสถานศึกษาว่า เป็นได้ทำการสอนจริง ๆ นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปิดสอนป.บัณฑิต โดยเห็นว่าที่ผ่านมาวิชาชีพครูค่อนข้างเป็นวิชาชีพที่มีความอะลุ่มอล่วย ทำให้หลายสถาบันจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ ดังนั้นอนาคตถ้าต้องการให้วิชาชีพครูมีคุณภาพจริง ๆ ต้องดูแลเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น ทั้งหลักสูตร จำนวนผู้เรียน คุณภาพผู้เรียน รวมถึงหลักเกณฑ์สำหรับสถาบันที่จะเปิดสอน ป.บัณฑิต ก็จะต้องเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนจะต้องมีตัวตนจริง ๆ จำนวนผู้สอนกับจำนวนนักศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และจะอนุญาตให้เปิดสอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น ไม่ให้เปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ” นายไพฑูรย์ กล่าว
          ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดการปลดล็อกใบประกอบวิชาชีพครูเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถในสาขาที่ขาดแคลน อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ สามารถเป็นครูได้นั้น นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า อาจจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะทุกวันนี้คุรุสภาก็เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบวิชาชีพทางการศึกษาสามารถเข้ามาเป็นครูได้อยู่แล้ว โดยมีหลักการว่าหากโรงเรียนต้องการจ้างคนที่จบสาขาเฉพาะทางที่ไม่ใช่วิชาชีพทางการศึกษามาเป็นครูก็สามารถจ้างได้ แต่ต้องขออนุญาตคุรุสภา ซึ่งก็มีเงื่อนไขว่าจะสามารถสอนได้เป็นเวลา 2 ปี โดยในระหว่างนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการของคุรุสภาซึ่งมีหลายช่องทางเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษา แต่หากยังไม่ได้ก็สามารถต่ออายุได้อีก 2 ปีเท่ากับว่ามีเวลาถึง 4 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนด 4 ปีแล้วยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพอีกก็ต้องออกจากวิชาชีพนี้ไป
          “ปัจจุบันมีครูที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่ถึง 6-7 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าคุรุสภาก็ไม่ได้ปิดกั้นให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นครู เพียงแต่คุรุสภาต้องการคนที่สนใจเข้ามาเป็นครูอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นเรื่องการปลดล็อกใบประกอบวิชาชีพครูไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือคนวิชาชีพอื่นมาอาศัยวิชาชีพครูเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครูไปสมัครเพื่อเรียนต่อ เช่นคนจบสายวิทยาศาสตร์มา แต่เรียนแค่พอผ่านจะทำงานสายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้จึงมาเป็นครูเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพไปใช้ประโยชน์อื่น ทั้งที่ จริงแล้วไม่ได้สนใจที่จะเป็นครูทำให้วิชาชีพครูถูกมองว่าเป็นวิชาชีพเผื่อเลือก เป็นอะไรไม่ได้ก็มาเป็นครู”นายไพฑูรย์ กล่าว

  • เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ.. 2556-2559)
    คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ..2556-2559) ตามมติคณะกรรมการสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ไปดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการ หรือนำแผนงานโครงการที่เป็นตัวอย่างไปดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติต่อไป
    สาระสำคัญของเรื่อง
    ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ.. 2556-2559) ได้ผ่านการพิจารณาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์แล้ว โดยเยาวสตรีในสถานศึกษา หมายถึง สตรีที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ประกอบด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่
    (1) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลในสถานศึกษา
    (2) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาในสถานศึกษา
    (3) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในสถานศึกษา
    (4) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทสามัญ ประเภทการอาชีวศึกษาในสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลาง หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปชั้นกลาง
    (5) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปะชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) และระดับปริญญาตรี
    (6) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี
    ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในการศึกษาทุกระดับการศึกษาที่เชื่อมโยงกับบทบาทสตรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพเยาวสตรี ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษานำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักภาพเยาวสตรีทั้งการพัฒนาเยาวสตรีทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การพัฒนาทักษะความรู้ด้านอาชีพ และศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการสร้างครอบครัวอบอุ่นและภูมิคุ้มกันตนเองจากภัยสังคมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ โดยมียุทธศาสตร์หลัก 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
    ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างภูมิปัญญา ทักษะชีวิต และค่านิยมสร้างสรรค์ ธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทางวัฒนธรรมของเยาวสตรีไทย
    ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต มีทักษะอาชีพ พื้นฐาน และศักภาพทางเศรษฐกิจของเยาวสตรี
    ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น เยาวสตรีมีภูมิคุ้มกันตนเองต่อภัยคุกคามของปัญหาสังคม

  • การพิจารณาแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สมศ.
  • ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ชุดใหม่ เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สมศ. ชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 4 ปีตามวาระแล้ว ตามที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เสนอ ดังนี้
    1. นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานกรรมการ
    2. นางเพ็ชรากรณ์ วัชรพล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    3. นายเลอศักดิ์ จุลเทศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    4. นางวัลลิยา ปังศรีวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    5. นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    6. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 เป็นต้นไป

    • แนวทางการจัดการศึกษาทางเลือก
    รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเรื่อง "การศึกษาทางเลือก" ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 49 วรรค 3 ที่กำหนดให้ "การจัดศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือองค์กรเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ" รวมทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 12 กำหนดให้ "นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"
     การดำเนินงานที่ผ่านมา ภายหลังจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ มีผลใช้บังคับ ศธ.ได้ออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว 5 ฉบับ เช่น การจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน เป็นต้น โดยมีภาคส่วนต่างๆ ได้จัดการศึกษาทางเลือกไปแล้ว อาทิ ภาคเอกชน  มีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท โรงเรียนเทคนิคยานยนต์โตโยต้า เป็นต้น - การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีครอบครัวที่จัดการศึกษา เรียกว่า บ้านเรียน โดยข้อมูลในปี พ.ศ.2555 มีจำนวนประมาณ 86 ครอบครัว
    ย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาทางเลือกมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งนโยบายในการส่งเสริมจึงต้องมีความแตกต่างกันในแต่ละรูปแบบ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะเชิญองค์กรที่จัดการศึกษาทางเลือกดังกล่าว มาหารือเพื่อจัดการศึกษาร่วมกันต่อไป
    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใย กรณีที่การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ได้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยกำชับให้กระทรวงศึกษาธิการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง ศธ.ได้เชิญเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เข้าร่วมประชุมในวันที่ 22 กันยายนนี้ด้วย เพื่อวางแผนปฏิรูปการศึกษาร่วมกันต่อไป
    ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: